ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หากผู้ป่วยมีอาการผิวหนังอักเสบ และทา Triamcinolone Acetonide 0.1% lotion ติต่อกั

หากผู้ป่วยมีอาการผิวหนังอักเสบ และทา Triamcinolone Acetonide 0.1% lotion ติต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจากผู้ป่วยแจ้งว่ามีอาการคันมาก มีแนวทางการแก้ไขอย่างไรบ้างคะ การใช้ emolient จะลดความถี่ในการกำเริบได้มากน้อยแค่ไหนคะ และ การเปลี่ยนสลับการใช้ steroid topical ไปเป็น calcineurin inhibitors topical จะปรับช่วงเวลาในการใช้ยาได้อย่างไรคะ

[รหัสคำถาม : 103] วันที่รับคำถาม : 01 มิ.ย. 63 - 12:18:23 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผิวหนังอักเสบ(Dermatitis) เป็นภาวะที่มีการระคายเคืองของผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการคันมาก ผิวแห้ง ผื่นนูนแดง อาจมีตุ่มน้ำ น้ำเหลืองซึม ตกสะเก็ดหรือผิวหนังหลุดลอกได้[1] โดยโรคนี้มี 3 ระยะ คือ ระยะเฉียบพลัน มีอาการผิวหนังแดง ผื่นนูน หรืออาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ระยะกึ่งเฉียบพลัน มีอาการตกสะเก็ดของผิวร่วมกับผิวหนังแดง และระยะเรื้อรัง มีอาการผิวแห้ง สะเก็ดหนา[2]
ผิวหนังอักเสบแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis หรือ eczema) สาเหตุหลักเกิดจากโครงสร้างทางกายภาพของผิวหนังที่มีบทบาทในการป้องกันความเสียหายให้ผิวหนังสูญเสียหน้าที่ไป และปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ส่งผลให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง ผู้ป่วยโรคนี้อาจมีโรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และการแพ้อาหาร ร่วมด้วย มักเจอโรคนี้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นได้อีกตลอดชีวิต[2] หากเป็นในเด็กผื่นจะกระจายตามใบหน้า ซอกคอ และด้านนอกของแขนขา (extensor involvement) แต่หากเป็นในผู้ใหญ่มักกระจายตามข้อพับแขนขา ข้อมือ หัวเข่า คอ และหน้าอก [3]
2. โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคือง (Irritant contact dermatitis) มีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับสารเคมีหรือปัจจัยอื่นที่เป็นพิษต่อผิวหนัง โดยมักเกิดในผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ศิลปะ และบริการด้านอาหาร อาการแย่ลงได้จากการสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคือง มักเจอรอยโรคบริเวณมือและหน้า โดยเกิดทันทีภายใน 8-24 ชั่วโมงหลังการสัมผัสสาร[2]
3. โรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้สารบางชนิด (Allergic contact dermatitis) เป็นปฏิกิริยาการแพ้ผ่านระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงเกิดหลังการสัมผัสสารก่อแพ้ 24-72 ชั่วโมงและไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดกับใคร มักมีเกิดรอยโรคบริเวณที่สัมผัสสารก่อแพ้ เช่น ปฏิกิริยาการแพ้นิกเกิลจากสร้อยคอหรือเข็มขัด นอกจากนี้ยังพบสารก่อแพ้อื่นๆ เช่น ซัลเฟต น้ำหอม กระดาษชำระ โคบอลคลอไรด์ ครีมกันแดดและยาปฏิชีวนะเช่น neomycin bacitracin [2]
การรักษาผิวหนังอักเสบมีดังนี้
1. การให้ความรู้กับผู้ป่วยเพื่อค้นหาสิ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อพบปัจจัยดังกล่าวแล้วควรหลีกเลี่ยงปัจจัยนั้นที่จะส่งผลให้เกิดอาการกำเริบขึ้น จัดการสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังสูญเสียโครงสร้างการป้องกัน[2]
2. การให้สารความชุ่มชื้น เพื่อลดความรุนแรงได้แก่ ลดอาการแห้ง คัน แดง แตกและการหนาตัวของผิวหนัง สารให้ความชุ่มชื้นจะมีประโยชน์ในการยืดระยะเวลาและลดความถี่ของการกำเริบของโรค[2]
3. การรักษาด้วยยา ได้แก่ ยาทาสเตียรอยด์และยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor โดยพบว่ายาทาสเตียรอยด์มีประสิทธิภาพชัดเจนในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และควรเลี่ยงการใช้ยาทาสเตียรอยด์ที่มีความเข้มข้นสูงบริเวณใบหน้า ข้อพับ เปลือกตาและอวัยวะเพศเพราะอาจทำให้ผิวบางลงได้ หากใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้ผิวแตกลายและผิวแดงผิดปกติ ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานจะใช้ในกรณีที่มีผื่นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกายเท่านั้นและไม่แนะนำให้ใช้เป็นเวลานาน[2]
สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิวหนังอักเสบและทา triamcinolone acetonide 0.1% lotion ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3 ปี แต่ยังไม่หายและอยากทราบวิธีการรักษาด้วยวิธีอื่น จะไม่สามารถตอบได้อย่างเฉพาะเจาะจงเนื่องจากการวินิจฉัยโรคว่าเป็นผิวหนังอักเสบหรือไม่ ต้องพิจารณารอยโรค อาการและประวัติอื่นๆของผู้ป่วยร่วมด้วย และการรักษาที่สำคัญของผิวหนังอักเสบคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น การใช้ยาเป็นเพียงการบรรเทาอาการและประคับประคองไม่ให้เกิดการกำเริบขึ้นเท่านั้น[2] ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยค้นหาปัจจัยกระตุ้นหรือพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin test) ซึ่งจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือกำจัดที่สาเหตุของโรคได้ [2]

เอกสารอ้างอิง
1. Mayo clinic. Dermatitis [internet]. Arizona: Mayo clunic; 2020 [cited 2020 June 18]. Available from: https://www.mayoclinic.org/about-mayo-clinic/contact
2. Woo TE, Somayaji R, Haber RM, Parsons L. Scratching the surface: a review of dermatitis. Advances in skin & wound care [internet]. 2019 [cited 18 June 2020]; 32:542-49. Available from: https://journals.lww.com/aswcjournal/Fulltext/2019/12000/Scratching_the_Surface__A_Review_of_Dermatitis.6.aspx
3. ปกิต วิชยานนท์, เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม, จรุงจิตร์ งามไพบูลย์. แนวทางการดูแลรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(Atopic Dermatitis) [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย; 2563 [เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161130142020.pdf
วันที่ตอบ : 04 เม.ย. 64 - 14:19:15




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110