ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้​ป่วยไขมันพอกตับ กิน simvastatin สามารถกิน zinc เป็นอาหารเสริทได้มั้ย

ผู้​ป่วยไขมันพอกตับ กิน simvastatin สามารถกิน zinc เป็นอาหารเสริทได้มั้ย

[รหัสคำถาม : 119] วันที่รับคำถาม : 24 ส.ค. 63 - 04:18:05 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคไขมันพอกตับ (fatty liver disease หรือ hepatic steatosis) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรคไขมันพอกตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ และโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic steatohepatitis หรือ NASH)
โรค NASH เป็นโรคที่มีการสะสมของไขมันซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเซลล์ตับมากเกินไป มักพบในผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง หรือ โรคเมตาบอลิก ซินโดรม (metabolic syndrome) จากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันมากเกินไปจนเกิดความผิดปกติในระบบการเผาผลาญอาหารร่วมกับการมีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin) ในภาวะปกติเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อินซูลินจะถูกหลั่งออกมาจากตับอ่อนและไปออกฤทธิ์ที่ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมันเพื่อให้มีการใช้น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอยู่ในระดับปกติ แต่ในภาวะดื้ออินซูลิน เซลล์ต่างๆเหล่านี้ไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้มีปริมาณน้ำตาลในร่างกายมากเกินความต้องการและถูกนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมในเซลล์ตับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการอักเสบของเซลล์ตับและนำไปสู่โรคไขมันพอกตับในที่สุด หากมีภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มการสะสมไขมันในเซลล์ตับ[1,2] ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่จำเพาะต่อโรค NASH แนวทางหลักในการรักษาเน้นไปที่การปรับพฤติกรรม ได้แก่ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และคาร์โบไฮเดรตสูง รับประทานอาหารประเภทโปรตีน ผัก และผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง งดการดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากแอลกอฮอล์จะกระตุ้นการอักเสบของเซลล์ตับและเพิ่มการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ[3] และงดการสูบบุหรี่เนื่องจากอาจทำให้ภาวะโรคกำเริบมากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย[4]
ยา simvastatin เป็นยาลดระดับไขมันที่อยู่ในรูปโคเลสเตอรอล (cholesterol) ชนิด LDL (low density lipoprotein) ในเลือด จากข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า simvastatin สามารถลดเอนไซม์ที่ทำลายตับและไขมันในตับได้[5] แต่ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วย NASH ในเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง (double-blind randomized controlled trial) พบว่า การใช้ยา simvastatin ทำให้ LDL ในเลือดลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีผลลดการอักเสบของเซลล์ตับและภาวะไขมันพอกตับ[6] ดังนั้น ยา simvastatin อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับที่มีภาวะไขมันชนิด LDL ในเลือดสูงร่วม
อาหารเสริม zinc (Zn) จากข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า Zn สามารถลดความผิดปกติของการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส (glucose) และไขมัน และลดการสะสมของไขมันในเซลล์ตับได้[7] อย่างไรก็ตามมีรายงานข้อมูลการศึกษาที่ขัดแย้งกันที่พบว่า การได้รับ Zn ไม่มีผลต่อการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ[8] และจากข้อมูลการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วย NASH ในเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง พบว่า อาหารเสริม Zn ทำให้มีระดับ Zn ในเลือดสูงขึ้น แต่ไม่มีผลลดความรุนแรงของการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ[9] ดังนั้นจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาหารเสริม Zn ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในประสิทธิภาพการรักษาโรคไขมันพอกตับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ป่วย NASH มักมีการรับประทาน Zn ที่ลดลง ทำให้เกิดภาวะขาด Zn ที่อาจส่งผลเพิ่มการอักเสบของเซลล์ตับและการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน[8] ดังนั้น อาหารเสริม Zn อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับที่มีภาวะขาด Zn ร่วม สามารถรับประทาน simvastatin ร่วมกับ Zn ได้ ยังไม่พบรายงานการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาทั้งสอง รวมทั้งผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย[10-12] โดยทั่วไป simvastatin ควรรับประทานหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน[13] และ Zn ควรรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชม.หรือพร้อมอาหารหากรู้สึกไม่สบายท้อง[14]
