ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้ป่วยที่ใช้ prednisolone นานๆแล้วบวมน้ำ ต้องทำการรักษาอย่างไร

ผู้ป่วยที่ใช้ prednisolone นานๆแล้วบวมน้ำ ต้องทำการรักษาอย่างไร

[รหัสคำถาม : 31] วันที่รับคำถาม : 20 ม.ค. 63 - 12:24:02 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Prednisolone เป็นยาในกลุ่ม Corticosteroids ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยข้อบ่งใช้ที่ FDA รับรองได้แก่ รักษาอาการแพ้ (Allergic condition), ภาวะอักเสบต่างๆ (inflammatory disorder) ที่เกี่ยวกับ ตา ระบบทางเดินอาหาร ผิวหนัง, หอบหืด (Asthma), ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis ), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Hodgkin’s, Non-Hodgkin’s lymphoma) (1) ส่วนข้อบ่งใช้ในประเทศไทย ได้แก่ โรคภูมิแพ้และอาการที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น ผื่นแพ้ผิวหนัง อาการภูมิแพ้ที่เกี่ยวกับตา ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ลำไส้อักเสบ (2)

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Prednisolone ได้แก่ ร่างกายมีภาวะบวมน้ำ (Body fluid retention, Edema) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) น้ำหนักขึ้น (weight gain) นอนไม่หลับ (insomnia) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia) กระดูกพรุน (Osteoporosis) โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) (2,3) การได้รับยาเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิด Cushing’s Syndrome ซึ่งมีลักษณะคือ ใบหน้ากลม (moon face) อ้วนกลางตัว (central obesity) ไขมันกระจายตัวมาบริเวณด้านหลังต้นคอ (buffalo hump) ขนดก (hirsutism) สิว (steroid acne) (4)

ภาวะบวมน้ำ (Fluid retention) เกิดจากการที่ยาทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย ซึ่งควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวคือหัวใจและไต แต่ในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว ภาวะบวมน้ำอาจไม่เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากร่างกายยังสามารถจัดการกับภาวะน้ำเกินได้ (4) ในการรักษาภาวะบวมน้ำทำได้โดยการจำกัดการได้รับปริมาณน้ำ โซเดียม หรืออาจให้ยาขับปัสสาวะ (5) ซึ่งมักให้ Furosemide 20-80 mg ครั้งเดียว (single dose) หากยังไม่ได้ผลในการขับปัสสาวะ อาจให้ในขนาดยาเดิมซ้ำ หรือ ปรับเพิ่มขนาดยาครั้งละ 20-40 mg ภายหลังจากการใช้ยาไปแล้ว 6-8 ชั่วโมง (6,7)

การใช้ยา Prednisolone ขนาดสูงหรือเป็นระยะเวลานานจะเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆได้มากขึ้น (8,9) ดังนั้นจึงควรประเมินความเหมาะสมของการใช้ยาโดย ควรใช้ยาในขนาดต่ำและระยะเวลาสั้น ที่สามารถให้ผลการรักษาโรคได้ (4) ในการหยุดใช้ยา Prednisolone โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับยานานกว่า 3 สัปดาห์ หรือได้รับยาในขนาดมากกว่า 20 mg/day ควรทำการลดขนาดยาอย่างช้าๆ (Tappering Regimen) โดยอัตราการลดขนาดยาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดยาในตอนเริ่มต้น ระยะเวลาในการรักษา อายุ โรคประจำตัว ซึ่งโดยทั่วไปจะค่อยๆลดขนาดยาครั้งละประมาณ 10-20 % ดังนี้ (10)
-ขนาดยาในตอนเริ่มต้น มากกว่า 40 mg/day ให้ลดขนาดยา 5 - 10 mg/day ทุก 1-2 weeks
-ขนาดยา 20 – 40 mg/day ให้ลดขนาดยา 5 mg/day ทุก 1-2 weeks
-ขนาดยา 10-20 mg/day ให้ลดขนาดยา 2.5 mg/day ทุก 2-3 weeks
-ขนาดยา 5 – 10 mg/day ให้ลดขนาดยา 1 mg/day ทุก 2-4 weeks
-ขนาดยาน้อยกว่า 5 mg/day ให้ลดขนาดยา 0.5 mg/day ทุก 2-4 weeks

ภาวะบวมน้ำจากการใช้ยา Prednisolone ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวคือหัวใจและไต แต่ในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว ภาวะบวมน้ำอาจไม่เป็นปัญหามากนัก ในการรักษาภาวะบวมน้ำทำได้โดยการจำกัดการได้รับปริมาณน้ำ โซเดียม หรืออาจให้ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมักให้ Furosemide 20-80 mg ครั้งเดียว (single dose) หากยังไม่ได้ผลในการขับปัสสาวะ อาจให้ในขนาดยาเดิมซ้ำ หรือ เพิ่มขนาดยาครั้งละ 20-40 mg ภายหลังจากการใช้ยาไปแล้ว 6-8 ชั่วโมง


เอกสารอ้างอิง
1. Prednisolone. In: DRUGDEX® system [database on the internet]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 2020 January 7]. Available from: https://www.micromedexsolutions.com
2. MIMS Thailand. Prednisolone. [database on the internet]. 2019. [cited 2020 January 7]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/prednisolone
3. Prednisolone. In: Lexicomp®. Post TW, ed. UpToDate. Waltham: Uptodate ; 2019. (Accessed on January 7, 2020)
4. Kenneth GS, Daniel EF. Major side effects of systemic glucocorticoids In: ®. Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. (Accessed on January 7, 2020)
5. Richard HS. General principles of the treatment of edema in adults In: ®. Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. (Accessed on January 14, 2020)
6. Furosemide. In: DRUGDEX® system [database on the internet]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 2020 January 14]. Available from: https://www.micromedexsolutions.com
7. Ramana PV, Susmitha S,Khan DA, Eshma SK, Yaseen S. A Case Report on Prednisolone Induced Pedal Edema. Indian Journal of Pharmacy Practice. 2018; 11(2):96-98.
8. Huscher D, Thiele K, Gromnica IE, Hein G, Demary W, Dreher R, et al. Dose-related patterns of glucocorticoid-induced side effects. Ann Rheum Dis. 2009 Jul;68(7):1119-24.
9. Wilson JC, Sarsour K, Gale S, Petho SA, Jick SS, Meier CR. Incidence and risk of glucocorticoid -associated adverse effects in patients with rheumatoid arthritis. Arthritis Care Res (Hoboken). 2019 Apr;71(4):498-511.
10. Daniel EF, Kenneth GS. Glucocorticoid withdrawal. In: ®. Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. (Accessed on January 11, 2020)




วันที่ตอบ : 20 ม.ค. 63 - 12:36:02




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110