ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้ป่วยไมเกรนมีภาวะ medication overuse headache จาก ergotamine เนื่องจากกิน ergo

ผู้ป่วยไมเกรนมีภาวะ medication overuse headache จาก ergotamine เนื่องจากกิน ergotamine 1 เม็ด/วัน ทุกวันเป็นเวลา 1 ปี จึงให้ยา amitryptyline เพื่อป้องกันไมเกรน โดยค่อยๆเพิ่มขนาดยาซึ่งตอนนี้ขนาดยาอยู่ที่ 30 mg/day แต่ผู้ป่วยยังคงกิน ergotamine อยู่วันละเม็ดทุกวัน และล่าสุดผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดหัว และใจสั่น วัดความดันได้ 125/84 mmhg และ heart rate 80 ครั้ง/นาที ล่าสุดจึงปรับให้ long-half life NSAIDS (piroxicam 20 mg/day) ลด amitryptyline เป็น 20 mg/day เพิ่ม magnesium 400 mg/day และให้ผู้ป่วยลองหยุด ergotamine และให้ติดตามอาการ จึงอยากทราบว่าจะสามารถ monitor serotonin syndrome ได้อย่างไร และมีการปรับแนวทางการรักษาอย่างไรได้บ้างคะ

[รหัสคำถาม : 113] วันที่รับคำถาม : 01 ก.ค. 63 - 18:03:24 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Serotonin syndrome เป็นภาวะที่เพิ่มขึ้นของ serotonergic activity ในระบบประสาทส่วนกลาง สาเหตุอาจเกิดจากการใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับ serotonin ในระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) เช่น fluoxetine, sertraline เป็นต้น ยากลุ่ม Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) เช่น venlafaxine, duloxetine เป็นต้น ยากลุ่ม Tricyclic antidepressants (TCAs) เช่น amitriptyline, nortriptyline เป็นต้น ยากลุ่ม Monoamine oxidase Inhibitors (MAOIs) เช่น selegiline, phenelzine เป็นต้น และยากลุ่ม Serotonin-releasing agents เช่น chlorphentermine, fenfluramine เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเกิดจากอันตรกิริยาระหว่างยา เช่น การใช้ serotonergic agents ร่วมกับ ergot derivatives หรือการใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs, SNRIs, TCAs และ MAOIs เป็นต้น[1-3] ซึ่งยา amitriptyline สามารถเพิ่มระดับ serotonin ในระบบประสาทส่วนกลางผ่านกลไกยับยั้งการดูดกลับ serotonin ที่ presynaptic neuronal membrane pump[4] และการใช้ยา amitriptyline ร่วมกับยา ergotamine จะทำให้ผล serotonergic activity เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ergotamine ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นตัวรับ serotonin ทำให้เพิ่มระดับ serotonin ในระบบประสาทส่วนกลางได้เช่นกัน[5]
อาการของ Serotonin syndrome มักจะถูกอธิบายด้วยกลุ่มอาการทางคลินิก 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ neuromuscular hyperactivity, autonomic instability และ mental status changes โดยสามารถติดตามได้จากอาการแสดงทางคลินิก เช่น tremor, anxiety, agitation เป็นต้น รวมถึงติดตามความดันโลหิต (มากกว่า 150/110 mmHg หรือน้อยกว่า 90/60 mmHg) อัตราการเต้นของหัวใจ (มากกว่า 100ครั้ง/นาที) และอุณหภูมิร่างกาย (มากกว่า 38 oC)[1-3] Serotonin syndrome สามารถแบ่งระดับความรุนแรงตามอาการออกเป็น 3 ระดับ คือ mild, moderate และ severe toxicity ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่แตกต่างกันตามระดับความรุนแรง เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นไม่จำเป็นต้องมีการตรวจติดตามใด ๆ ยกเว้นกรณีที่มีการกลับมาใช้ serotonergic agent ใหม่อีกครั้ง จะต้องติดตามความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกายหรืออาการแสดงทางคลินิก[3]
แนวทางการรักษาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคไมเกรนโดย American Academy of Family Physicians แนะนำให้เลือกใช้ยากลุ่ม first-line agents เป็นอันดับแรกในการรักษา ได้แก่ propranolol, metoprolol, timolol และ topiramate ซึ่งจะเลือกใช้ขนาดยาต่ำสุดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาก่อนแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขนาดยา หากผ่านไป 2 เดือนหรือปรับขนาดยาจนถึงขนาดยาสูงสุดแล้วยังไม่สามารถป้องกันไมเกรนได้ ให้พิจารณาใช้ยากลุ่ม first-line agents 2 ชนิดร่วมกันหรือเปลี่ยนไปใช้ยา second-line agents ได้แก่ amitriptyline, atenolol, venlafaxine และ zolmitriptan[6] โดยการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาสำหรับป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคไมเกรน พบว่า ยา propranolol มีประสิทธิภาพดีกว่ายา femoxitine (-1.21,95% CI: -2.8 to -0.37) ส่วนยา metoprolol มีประสิทธิภาพดีกว่ายา clonidine (-0.54,95% CI: -1.07 to -0.01), flunarizine (-0.43,95% CI: -0.77 to -0.10), nifedipine (-0.75,95% CI: -1.27 to -0.24)[7]
ผู้ป่วยรายนี้มีอาการปวดศีรษะและใจสั่น อาจเกิดจากอันตรกิริยาระหว่างยา amitriptyline กับยา ergotamine โดยค่าความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงจัดเป็นความรุนแรงระดับ mild toxicity ดังนั้น ในการรักษาผู้ป่วยจะต้องหยุดใช้ยา ergotamine และพิจารณาเลือกใช้ยา first-line agents ได้แก่ propranolol, metoprolol, timolol และ topiramate ซึ่งจะเลือกใช้ขนาดยาต่ำสุดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาก่อนแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขนาดยา หลังจากนั้น 2 เดือนหรือปรับขนาดยาจนถึงขนาดยาสูงสุดแล้วยังไม่สามารถป้องกันไมเกรนได้ ให้พิจารณาใช้ยากลุ่ม first-line agents 2 ชนิดร่วมกันหรือเปลี่ยนไปใช้ยา second-line agents ได้แก่ amitriptyline, atenolol, venlafaxine และ zolmitriptan[6] แต่หากต้องการเลือกใช้ยา amitriptyline ในการรักษาผู้ป่วยรายนี้ต่อไป แนะนำให้เริ่มยา amitriptyline ในขนาด 10 mg รับประทานก่อนนอน และเพิ่มขนาดยาขึ้นครั้งละ 10 mgต่อสัปดาห์ จนกระทั่งได้ขนาดยาเท่ากับ 50 mg[8] ซึ่งจะต้องมีการติดตามภาวะ Serotonin syndrome โดยสามารถติดตามได้จากอาการแสดงทางคลินิก เช่น tremor, anxiety, agitation เป็นต้น รวมถึงติดตามความดันโลหิต (มากกว่า 150/110 mmHg หรือ น้อยกว่า 90/60 mmHg) อัตราการเต้นของหัวใจ (มากกว่า 100 ครั้ง/นาที) และอุณหภูมิร่างกาย (มากกว่า 38 oC)[3]

