ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หญิงให้นมบุตรต้องการรับประทานยาเมารถ สามารถให้ยาเป็นตัวไหนที่เหมาะสมได้บ้างคะ สา

หญิงให้นมบุตรต้องการรับประทานยาเมารถ สามารถให้ยาเป็นตัวไหนที่เหมาะสมได้บ้างคะ สามารถให้ betahistine mesilate/diHCl ได้ ตัวยาสามารถขับออกทางน้ำนม หรือ ทำให้น้ำนมลดลงได้หรือไม่คะ

[รหัสคำถาม : 129] วันที่รับคำถาม : 22 ก.ย. 63 - 22:19:11 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการเมารถเมาเรือ หรือ การมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนเมื่อเดินทางโดยรถ เรือ หรือเครื่องบิน เกิดจากการเสียความสมดุลในการทำงานของอวัยวะรับการทรงตัวในห้องหูชั้นใน (labyrinth) จากการได้รับแรงกระตุ้นที่มากเกินเมื่อศีรษะมีการเคลื่อนไหวไปมาตามความแรงการโยกของรถหรือเรือเป็นเวลานาน เป็นผลให้มีการหลั่งสารสื่อประสาท acetylcholine (Ach) ไปจับกับตัวรับที่ศูนย์อาเจียน (vomiting center) ในสมองส่วน medulla ทำให้เกิดความรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย ขี้กลัว มีการทำงานของประสาทการทรงตัวผิดปกติ และผู้ที่เคยมีอาการบ้านหมุน ผู้ที่มีจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการเมารถเมาเรือ นอกจากนี้การได้รับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการ[1] อาการเมารถเมาเรือสามารถบรรเทาได้โดยการรับประทานอาหารก่อนออกเดินทางสักครู่ เลี่ยงภาวะท้องว่างและอาหารที่มันหรือเผ็ด อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากอยู่บนเรือควรมองไปที่เส้นขอบฟ้าและนั่งตรงกลางเรือ หากนั่งรถยนต์ควรเลือกนั่งด้านหน้าและมองออกไปไกลๆในแนวเส้นตรงขนานพื้น และหากอยู่บนเครื่องบินก็ควรนั่งริมหน้าต่าง รวมทั้งการรับประทานยาป้องกันอาการเมารถเมาเรือก่อนออกเดินทาง[1] ซึ่งกลุ่มยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงให้นมบุตร และมีจำหน่ายในประเทศไทย แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์หลักได้ดังนี้
1. กลุ่มยาต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาท Ach ในรูปแบบแผ่นแปะผิวหนัง scopolamine transdermal patch ขนาด 1.5 มิลลิกรัม แปะติดบริเวณหลังใบหู ก่อนเดินทาง 4-6 ชั่วโมง มีผลนานประมาณ 3 วัน ยาจะถูกดูดซึมได้น้อยและก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากฤทธิ์ต้านการออกฤทธิ์ของสาร Ach เช่น ง่วงนอน ปากแห้ง ตาพร่า เป็นต้น[1,2,3] ได้น้อย
2. กลุ่มยาต้านฮิสตามีน (antihistamine) หรือยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาท Ach ซึ่งมักทำให้เกิดอาการง่วงนอน (sedating antihistamines) ในรูปแบบยารับประทาน ดังนี้
: Cyclizine ขนาด 50 มิลลิกรัม รับประทานก่อนเดินทาง 1 ชั่วโมง ให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง[1,2,4]
: Dimenhydrinate ขนาด 50-100 มิลลิกรัม รับประทานก่อนเดินทางอย่างน้อย 30 นาที ให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง[ [1,2,5]
: Meclizine ขนาด 25-50 มิลลิกรัม รับประทานก่อนออกเดินทาง 1 ชั่วโมง ให้ซ้ำได้ทุก 24 ชั่วโมง[ [1,2,6]
เรียงตามลำดับยาตามการก่อให้เกิดอาการข้างเคียงง่วงนอนจากมากไปน้อยได้ดังนี้
Meclizine > Dimenhydrinate > Cyclizine
ยาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้ในการป้องกันก่อนออกเดินทางหรือใช้ในการรักษาให้เร็วที่สุดหลังจากเกิดอาการ การเลือกใช้ยากลุ่มใดหรือชนิดใดพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ใช้แต่ละราย และระยะเวลาที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ ในผู้ที่ต้องการที่จะตื่นตัวในช่วงรับประทานยาระหว่างการเดินทางแนะนำให้ใช้ scopolamine transdermal patch ส่วนผู้ที่ต้องการใช้ยาในรูปแบบรับประทานแนะนำให้ใช้ยา dimenhydrinate ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำให้ง่วงนอนปานกลางที่ส่งผลให้ลดอาการเมารถ เมาเรือได้[1,7]
สำหรับยา betahistine mesilate ในขนาด 6 และ 12 มิลลิกรัม หรือ betahistine diHCl ในขนาด 8 16 และ 24 มิลลิกรัม) ยาไม่ได้มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งหรือต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาท Ach แต่เพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือดบริเวณหูชั้นใน (cochlear) และมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ vestibular neuclei นิยมใช้รักษาอาการบ้านหมุน ยาไม่มีข้อบ่งชี้ในการป้องกันและรักษาอาการเมารถเมาเรือ แต่อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นแล้วได้ โดยรับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ยาจัดอยู่ในความเสี่ยงระดับต่ำสำหรับหญิงให้นมบุตร ไม่มีการรายงานการขับยาออกทางน้ำนม และไม่มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ผลจากการใช้ยากับปริมาณน้ำนมของมารดา[8,9,10,11]

