ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากทราบว่า fish oil กับ cod liver oil ต่างกันยังไงคะ
แล้วทำไมในการวิจัยที่นำมา


อยากทราบว่า fish oil กับ cod liver oil ต่างกันยังไงคะ
แล้วทำไมในการวิจัยที่นำมาบรรเทาอาการปวดของ rheumatoid arthritis จึงใข้ cod liver oil ทำไมถึงไม่ใช้น้ามันตับปลาของปลาชนิดอื่นคะ


[รหัสคำถาม : 125] วันที่รับคำถาม : 30 ส.ค. 63 - 16:43:30 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

น้ำมันปลา (fish oil) เป็นแหล่งของเอโมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง พบได้ในน้ำมันปลา แบ่งออกเป็น Alpha-linolenic acid (ALA) น้อยกว่า 10%, Docosahexaenoic acid (DHA) ประมาณ 12-32% และ Eicosapentaenoic acid (EPA) ประมาณ 18-51% ข้อบ่งใช้ของน้ำมันปลาที่มีข้อมูลสนับสนุน คือ ใช้รักษาภาวะระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง แนะนำให้รับประทานไม่เกินวันละ 3 กรัม การรับประทานเกิน 3 กรัมต่อวันอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออก อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย คือ มีกลิ่นเหม็นคาว ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเสีย เป็นต้น[1]

น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) สกัดมาจากตับปลาค็อด มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิดโอเมก้า 3 และมีวิตามินเอและวิตามินดี ในส่วนของโอเมก้า 3 ประกอบไปด้วย EPA และ DHA เช่นเดียวกับที่พบในน้ำมันปลา มีการนำมาใช้หลาย ๆ โรค ได้แก่ โรคเกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด โรคซึมเศร้าและข้ออักเสบ และอื่นๆ แต่ข้อมูลสนับสนุนมีน้อย แนะนำให้ใช้ในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 30 มิลลิลิตร ต่อวัน อาการไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องอืด แสบร้อนกลางอก หากรับประทานในปริมาณสูงเพิ่มความเสี่ยงในการเลือดออก[2]

ทั้งน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา มีส่วนประกอบที่สำคัญที่เหมือนกัน คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ Docosahexaenoic acid (DHA) และ Eicosapentaenoic acid (EPA) แต่น้ำมันตับปลาจะมี วิตามินเอและวิตามินดี เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ในขณะที่น้ำมันปลาไม่มีวิตามินทั้งสองชนิดนี้เป็นส่วนประกอบ[1,2]

มีการศึกษาถึงน้ำมันตับปลามาใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม NSIADs เพื่อลดขนาดยาในกลุ่ม NSIADs และลดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากลุ่ม NSIADs ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)[3,4] จากการศึกษา ในระยะเวลา 9 เดือน ผู้ป่วยจำนวน 90 คน กลุ่มที่หนึ่งได้รับอาหารเสริม cod liver oil 10 กรัม (ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 หรือ EFAs 2.2 กรัม) และกลุ่มที่สองได้รับยาหลอก พบว่าในกลุ่ม cod liver oil มีการใช้ยา NSAIDs ลดลงมากกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.002)[3] อีกการศึกษาในผู้ป่วย 30 คน ผู้ป่วยทุกคนได้รับ cod liver oil 5 แคปซูลวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 24 สัปดาห์ ซึ่งแต่ละแคปซูลมี cod liver oil 300 mg ประกอบด้วย EPA 20 mg และ DHA 30 mg ผลการศึกษา พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์ที่ 24 (p<0.05) และค่าเฉลี่ยขนาดยา NSAIDs ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน (p<0.05)[4]

การนำน้ำมันตับปลามาใช้ร่วมกับยากลุ่ม NSIADs เพื่อบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้น เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 (EPA และ DHA) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและประโยชน์จาก vitamin D ในน้ำมันตับปลาสามารถช่วยเสริมภาวะขาด vitamin D ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วย rheumatoid arthritis[4] ไม่พบการศึกษาที่ใช้น้ำมันตับปลาชนิดอื่นมาใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

สรุป น้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา มีส่วนประกอบสำคัญที่เหมือนกัน คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ Docosahexaenoic acid (DHA) และ Eicosapentaenoic acid (EPA) แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ น้ำมันตับปลาจะมี วิตามินเอและวิตามินดี เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย มีการศึกษาที่นำน้ำมันตับปลามาใช้บรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 คือ DHA และ EPA เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งทำให้ลดการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ได้และทำให้ระดับความเจ็บปวดลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ยังคงต้องใช้ร่วมกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ และไม่พบการศึกษาที่ใช้น้ำมันตับปลาชนิดอื่นมาใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

เอกสารอ้างอิง
1. Fish Oil. In: Natural Medicines [database on the Internet]. Somerville (MA): Therapeutic Research Center; 2020 [cited 2020 July 3]. Available from: https://naturalmedicines.therapeuticresearch.com. Subscription required to view.
2. Cod Liver Oil. In: Natural Medicines [database on the Internet]. Somerville (MA): Therapeutic Research Center; 2020 [cited 2020 July 3]. Available from: https://naturalmedicines.therapeuticresearch.com. Subscription required to view.
3. B Galarraga, M Ho, H M Youssef, A Hill, H McMahon, C Hall, S Ogston, G Nuki, J J F Belch. Cod Liver Oil (n-3 Fatty Acids) as an Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drug Sparing Agent in Rheumatoid Arthritis. Rheumatology (Oxford). 2008;47(5):665-9.
4. Vinay Kumar Gupta, Z Y Zafer Khan, Mushtaq Ahmad. The Concomitant Consumption of Cod Liver Oil Causes a Reduction in the Daily Diclofenac Sodium Usage in Rheumatoid Arthritis Patients: A Pilot Study. J Clin Diagn Res. 2013;7(7):1347-51.

วันที่ตอบ : 30 ส.ค. 63 - 16:49:58




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110