โดยสรุป หากผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ หรือ NASH ต้องการใช้ยา simvastatin ร่วมกับอาหารเสริม Zn สามารถใช้ร่วมกันได้โดยไม่เกิดอันตรกิริยาใด ๆ ที่เป็นอันตราย โดยยาทั้งสองชนิดดังกล่าวอาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันชนิด LDL ในเลือดสูง และขาด Zn ร่วมด้วย แต่หากต้องการผลเพื่อลดภาวะไขมันพอกตับ จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานประสิทธิภาพที่แน่ชัดในข้อบ่งใช้ดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
[1] Marra F, Lotersztajn S. Pathophysiology of nash: perspectives for a targeted treatment. Curr Pharm
Des. 2013;19(29):5250-5269. doi:10.2174/13816128113199990344
[2] Bacon BR. Genetic, metabolic, and infiltrative diseases affecting the liver. In: Longo DL, Fauci AS, Kasper
DL, Hauser SL, Jameson J, Loscalzo J. eds. Harrison's principles of internal medicine. 18th ed. New York: McGraw-Hill; 2012:2605.
[3] Chopra S, Lai M. Management of nonalcoholic fatty liver disease in adults. In: Post TW, ed. UpToDate.
Waltham: UpToDate; 2020. (Accessed December 24, 2020)
[4] Akhavan Rezayat A, Dadgar Moghadam M, Ghasemi Nour M, et al. Association between smoking and
non-alcoholic fatty liver disease: a systematic review and meta-analysis. SAGE Open Med. 2018;6:2050312117745223. doi:10.1177/2050312117745223
[5] Rodrigues G, Moreira AJ, Bona S, Schemitt E, Marroni CA, Di Naso FC, Dias AS, Pires TR, Picada JN, Marroni NP. Simvastatin reduces hepatic oxidative stress and endoplasmic reticulum stress in nonalcoholic steatohepatitis experimental model. Oxid Med Cell Longev. 2019;2019:3201873. doi:10.1155/2019/3201873
[6] Nelson A, Torres DM, Morgan AE, Fincke C, Harrison SA. A pilot study using simvastatin in the treatment
of nonalcoholic steatohepatitis: a randomized placebo-controlled trial. J Clin Gastroenterol. 2009;43(10):990-994. doi:10.1097/MCG.0b013e31819c392e
[7] Qi Y, Zhang Z, Liu S, Aluo Z, Zhang L, Yu L, Li Y, Song Z, Zhou L. Zinc supplementation alleviates lipid
and glucose metabolic disorders induced by a high-fat diet. J Agric Food Chem. 2020;68(18):5189-
5200. doi:10.1021/acs.jafc.0c01103
[8] Himoto T, Masaki T. Associations between zinc deficiency and metabolic abnormalities in patients with
chronic liver disease. Nutrients. 2018;10(1):88. doi:10.3390/nu10010088
[9] Fathi M, Alavinejad P, Haidari Z, Amani R. The effect of zinc supplementation on steatosis severity and
liver function enzymes in overweight/obese patients with mild to moderate non-alcoholic fatty liver following calorie-restricted diet: a double-blind, randomized placebo-controlled trial. Biol Trace Elem Res. 2020;197(2):394-404. doi:10.1007/s12011-019-02015-8
[10] Wickersham RM, Novak KK, Horenkamp JR, McCarron SM, Schweain SL, editors. Drug facts and
comparisons. Missouri: Wolters Kluwer Health; 2017:213, 300-19.
[11] Medscape. Drug interactions checker. 2020; [1 screen]. Available at: https://reference.medscape.com/
drug-interactionchecker. Accessed December 19, 2020.
[12] Farrokhi F, Moohebati M, Aghdaei HR, et al. Effects of statin therapy on serum trace element status in
dyslipidemic patients: results of a randomized placebo-controlled cross-over trial. Clin Lab. 2012;58(9-10):1005-1015.
[13] Simvastatin: Drug information. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2020. (Accessed
December 24, 2020)
[14] Mayo Clinic. Zinc supplement (oral route, parenteral route). 2020; [1 screen]. Available at:
https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/zinc-supplement-oral-route-parenteral-route/ precautions. Accessed December 24, 2020.

