ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาroxithromycin มีผลข้างเคียงทำให้เกิดตกขาวเป็นมูกสีคล้ำหรือเลือดออกกระปริบระปรอ

ยาroxithromycin มีผลข้างเคียงทำให้เกิดตกขาวเป็นมูกสีคล้ำหรือเลือดออกกระปริบระปรอยไหมคะ (ปกติแพ้ยาamoxicillinค่ะ หมอเลยจ่ายยาตัวนี้ให้แทน)

หมายเหตุ: หมอจ่ายยานี้ให้เนื่องจากผ่าฟันคุดมาค่ะ **ยังไม่ถึงรอบเดือนค่ะ


[รหัสคำถาม : 127] วันที่รับคำถาม : 06 ก.ย. 63 - 19:30:57 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกในสตรีวัยเจริญพันธุ์ หมายถึงภาวะที่ตัวมดลูกมีเลือดออก โดยจะมีปริมาณ ความถี่ และระยะเวลาในการเกิดผิดปกติไป สาเหตุการเกิดภาวะดังกล่าวอาจแบ่งได้เป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของมดลูก (เช่น เนื้องอก ติ่งเนื้อที่เยื่อบุโพรงมดลูก โพรงเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ก้อนเนื้องอกที่มีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ) และสาเหตุที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของมดลูก (เช่น ความผิดปกติของการตกไข่ ความผิดปกติของการกระบวนการห้ามเลือด หรือจากยาที่ใช้ (เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ยาที่อาจทำให้ระดับโปรแลคตินในกระแสเลือดสูงขึ้น ยาคุมกำเนิดหรืออุปกรณ์คุมกำเนิด และยาอื่น ๆ) โดยสาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่พบมากที่สุดคือสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพยาธิสภาพที่โครงสร้างของมดลูก [1],[2],[3]
ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกทุกรายควรได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างครบถ้วน โดยข้อมูลที่ควรแจ้งแพทย์ ได้แก่ ความถี่ ระยะเวลา ปริมาตรเลือดจากภาวะเลือดออกผิดปกติ ประวัติรอบเดือนในอดีต นอกจากนี้ผู้ป่วยควรแจ้งอาการอื่น ๆ ปัจจัยที่กระตุ้น การใช้ยาคุมกำเนิด ยาหรือสมุนไพรที่ใช้ รวมถึงโรคร่วมให้แก่แพทย์ ซึ่งข้อมูลสามารถช่วยกำหนดแนวทางการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป สำหรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอื่น ๆ ได้แก่ การตรวจอุ้งเชิงกราน การถ่ายภาพอุ้งเชิงกราน (pelvic imaging) การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial sampling) การส่องกล้องโพรงมดลูก (hysteroscopy) การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ การตรวจระดับฮอร์โมนโปรแลคติน การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count, CBC) เป็นต้น [1],[2],[3]
ยา Roxithromycin เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolide ซึ่งออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรีย โดยการจับกับ 50S ribosome subunit สามารถใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ไม่ดื้อต่อยาดังกล่าว ได้แก่ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนหรือส่วนล่าง การติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ยกเว้นการติดเชื้อ N. gornorrhea การติดเชื้อที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออ่อน และการติดเชื้อที่เหงือก เป็นต้น อาการไม่พึงประสงค์ของยา roxithromycin ได้แก่ อาการไม่ประสงค์ต่อระบบหัวใจ (เช่น Prolonged QT interval) อาการไม่ประสงค์ต่อระบบผิวหนัง (เช่น เล็บเปลี่ยนสี อาการคันที่ผิวหนังแบบไม่รุนแรง) อาการไม่ประสงค์ต่อระบบต่อมไร้ท่อหรือระบบเมตาบอลิก (เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง) อาการไม่ประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหาร (เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ตะคริวที่ท้อง อาการเบื่ออาหาร และภาวะตับอ่อนอักเสบ) อาการไม่ประสงค์ต่อระบบเลือด (เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูง ภาวะเกล็ดเลือดสูง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ) อาการไม่ประสงค์ต่อตับ (เช่น ภาวะตับวาย ภาวะตับอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน ดีซ่าน หรือค่าการทำงานของดับสูงโดยไม่มีอาการ) อาการไม่ประสงค์ต่อระบบประสาท (เช่น อาการปวดหัว) อาการไม่ประสงค์ต่อระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น การติดเชื้อราที่ช่องคลอด ภาวะไตวาย) และอาการอื่นๆ (เช่น ท้องเสียจากการติดเชื้อซ้ำซ้อน) [4] สำหรับผลข้างเคียงของยา roxithromycin ต่อภาวะตกขาวเป็นมูกสีน้ำตาลคล้ำหรือเลือดออกกะปริดปะปรอย จากการสืบค้นงานวิจัยปฐมภูมิไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวในกลุ่มที่ใช้ยา roxithromycin อาการไม่พึงประสงค์ที่พบในผู้ใช้ยาส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินอาหาร (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง) อาการวิงเวียนหรือปวดศีรษะ อาการทางผิวหนัง ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น เป็นต้น [7-9]
