ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กินยา isotrotinoin ต่อเนื่องนานๆมีผลทำให้หยุดสูงไหมครับ

กินยา isotrotinoin ต่อเนื่องนานๆมีผลทำให้หยุดสูงไหมครับ

[รหัสคำถาม : 429] วันที่รับคำถาม : 30 พ.ย. 65 - 14:54:17 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Isotretinoin (13-cis retinoic acid) เป็นยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ มีข้อบ่งใช้ในการรักษาสิวที่มีอาการรุนแรง โดยมีฤทธิ์ลดขนาดและการทำงานของต่อมไขมัน ลดการแบ่งตัวของเซลล์ไขมัน มีผลช่วยให้การสร้างสารเคอราตินบริเวณท่อต่อมไขมันกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่ก่อตัวเป็นหัวสิว[6] โดยขนาดยาที่แนะนำในการรักษาสิวอยู่ในช่วง 0.5 - 1 mg/kg/day นานเป็นเวลา 4 สัปดาห์[3]

ผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้จากการใช้ยา isotretinoin ได้แก่ ผิวหนังแห้ง ลอกและไวต่อแสง ตาแห้ง ปากคอแห้ง เกิดความบกพร่องในการได้ยิน เป็นพิษต่อตับ ไขมันในเลือดสูง ปวดกล้ามเนื้อ[7] เป็นต้น

โดยจากรายงาน (case report) ของชาย 16 ปี ใช้ isotretinoin ในการรักษาสิวเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยได้รับ isotretinoin ในขนาด 0.5 mg/kg เมื่อทำการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะเห็นถึงความผิดปกติของแผ่นสร้างกระดูก (epiphyseal plate) โดยเกิดการบาดเจ็บบริเวณแผ่นสร้างกระดูก (epiphyseal plate injury) ส่งผลทำให้แผ่นสร้างกระดูกปิดก่อนเวลาอันควร (premature epiphyseal closure)[5] เช่นเดียวกับรายงานการเกิดของชายอายุ 15 ปี มีสิวบนใบหน้าในระดับรุนแรง รักษาโดยใช้ accutane (isotretinoin) ขนาด 80 mg/day เป็นระยะเวลาประมาณ 4.5 เดือน เมื่อทำการถ่ายภาพรังสีที่หัวเข่า ผลปรากฏว่า เกิดภาวะแผ่นสร้างกระดูกปิดก่อนเวลาอันควร (premature epiphyseal closure) และพบว่ามีการหยุดการเจริญเติบโตทางด้านความสูง[6] รวมทั้งรายงานในชายอายุ 14 ปี เกิดภาวะแผ่นสร้างกระดูกปิดก่อนเวลาอันควร (premature epiphyseal closure) ในระหว่างการใช้ isotretinoin เพื่อรักษาสิวแบบตุ่มหนอง (pustular cystic acne) โดยใช้เป็นระยะเวลานาน 6 เดือน ในขนาด 0.75 mg/kg/day[8]

จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่าผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่ได้รับ isotretinoin ในขนาดต่างๆและใช้ในระยะเวลาที่ต่างกัน จะมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของแผ่นสร้างกระดูก (epiphyseal plate) ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดแผ่นสร้างกระดูกปิดก่อนเวลาอันควร (premature epiphyseal closure) โดยเคยมีรายงานการเกิดในผู้ป่วย 9 รายจากทั้งหมด 41 ราย ที่ได้รับ isotretinoin ในขนาดเริ่มต้น 0.5 mg/kg/day เป็นระยะเวลา 2-3 เดือน จนถึงขนาด 3.5 mg/kg/day เป็นระยะเวลา 1 ปี อาจเป็นไปได้ว่าการใช้ยา isotretinoin ต่อเนื่องในระยะเวลานาน อาจมีผลข้างเคียงทำให้หยุดสูง[4]

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่าง isotretinoin กับการทำให้หยุดสูงในวัยรุ่น แต่หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังและต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. Roche Laboratories. ACCUTANE® (isotretinoin capsules) [อินเทอร์เน็ต]. New Jersey: 2010 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565].
เข้าถึงได้จาก: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/018662s060lbl.pdf.
[2]. DiGiovanna JJ. Isotretinoin effects on bone. JAAD international 2001;45:S176-182.
[3]. Isotretinoin. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 5 Nov. 2022; cited 25 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com
[4]. Alazawi S, Hendriksz T. Analysis of the effects of isotretinoin on the premature epiphyseal closure in pediatric populations: a literature review. J. Osteopath Med. 2022;122(1):45–53.
[5]. Luthi F, Eggel Y, Theumann N. Premature epiphyseal closure in an adolescent treated by retinoids for acne: An unusual cause of anterior knee pain. Jt. Bone Spine 2012;3:314-316.
[6]. Tran A. Premature epiphyseal closure in pediatric patients on isotretinoin therapy. J. Am. Acad. Dermatol 2008;2:AB7.
[7]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ยารักษาสิว isotretinoin ที่ไม่ใช่แค่เรื่องสิวสิว [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/1621.
[8]. Steele RG, Lugg P, Richardson M. Premature epiphyseal closure secondary to single-course vitamin A therapy. Aust N Z J Surg 1999;69(11):825-827.

วันที่ตอบ : 02 ธ.ค. 65 - 23:24:48




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110