ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ถ้าคนไข้เหยียบเศษไข่แล้วเป็นแผลที่เท้า ควรพิจารณาให้ antibiotics เป็น amoxicilli

ถ้าคนไข้เหยียบเศษไข่แล้วเป็นแผลที่เท้า ควรพิจารณาให้ antibiotics เป็น amoxicillin 500mg 1*3 3-5วัน หรือ dicloxacillin 250mg 1*4 2 วัน เพื่อ prophylaxis คะ

[รหัสคำถาม : 101] วันที่รับคำถาม : 23 พ.ค. 63 - 23:17:46 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่และขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย โดยมีน้ำหนักประมาณ 16% ของน้ำหนักตัว เป็นอวัยวะที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันของร่างกาย มีคุณสมบัติหลายประการที่ป้องกันเชื้อต่างๆเข้ามาทำให้เกิดโรค เช่น น้ำมันจากต่อมไขมัน แบคทีเรียประจำถิ่นบนผิวหนัง (normal skin flora) ความเป็นกรดด่างของผิวหนังและผิวหนังชั้นหนังกำพร้าที่เป็นปกติ เป็นต้น แต่หากมีการเสียสมดุลของคุณสมบัติเหล่านี้หรือมีแผลเกิดขึ้นอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ โดยหากเกิดแผลบนผิวหนังแบคทีเรียที่มักก่อให้เกิดการติดเชื้อ คือ Enterobacteriaceae ร้อยละ 34.8, Staphylococcus aureus ร้อยละ 21.8, Streptococcus spp ร้อยละ 8.7 และเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน ร้อยละ 10.3[1,2]
การเหยียบเศษไข่แล้วเป็นแผลที่เท้า เป็นบาดแผลที่ถูกกระทําด้วยของแหลมคม ซึ่งปัจจุบัน ยังมีข้อมูลน้อยในการแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มที่เสี่ยงสูง เช่น บาดแผลมีการปนเปื้อน (อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำสกปก เศษอาหาร) ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น[3] การเหยียบเศษไข่แล้วทำให้เกิดแผลที่เท้า นับเป็นบาดแผลที่มีการปนเปื้อน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ยาที่แนะนำให้เลือกใช้ คือ
1. Amoxicillin/clavulanate ซึ่งเป็นยาที่สามารถครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการติดเชื้อได้[4]
เด็ก: Amoxicillin/clavulanate (คำนวณจาก Amoxicillin) ขนาด 25-50 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร นาน 2 วัน
ผู้ใหญ่: Amoxicillin/clavulanate ขนาด 625 mg วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร นาน 2 วัน[5,6,7]
2. Cephalexin ขนาด 500 mg วันละ 4 ครั้ง นาน 2 วัน ซึ่งมีการศึกษารองรับชัดเจนในการใช้ Cephalexin เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่บาดแผลปนเปื้อน[8]
ในกรณีที่แพ้ penicillin แนะนำให้ใช้
1. เด็ก: Cotrimoxazole (คำนวณจาก Trimethoprim) ขนาด 8-10 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง นาน 2 วัน ร่วมกับ Clindamycin ขนาด 10-25 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง นาน 2 วัน หรือให้ร่วมกับ Metronidazole ขนาด 20-30 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง นาน 2 วัน
2. ผู้ใหญ่: Ciprofloxacin ขนาด 500 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 2 วัน ร่วมกับ Clindamycin ขนาด 300 mg วันละ 3 ครั้ง นาน 2 วัน หรือให้ร่วมกับ Metronidazole ขนาด 400-500 mg วันละ 3 ครั้ง นาน 2 วัน[5,6,7]
ทั้งนี้อาจพิจารณาให้ยาฉีดป้องกันบาดทะยักร่วมด้วย และแนะนำให้นำสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ 0.9 % หรือน้ำประปาที่ระบุว่าเป็นน้ำสะอาดสามารถดื่มได้ โดยใช้กระบอกฉีดยาขนาด 20-40 ซีซี ฉีดน้ำเกลือเพื่อชะล้างบาดแผลให้ทั่วถึง และไม่จำเป็นต้องทายาฆ่าเชื้อใดๆลงในบาดแผล เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่าไม่มีประโยชน์ และอาจทำลายเนื้อเยื่อในบาดแผลให้หายช้าลงได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำเป็นเวลา 3-7 วัน และแนะนำให้กลับมาทำแผลที่โรงพยาบาลทุกวันพร้อมทั้งสังเกตอาการอักเสบของแผล เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณแผล เป็นต้น[9]
จากข้อมูลที่ค้นได้ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนในการใช้ Dicloxacillin และ Amoxicillin การใช้เป็นยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากบาดแผลปนเปื้อนในปัจจุบัน แต่สามารถใช้ Dicloxacillin หรือ Cloxacillin เพื่อใช้รักษาแผลติดเชื้อได้ โดยขนาดที่แนะนำให้ใช้ คือ
1. เด็ก: Dicloxacillin ขนาด 25-50 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ขณะท้องว่าง นาน 5-7 วัน
ผู้ใหญ่: Dicloxacillin ขนาด 250-500 mg วันละ 4 ครั้ง ขณะท้องว่าง ในผู้ใหญ่ นาน 5-7 วัน[5]
2. เด็ก: Cloxacillin ขนาด 12.5-25 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ขณะท้องว่าง นาน 5-7 วัน
ผู้ใหญ่: Cloxacillin ขนาด 250-500 mg วันละ 4 ครั้ง ขณะท้องว่าง ในผู้ใหญ่ นาน 5-7 วัน[10]
ดังนั้นหากต้องการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากบาดแผลปนเปื้อนควรเลือกใช้ยาต่อไปนี้ คือ
1. Amoxicillin/clavulanate
เด็ก: Amoxicillin/clavulanate (คำนวณจาก Amoxicillin) ขนาด 25-50 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร นาน 2 วัน
ผู้ใหญ่: Amoxicillin/clavulanate ขนาด 625 mg วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร นาน 2 วัน
2. Cephalexin ขนาด 500 mg วันละ 4 ครั้ง นาน 2 วัน
และไม่แนะนำให้ใช้ Dicloxacillin หรือ Amoxicillin สำหรับใช้ป้องกันการติดเชื้อจากบาดแผลปนเปื้อน แต่จะสามารถใช้ Dicloxacillin หรือ Cloxacillin เพื่อรักษาแผลติดเชื้อได้

