ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หากผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิดตอนกลางคืน ในตอนเช้าผู้ป่วยท้องเสีย ต้อ

หากผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิดตอนกลางคืน ในตอนเช้าผู้ป่วยท้องเสีย ต้องการจะรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ท้องเสียจะลดประสิทธิภาพยาคุมฉุกเฉินหรือไม่ และจะมีแนวทางการใช้ยาอย่างไร

[รหัสคำถาม : 111] วันที่รับคำถาม : 27 มิ.ย. 63 - 19:24:07 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ท้องเสีย คือ การเพิ่มความถี่และลดความเหนียวของอุจจาระเมื่อเทียบกับอุจจาระในสภาวะ
ปกติ เกิดจากการดูดกลับและขับออกของน้ำและสารอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุลกัน โดยมีกลไก 3 แบบ ได้แก่[1]
1) การเปลี่ยนแปลงของ active ion transport โดยการลดการดูดซึมโซเดียมหรือเพิ่มการขับออกคลอไรด์[1]
2) ลำไส้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป[1]
3) การเพิ่มขึ้นของออสโมลาริตีในท่อทางเดินอาหาร[1]
4) การเพิ่มความดันอุทกสถิต (hydrostatic pressure) ในเนื้อเยื่อ[1]
การคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นวิธีการที่ใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยวิธีการและระยะเวลาที่ต่างกันส่งผลให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดฉุกเฉินแต่ละวิธีต่างกัน การคุมกำเนิดฉุกเฉินมีทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่[2]
1) อุปกรณ์สำหรับใส่ในมดลูก ได้แก่ ห่วงอนามัยชนิดทองแดง (Cu-IPD)[2]
2) ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraceptive pills)[2] จะรบกวนเวลาของการตกไข่หรือป้องกันการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิ[3] ได้แก่
- ยา Ulipristal ขนาด 30 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว[2]
- ยาฮอร์โมน Levonorgestrel ขนาด 1.5 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว หรือ 0.75 มิลลิกรัม รับประทาน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด[2]
- ฮอร์โมนรวม estrogen และ progestin[2]
จากการศึกษาโดยมีการควบคุมแบบเข้มงวดแสดงให้เห็นว่ายา ulipristal acetate ชนิดรับประทานและยา levonorgestrel สูตรยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีผลป้องกันการตกไข่ หากรับประทานยาในช่วงก่อนการตกไข่โดยการยับยั้งฮอร์โมน LH ส่วนยา ulipristal acetate จะยืดเวลาของการตกไข่ ทั้งในช่วงก่อนและหลังที่มีการหลั่งฮอร์โมน LH ทำให้ยา ulipristal acetate มีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์ดีกว่ายา levonorgestrel แต่ยาทั้ง 2 ชนิดไม่มีผลต่อการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ[3] การรับประทานยา Uripristal และ levonorgestrel มีผลข้างเคียงทำให้อาเจียนได้น้อยกว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม โดยหากมีการอาเจียนภายใน 3 ชั่วโมง หลังรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ให้รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซ้ำให้เร็วที่สุดที่เป็นไปได้ และอาจมีการใช้ยาต้านอาเจียนร่วมด้วย[2] ยา Ulipristal ที่มีในประเทศไทย เป็นยาเม็ดขนาด 5 มิลลิกรัม มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคเนื้องอกในมดลูก (uterine fibroid) ที่มีความรุนแรงปานกลางถึงสูง ก่อนการผ่าตัด หรือใช้ระยะเวลาหนึ่งในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ที่เป็นโรคเนื้องอกในมดลูกและไม่สามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัดได้[4] ยา levonorgestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัม หากบริหารด้วยการรับประทาน จะถูกดูดซึมในทางเดินอาหารได้ 100% และยาจะมีความเข้มข้นสูงสุดในกระแสเลือดภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา (ในคนที่มีดัชนีมวลกายปกติ)[5]
การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและปกปิดการรักษา (randomization control trial) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาคุมฉุกเฉิน 2 แนวทางการบริหารในสตรีชาวไนจีเรีย โดยทำการสุ่มแบ่งกลุ่มอาสาสมัครที่มีประวัติการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 วัน จำนวน 2,823 คน ให้ได้รับยา levonorgestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัม 1 เม็ดและยาหลอก 1 เม็ด และรับประทานยาอีก 1 เม็ดใน 12 ชั่วโมงต่อมา ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับการรับประทานยา levonorgestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัม 2 เม็ด และรับประทานยาหลอกใน 12 ชั่วโมงต่อมา ผลการศึกษาพบว่า เกิดการตั้งครรภ์ 0.57% และ 0.64% ในสตรีกลุ่มที่รับประทานยา 2 ครั้งและ 1 ครั้งตามลำดับ โดยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น 2.3% และ 0.4% เมื่อรับประทานยาหลังการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันมากกว่า 72 ชั่วโมง และภายใน 72 ชั่วโมง ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่า การรับประทานยาคุมฉุกเฉินที่มีตัวยา levonorgestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัมต่อเม็ดแบบครั้งเดียว มีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่าการรับประทานยาแบบ 2 ครั้ง[6] ดังนั้นการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มี levonorgestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัมต่อเม็ดหรือ 1.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด สามารถใช้ได้ในทุกช่วงเวลาของรอบเดือน โดยมีวิธีรับประทาน 2 แบบ ได้แก่
1) รับประทาน 2 ครั้ง : รับประทานยา levonorgestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัมต่อเม็ด 1 เม็ด ทันทีที่เป็นไปได้ภายใน 72 ชั่วโมง นับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และ 12 ชั่วโมง ต่อมาจึงรับประทานยาเม็ดที่ 2
2) รับประทานครั้งเดียว : รับประทานยา levonorgestrel ขนาด 1.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด 1 เม็ด ทันทีที่เป็นไปได้ภายใน 72 ชั่วโมง นับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
และหากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา levonorgestrel เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน ให้รับประทานยาซ้ำ[7] แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าหากมีอาการท้องเสียจะมีแนวทางการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอย่างไรมีเพียงคำแนะนำสำหรับกรณีที่มีการอาเจียนหรือท้องเสีย ในขณะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ดังนี้
1) อาเจียนหรือท้องเสีย ภายใน 24 ชั่วโมง หลังรับประทานยา ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาซ้ำ และรับประทานยาเม็ดต่อไปตามเวลาปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม หรือรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน[8]
2) อาเจียนหรือท้องเสีย หลังรับประทานยาคุมกำเนิด 24 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาซ้ำ และรับประทานเม็ดต่อไปตามเวลาปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม หรือรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน[8]
3) อาเจียนหรือท้องเสีย เป็นระยะเวลา มากกว่า 48 ชั่วโมง หลังรับประทานยา ให้รับประทานยาเม็ดต่อไปตามเวลาปกติ และใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยหรือเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนไม่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย และรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันครบ 7 วัน นับแต่วันที่ไม่มีอาการ[8]
- ถ้าอาเจียนหรือท้องเสียในสัปดาห์สุดท้ายของการรับประทานยาคุมกำเนิด (ท้องเสียในขณะที่รับประทานเม็ดที่ 15-21 ของยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ด) ให้ข้ามการรับประทานเม็ดแป้งและเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันถัดมาทันที[8]
- ถ้าไม่สามารถเริ่มแผงใหม่ได้ในทันที ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยหรือเลี่ยงการมีเพศสสัมพันธ์จนกระทั่งรับประทานยาแผงใหม่ไปแล้วครบ 7 วัน[8]
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน สามาถใช้ได้หากมีการอาเจียนหรือท้องเสียในช่วง 7 วันแรกของการรัยประทานยาแผงใหม่ และมีเพศสสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันใน 5 วันที่ผ่านมา[8]
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถใช้ได้ทุกช่วงเวลาขึ้นกับความเหมาะสม[8]