ดังนั้นจึงไม่อาจได้สรุปว่ายา roxithromycin มีความเกี่ยวข้องกับอาการตกขาวเป็นมูกเลือดสีน้ำตาลคล้ำ หรือภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย อย่างไรก็ตามผู้ที่มีอาการตกขาวเป็นมูกเลือดสีคล้ำหรือมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทุกรายควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุต่อไป [1],[2],[3]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Kaunitz AM. Abnormal uterine bleeding in nonpregnant reproductive-age patients: Evaluation and approach to diagnosis In: Post TW, ed. UptoDate, Waltham: UptoDate; 2021. (Accessed on May 23, 2021.) Available at: https://www.uptodate.com/contents/abnormal-uterine-bleeding-in-nonpregnant-reproductive-age-patients-evaluation-and-approach-to-diagnosis?search=1.%09UptoDate:%20Abnormal%20uterine%20bleeding%20in%20nonpregnant%20reproductive-age%20patients&source=search_result&selectedTitle=1~150&usage_type=default&display_rank=1#H1.
[2]. American College of Obstetricians and Gynecologists. Management of Acute Abnormal Uterine Bleeding in Nonpregnant Reproductive-Aged Women [Internet]. [cited 2021 May 23]. Available from:https://www.acog.org/clinical/clinical-guidance/committee-opinion/articles/2013/04/ management-of-acute-abnormal-uterine-bleeding-in-nonpregnant-reproductive-aged-women.
[3]. ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย. การหาสาเหตุและรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก http://www.rtcog.or.th/home/gy-07%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%
B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%
81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2/765/.
[4].Roxithromycin. In DRUGDEX® System [database on the internet]. Greenwood Village, Co: Thomson Micromedex. [cited 2021 May 23]. Available from: https://www.micromedexsolutions .com/micromedex2/librarian/PFDefaultActionId/evidencexpert.DoIntegratedSearch?navitem=topHome&isToolPage=true#.
[5]. Poirier R. Comparative study of clarithromycin and roxithromycin in the treatment of community-acquired pneumonia. Journal of Antimicrobial Chemotherapy. 1991;27(suppl A):109–16. doi: 10.1093/jac/27.suppl_a.109.
[6]. Muller O. An open comparative study of azithromycin and roxithromycin in the treatment of acute upper respiratory tract infections. Journal of Antimicrobial Chemotherapy. 1996;37(suppl C):83–92. doi: 10.1093/jac/37.suppl_c.83.
[7]. Paulsen O, Christensson BA, Hebelka M, Ljungberg B, Nilsson-ehle I, Nyman L, et al. Efficacy and tolerance of roxithromycin in comparison with erythromycin stearate in patients with lower respiratory tract infections. Scandinavian Journal of Infectious Diseases. 1992;24(2):219–25. doi: 10.3109/00365549209052616.
[8]. Ogrendik M. Efficacy of roxithromycin in adult patients with rheumatoid arthritis who had not received disease-modifying antirheumatic drugs: A 3-month, randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Clinical Therapeutics. 2009;31(8):1754–64. doi: 10.1016/j.clinthera.2009.08.014.
[9]. Pechère J-C. Clinical evaluation of roxithromycin 300 mg once daily as an alternative to 150 mg twice daily. Diagnostic Microbiology and Infectious Disease. 1992;15(4):111–7. doi: 10.1016/0732-8893(92)90137-i.

วันที่ตอบ : 14 ก.ค. 64 - 19:09:25




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110