เอกสารอ้างอิง
[1]. Baron S. Medical Microbiology [Internet]. 4th edition. Galveston: 1996; 2563 [cited 2021 Nov 10]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK7617/
[2]. มาลี โรจน์พิบูลสถิตย์ และคณะ. RDU PHARMACY EAGLE [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pharmacy.psu.ac.th/images/rdu-eagle2018.pdf
[3]. Lexicomp, Inc. Infectious complication of puncture wounds. In:Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2021 (Accessed on November 10, 2021)
[4]. Veeraraghavan, B., Bakthavatchalam, Y.D. & Sahni, R.D. Orally Administered Amoxicillin/Clavulanate: Current Role in Outpatient Therapy. Infect Dis Ther 10, 15–25 (2021).
[5]. วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์. การใช้ยาสมเหตุผลในร้านยา Rational Drug Use in Community Pharmacy: RDU Pharmacy [อินเทอร์เน็ต]. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/archives_file/20191011103233.pdf
[6]. ชัยรัตน์ฉายากุล และคณะ. คู่มือการดำเนินงานโครงการ โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล [อินเทอร์เน็ต]. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2558 [เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.hsri.or.th/sites/default/files/attachment/RDU%20Book.pdf
[7]. วิษณุ ธรรมลิขิตกุล และคณะ. การควบคุมและป้องกันแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล [อินเทอร์เน็ต]. 2558 [เข้าถึงเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: file:///C:/Users/USER/Downloads/book2.pdf
[8]. Ghafouri HB, Bagheri-Behzad B, Yasinzadeh MR, Modirian E, Divsalar D, Farahmand S. Prophylactic Antibiotic Therapy in Contaminated Traumatic Wounds: Two Days versus Five Days Treatment. Bioimpacts. 2012;2(1):33-7.
[9]. พิสนธ์ จงตระกูล และคณะ. แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล [อินเทอร์เน็ต]. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักยา สำนักกรรมการอาหารและยา; 2554 [เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pknhospital.com/2019/data/starRPST/drug/aenwthaangkaaraichyaaptichiiwnayaangsmehtuphl_1-32.pdf
[10]. Lexicomp, Inc. Cloxacillin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2021 (Accessed on November 17, 2021)

วันที่ตอบ : 24 พ.ย. 64 - 12:50:10




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110