ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ลูกค้ากินยาคุม Yaz เพื่อรักษาอาการ PMDD แต่กินยาไป 2-3 เดือนพบว่ามีอาการข้างเคีย

ลูกค้ากินยาคุม Yaz เพื่อรักษาอาการ PMDD แต่กินยาไป 2-3 เดือนพบว่ามีอาการข้างเคียง คืออารมณ์ทางเพศหาย อยากทราบว่าอาการนี้จะดีขึ้นเมื่อกินยาไปเรื่อยๆหรือไม่คะ หากดีขึ้น ต้องกินต่อไปนานอีกกี่เดือนคะ แล้วถ้าอาการไม่ดีขึ้น จะสามารถเปลี่ยนเป็นยาคุม yasmin ได้ไหมคะ S/E เรื่องอารมณ์ทางเพศหาย จะดีขึ้นหรือไม่คะ

[รหัสคำถาม : 104] วันที่รับคำถาม : 08 มิ.ย. 63 - 16:49:47 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน คุมกำเนิดโดยการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนตามปกติของร่างกาย จึงมีผลยับยั้งการตกไข่ ซึ่งจากการออกฤทธิ์ของยาคุมดังกล่าวจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และแอนโดรเจนในร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่าง
ผลข้างเคียงด้านความต้องการทางเพศจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม เมื่อพิจารณาตามทฤษฎีจากกลไกการทำงานของยาคุมกำเนิดดังที่กล่าวข้างต้น ที่ลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และแอนโดรเจนในร่างกายลง ก็อาจจะส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศของผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมได้ แต่การค้นข้อมูลทางคลินิกในผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมพบว่าหลายการศึกษาให้ผลไม่สอดคล้องกัน บางการศึกษาติดตามผู้หญิงประมาณ 200-500 คน พบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมทำให้ลดความสนใจในเรื่องเพศสัมพันธ์ และลดจำนวนวันที่มีเพศสัมพันธ์ ขณะที่การศึกษาที่รวบรวมข้อมูลจากผู้หญิงมากกว่า 13,000 คนพบว่ายาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 20 – 35 ไมโครกรัม/เม็ดไม่มีผลต่อความต้องการทางเพศ แต่ฮอร์โมนเอสโตรเจน 15 ไมโครกรัม/เม็ดอาจจะมีผลลดความต้องการทางเพศ ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ triphasic (แต่ละเม็ดมีฮอร์โมนแตกต่างกันเพื่อเลียนแบบฮอร์โมนในร่างกาย) ไม่มีผลลดความต้องการทางเพศ ซึ่งข้อจำกัดเกี่ยวกับการศึกษาผลของยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมต่อความต้องการทางเพศนี้อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่อาจส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศได้ เช่น สิ่งแวดล้อม ความเครียด ความกังวล ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก
หากผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมเกิดอาการข้างเคียงด้านความต้องการทางเพศที่ลดลงจากยา (ไม่มีสาเหตุอื่นๆ นอกจากยา) อาจพิจารณาเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมที่ประกอบด้วยตัวยา levonorgestrel, gestodene หรือ drospirenone หรือพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบยาเป็นชนิดอื่นที่ไม่ใช่ยารับประทาน และหากข้อบ่งใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมเพื่อการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนยา
เอกสารอ้างอิง
1. Burrows LJ, Basha M, Goldstein AT. The Effects of Hormonal Contraceptives on Female Sexuality: A Review. J Sex Med. 2012; 9: 2213–23
2. Pastor Z, Holla K, Chmel R. The influence of combined oral contraceptives on female sexual desire: A systematic review. The European Journal of Contraception and Reproductive Health Care, 2013; 18: 27–43
3. Coelho FC, Barros C. The Potential of Hormonal Contraception to Influence Female Sexuality. Int J Reprod Med. 2019; 2019
4. Casado-Espada NM, Alarcón R, Iglesia-Larrad JI, et al. Hormonal Contraceptives, Female Sexual Dysfunction, and Managing Strategies: A Review. J. Clin. Med. 2019; 8: 908

วันที่ตอบ : 23 ส.ค. 63 - 15:56:04




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110