เอกสารอ้างอิง
1. Dipiro JT, Schwinghammer TL. Pharmacotherapy Handbook [internet]. 9th. New York: Mc Graw Hill; 2015 [cited 2020 July 15]. Available from: https://muhammaddian.files.wordpress.com/2016/03/pharmacotherapy-handbook-9th-edition.pdf
2. Centers for disease Control and Prevention. Emergency Contraception [internet]. 2018 [cited 2020 July 16]. Available from: https://www.cdc.gov/reproductivehealth/contraception/mmwr/spr/emergency.html
3. Turok D, Schreiber CA, Eckler K. Emergency contraception. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2020. (Accessed on July 19, 2020)
4. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. เอกสารกำกับยาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ [อินเทอร์เน็ต]. 2018 [เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/drug_detail_corporation/doc/word/805/477e149e0295eb3596de63d5cfcaa04d-a1.pdf
5. National Center for Biotechnology Information. Levonorgestrel [internet]. [cited 2020 July 18]. Available from: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Levonorgestrel
6. Dada OA, Godfrey EM, Piaggio G, Hertzen HV. A randomized, double-blind, noninferiority study to compare two regimens of levonorgestrel for emergency contraception in Nigeria. Contraception [internet]. 2010 [cited 2020 July 17]; 82:373-8. Available from: https://www.clinicalkey.com/service/content/pdf/watermarked/1-s2.0-S0010782410003574.pdf?locale=en_US&searchIndex=
7. Levonorgestrel (Systemic) [internet]. [cited 2020 July 18]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/5873183?cesid=7BolgsbGyt4&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dlevonorgestrel%26t%3Dname%26va%3Dlevonorgestrel#aor
8. Centers for disease Control and Prevention. Combined Hormonal Contraceptives [internet]. 2017 [cited 2020 July 16]. Available from: https://www.cdc.gov/reproductivehealth/contraception/mmwr/spr/combined.html#fig5
วันที่ตอบ : 04 เม.ย. 64 - 14:25:09




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110