ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากทราบว่าถ้าทานพืชที่เบต้าแคโรทีนมากๆจะทำให้เป็นโรคโลหิตจางจรือไม่คะ

อยากทราบว่าถ้าทานพืชที่เบต้าแคโรทีนมากๆจะทำให้เป็นโรคโลหิตจางจรือไม่คะ

[รหัสคำถาม : 124] วันที่รับคำถาม : 30 ส.ค. 63 - 16:42:54 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามิน เอ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โปรวิตามิน เอ แคโรทีนอยด์ เป็นสารมีสีที่สามารถละลายได้ดีในไขมันและมีคุณสมบัติเป็น antioxidant สามารถพบได้ในผักใบเขียว ผักที่มีสีส้มและผลไม้บางชนิด[1] ผักในบ้านเราที่มีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูง (โดยการเทียบจากปริมาณผัก 100 กรัม) ได้แก่ ใบกะเพราแดง 7,875 ไมโครกรัม แครอท 6,994 ไมโครกรัม ใบและยอดอ่อนตำลึง 5,190 ไมโครกรัม และ ผักกะเฉด 3,710 ไมโครกรัม ตามลำดับ[2] สมาคมโรคหัวใจประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าการได้รับเบต้าแคโรทีนจากอาหารโดยตรงจะมีปริมาณมากกว่าการได้รับจากอาหารเสริม และปริมาณที่ได้รับจากอาหารจำพวกผักใบเขียวและผลไม้เพียงพอต่อวัน เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นรูปแบบอาหารเสริมจะแนะนำให้รับประทานเฉพาะผู้ที่มีข้อบ่งชี้บางอย่างเท่านั้น[1]

การรับประทานผักและผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนปริมาณสูงไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง แต่ในทางกลับกันพบว่า มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการรับประทานพวกผักใบเขียวและเหลืองที่มีปริมาณ carotene 4.2 มิลลิกรัมร่วมกับอาหารที่มีไชมัน 7 กรัมต่อวัน สามารถช่วยเพิ่มค่าเฉลี่ยระดับฮีโมโกลบินในเลือดได้ 0.8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเวลาไป 9 สัปดาห์ และช่วยลดความชุกในการเกิดภาวะโลหิตจางลงจาก 12.5% เหลือ 1.9% อย่างมีนัยสำคัญ แต่ความชุกในการเกิดภาวะการขาดธาตุเหล็กและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กไม่มีความเปลี่ยนแปลง[3] กลไกที่เป็นไปได้ว่าเบต้าแคโรทีนมีส่วนช่วยในการลดการเกิดภาวะโลหิตจางได้นั้นเกี่ยวข้องกับการเมตาบอลิซึมธาตุเหล็ก โดย ร่างกายก็มีกลไกในการเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนที่ได้จากอาหารให้อยู่ในรูปที่เป็นวิตามินเอ วิตามินเอ เกี่ยวข้องกับการเมตาบอลิซึมธาตุเหล็ก คือทำให้ธาตุเหล็กรวมกับเซลล์เม็ดเลือดแดงส่งผลให้กระบวนสร้างเลือดจากเซลล์เริ่มต้นไปเป็นเซลล์ที่ตัวเต็มวัยได้ และอาจมีผลทางอ้อมต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีการรายงานว่าการติดเชื้อสามารถยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งวิตามินเอจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโดยลดการอักเสบที่เกิดขึ้น ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอหรือเบต้าแคโรทีนเป็นส่วนประกอบหรือรับประทานอาหารที่เพิ่มการดูดซึมเบต้าแคโรทีนอาจจะเป็นการเพิ่มการใช้ธาตุเหล็กอย่างเป็นประโยชน์และทำให้ระดับธาตุเหล็กในเลือดเพิ่มขึ้นจนอยู่ในช่วงปกติ และทั้งการเพิ่มขึ้นของวิตามินเอและธาตุเหล็กต่างก็มีส่วนช่วยเพิ่มระดับฮีโมโกลบินในเลือด ซึ่งสามารถช่วยลดการเกิดภาวะโลหิตจางได้[4]

โดยสรุป การรับประทานผักและผลไม้ที่มีปริมาณเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง จากการสืบค้นพบว่าไม่มีข้อมูลที่แสดงถึงการทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง แต่กลับพบว่าอาจมีผลเพิ่มระดับฮีโมโกลบินในเลือดได้

เอกสารอ้างอิง
1. Beta-Carotene. In: Natural Medicines [database on the Internet]. Somerville (MA): Therapeutic Research Center; 2020 [cited 2020 June 29]. Available from: https://naturalmedicines.therapeuticresearch.com. Subscription required to view.
2. กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/
files/nutritive_values_of_thai_foods.pdf
3. C C Maramag, J D Ribaya-Mercado, P Rayco-Solon, et al. Influence of Carotene-Rich Vegetable Meals on the Prevalence of Anaemia and Iron Deficiency in Filipino Schoolchildren. Eur J Clin Nutr. 2010;64(5):468-74.
4. Hess SY, Thurnham DI, Hurrell RF. Influence of provitamin A carotenoids on iron, zinc, and vitamin A status. 2005. [cited 2020 July 3]. Available from: https://www.ifpri.org/publication/influence-provitamin-carotenoids-iron-zinc-and-vitamin-status
วันที่ตอบ : 30 ส.ค. 63 - 16:51:48




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110