ผู้ตอบ: นศภ. ธนพัฒน์ เจริญมาก / รศ.ดร.ภญ.ศิริมา มหัทธนาดุลย์
เอกสารอ้างอิง
1. American Family Physician. Prevention and Treatment of Motion Sickness, Volume 90, Number 1. July 1, 2014.41-46
2. Briggs GG, Forinash AB, Freeman RK, Towers CV. Drugs in Pregnancy and Lactation. 11th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health; 2015.1589-90.
3. E-lactancia. Scopolamine [1 screen]. Available at: http://www.e-lactancia.org/breastfeeding/ Scopolamine /product/. Accessed December,15,2020.
4. E-lactancia. Cyclizine [1 screen]. Available at: http://www.e-lactancia.org/breastfeeding/ Cyclizine /product/. Accessed December,15,2020.
5. E-lactancia. Dimenhydrinate [1 screen]. Available at: http://www.e-lactancia.org/breastfeeding/ Dimenhydrinate /product/. Accessed December,15,2020.
6. E-lactancia. Meclizine [1 screen]. Available at: http://www.e-lactancia.org/breastfeeding/ Meclizine /product/. Accessed December,15,2020.
7. Gordon CR, Gonen A, Nachum Z, Doweck I, Spitzer O, Shupak A. The effects of dimenhydrinate, cinnarizine and transdermal scopolamine on performance. J Psychopharmacol. 2001 Sep;15(3):167-72.
8. Betahistine: Drug information.[ 1 screen]. Waltham (MA): UpToDate; 2020. Available at: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4668026?cesid=0TnRJTiWGvC&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dbetahistine%252520dihydrochloride%26t%3Dname%26va%3Dbetahistine%252520dihydrochloride#pha. Accessed December,15,2020.
9. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. BETAHISTINE MESILATE. Available at:
http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx? Newcode_U=U1DR1A1022590018911C&pvncd=10&drgtpcd=2&rgttpcd=1A&rgtno=5900189. Accessed December,15,2020.
10. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. BETAHISTINE DIHYDROCHLORIDE. Available at:
http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode _U=U1DR1A1022590018911C&pvncd=10&drgtpcd=2&rgttpcd=1A&rgtno=5900189.Accessed December,15,2020.
11. E-lactancia. Betahistine [1 screen]. Available at: http://www.e-lactancia.org/breastfeeding/ Betahistine /product/. Accessed December,15,2020.

วันที่ตอบ : 30 ธ.ค. 63 - 17:37:59




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110