เอกสารอ้างอิง
[1] Boyer EW. Serotonin syndrome: serotonin toxicity. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. 2020
[2] Sibley DR, Hazelwood LA, Amara SG. 5-Hydroxytryptamine (serotonin) and dopamine. In: Brunton LL, Hilal-Dandan R, Knollmann BC, editors. Goodman & Gilman's: The pharmacological basis of therapeutics [Internet]. 13th ed. McGraw-Hill. Accessed on December 15, 2020. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2189§ionid=170105881
[3] Isbister G. Serotonin syndrome. BMJ Best Practice. Dec 2019. Available from: https://bestpractice.bmj.com/topics/en-us/991
[4] Amitriptyline: drug information. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham. MA.2020
[5] Amitriptyline - Ergotamine. Interactions. Lexicomp. Wolters Kluwer Health, Inc. Riverwoods, IL. Accessed on December 18, 2020. Available from: https://www.uptodate.com/drug-interactions/?source=responsive_home#di-document
[6] Ha H, Gonzalez A. Migraine headache prophylaxis. Am Fam Physician. 2019 Jan 1;99(1):17-24
[7] Jackson JL, Cogbill E, Santana-Davila R, Eldredge C, Collier W, Gradall A, et al. A comparative effectiveness meta-analysis of drugs for the prophylaxis of migraine headache. PLoS One. 2015 Jul 14;10(7):e0130733–e0130733.
[8] Evans RW, Bigal ME, Grosberg B, Lipton RB. Target doses and titration schedules for migraine preventive medications. Headache. 2006 Jan;46(1):160-4.
วันที่ตอบ : 22 มี.ค. 64 - 04:35:31




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110