วันที่ตอบ : 04 ม.ค. 64 - 11:39:36


No : 2

แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน กระบวนการสร้างและซ่อมแซมของสาย DNA การช่วยในการมองเห็น การรับรสชาติ เชาว์ปัญญา และการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท ค่าปกติของระดับ Zinc ในเลือด อยู่ในช่วง 70-125 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
(mcg/dL) โดยภาวะพร่อง Zinc หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีระดับ Zinc ในเลือดต่ำกว่า 70 mcg/dL ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการเจริญเติบโตของระบบประสาทและเซลล์ประสาท [3] อาการแสดงที่พบเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ผื่นแดงหรือมีการตกสะเก็ดของผิวหนัง รังแค ผมร่วง เป็นสิว ความสามารถในการมองเห็นเวลากลางคืนผิดปกติ ความสามารถในการรับกลิ่นหรือการรับรสลดลง รวมไปถึงมีผลต่อการสมานแผลทำให้แผลหายช้าลง เป็นต้น [4] การได้รับ Zinc เสริมในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะช่วยในกระบวนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการมองเห็น บำรุงเล็บ เส้นผม และช่วยในการสมานแผลทำให้แผลหายเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากมีระดับ Zinc ในเลือดสูงกว่า 125 mcg/dL จะเกิดภาวะ Zinc เกิน ส่งผลให้เกิดอาการพิษจากภาวะ Zinc เกิน เช่น คลื่นไส้อาเจียน ตะคริว กล้ามเนื้อกระตุก ท้องเสีย เป็นต้น ผลของการได้รับพิษจาก Zinc เป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบเลือด การสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อผิดปกติ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและการขนส่งไขมันไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติ [3]
ไขมันพอกตับ Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) คือ ความผิดปกติของตับที่มีการสะสมของไขมันในรูปไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ตับ อาจพบการอักเสบของตับร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากกระบวนการแปรสภาพทางเคมีของไขมันในตับที่ผิดปกติ การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด อาจส่งผลลดการสร้างส่วนประกอบของไขมันที่ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นไปยังเซลล์ที่มีการสะสมไขมันหรือต้องการนำไขมันไปใช้ประโยชน์ เป็นผลให้เกิดการสะสมของไขมันที่เซลล์ตับแทน ผลของการสะสมไขมันที่ผิดปกติของเซลล์ตับทำให้เกิดการทำลายเซลล์ตับและเกิดเป็นผังผืดสะสม หากมีการสะสมของความผิดปกติดังกล่าวมากขึ้น สามารถพัฒนาเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง หรืออาจมีอาการปวดแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา หรือมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบค่าเอนไซม์ตับที่สูงผิดปกติ ได้แก่ alanine aminotransferase (ALT), aspartate aminotransferase (AST) โดย ALT มีค่าสูงกว่า AST และมีค่าสูงประมาณ 1.5-2 เท่าของค่าปกติ [2]
Chyi-Huey Bai และคณะ ได้ทำการศึกษาการเพิ่มระดับของ Zinc และ vitamin B2 ในร่างกายที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ (ALT) การเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ดังกล่าว สามารถบอกถึงภาวะตับถูกทำลายหรือความเสียหายต่อตับที่เพิ่มมากขึ้น ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาโดยเก็บข้อมูลในวัยรุ่นชาวไต้หวันจำนวน 1,941 คน ที่มีอายุระหว่าง 13-18 ปี ที่มีค่า serum ALT เฉลี่ยเท่ากับ 14.8±13.3 U/L (17.7±16.3 U/L ในผู้ชาย และ 12.1±8.7 U/L ในผู้หญิง) โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 จำนวน 533 คน กลุ่มที่ 2 จำนวน 757 คน และกลุ่มที่ 3 จำนวน 651 คน ผลการศึกษาพบว่า การได้รับ Zinc เพิ่มขึ้น 1 ยูนิต มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ serum ALT 1.12 เท่าในประชากรเพศหญิงกลุ่มที่ 2 (OR = 1.12 95%Cl 1.03-1.23, P<0.0001) และ 1.11 เท่า ในประชากรเพศหญิงกลุ่มที่ 3 (OR = 1.11 95%Cl 1.01-1.21, P<0.0001) เมื่อเทียบกับประชากรเพศหญิงในกลุ่มที่ 1 โดยเป็นการบันทึกข้อมูลภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หลังได้รับ Zinc และ vitamin B2
การรับประทาน Zinc เป็นอาหารเสริมในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับ ต้องมีการพิจารณาผลของ Zinc ต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเอนไซม์เพื่อประเมินการทำงานของตับ การศึกษาผลของการใช้ Zinc ที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ ALT พบว่า ระดับ serum ALT ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีผลทางคลินิก [1] นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของปริมาณ Zinc ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์ ALT ในทางคลินิก อย่างไรก็ตาม Zinc มีกระบวนการกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางตับ ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับซึ่งมีการทำงานของตับลดลง [4] อาจทำให้เกิดการสะสมของ Zinc มากกว่าในผู้ที่มีการทำงานของตับปกติ จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะพิษจาก Zinc ในระยะยาวได้ [3] ดังนั้นการรับประทาน Zinc เป็นอาหารเสริมในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับ จึงไม่แนะนำในผู้ที่มีระดับ Zinc ในเลือดปกติ โดยควรมีการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับ Zinc ในเลือดก่อนการได้รับ Zinc เสริม หรือภายในการติดตามโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
[1] Bai CH, Chien YW, Huang TC, Wu SJ, Yeh NH, Pan WH, Chang JS. Increased dietary zinc and vitamin B-2 is associated with increased alanine aminotransferase in Taiwanese adolescents. Asia Pac J Clin Nutr. 2017 Jan;26(1):78-84.
[2] Dan Longo, Anthony Fauci, Dennis Kasper, Stephen Hauser, J. Jameson. Harrison's Principles of Internal Medicine. 18th Edition. New York: McGraw Hill; 2012. p. 2604-2605.
[3] Maret W, Sandstead HH. Zinc requirements and the risks and benefits of zinc supplementation. J Trace Elem Med Biol. 2006;20(1):3-18.
[4] Mohammad K. Mohommad, MD,1 Zhanxiang Zhou, PhD,2 Matthew Cave, MD,3 Ashutosh Barve, MD, PhD,3 and Craig J. McClain, MD4. Zinc and Liver Disease.
Nutr Clin Pract. 2012 Feb; 27(1): 8–20.
วันที่ตอบ : 22 มี.ค. 64 - 10:37:22




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110