ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Cimetidine สามารถป้องกันการเกิด nsaid induced GI ulcer ได้ไหมคะ

Cimetidine สามารถป้องกันการเกิด nsaid induced GI ulcer ได้ไหมคะ

[รหัสคำถาม : 130] วันที่รับคำถาม : 04 ต.ค. 63 - 10:27:32 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาในกลุ่ม NSAIDs หรือ Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs เป็นยาที่มักใช้ในการรักษาอาการปวดและอักเสบของโรคกล้ามเนื้อและกระดูก มีกลไกที่สำคัญ คือ ยับยั้งการสร้าง prostaglandin ส่งผลให้เยื่อบุทางเดินอาหารได้รับอันตรายจากกรดในกระเพาะอาหารและจากยาได้ง่ายขึ้น อาจเกิดการอักเสบและนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้[1] โดยปัจจัยเสี่ยงหลักในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ NSAIDs ต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่
(1) ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
(2) ผู้ที่มีประวัติการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้เล็ก
(3) การใช้ยา NSAIDs ร่วมกับ corticosteroids
(4) การใช้ยา NSAIDs ในขนาดที่สูงกว่าปกติหรือใช้ยา NSAIDs มากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน
(5) การใช้ยา NSAIDs ร่วมกับ anticoagulants หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีความรุนแรง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นไปได้ต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว ได้แก่ การติดเชื้อ Helicobacter pylori
การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา[2]
สำหรับวิธีการป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ NSAIDs ต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่
(1) การเลือกใช้ NSAIDs ที่ออกฤทธิ์สั้น หรือ NSAIDs ที่มีผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารน้อยที่สุด เช่น ibuprofen
(2) หลีกเลี่ยงการใช้ยา NSAIDs มากกว่า 1 ชนิดในเวลาเดียวกัน
(3) หลีกเลี่ยงการใช้ยา NSAIDs ร่วมกับ corticosteroids หรือ anticoagulants
(4) การใช้ยา NSAIDs ในขนาดต่ำและระยะเวลาน้อยที่สุด
(5) การเปลี่ยนไปใช้ยา NSAIDs ในกลุ่ม selective COX-2 inhibitor เช่น celecoxib หรือ etoricoxib[3]
(6) การใช้ยาที่มีคุณสมบัติเป็น gastroprotective agents ร่วมด้วย เช่น proton pump inhibitors หรือ
misoprostol ร่วมด้วย[4]
สำหรับยาที่มีคุณสมบัติ gastroprotective agents ชนิดอื่น เช่น Histamine2-receptor antagonist (H2RA)
ที่มีกลไกในการปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2 Blockers) ออกฤทธิ์ยับยั้งสารฮิสตามีนที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยา ranitidine, cimetidine และ famotidine มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการลดการเกิดแผลในทางเดินอาหาร โดยศึกษาในขนาดยาปกติ (Standard dose) ร่วมกับ NSAIDs พบว่า H2RA สามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลในลำไส้เล็กได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร[5] นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกรณีที่ใช้ famotidine 40 mg วันละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นขนาดยาสูง ร่วมกับ NSAIDs ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลในทางเดินอาหารในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยทำการวัดผลในการป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหาร เปรียบเทียบกับการใช้ยา gastroprotective agents ชนิดอื่น พบว่า H2RA มีความคุ้มค่าเพียงในแง่ของราคามากที่สุด[6] แต่ยังขาดข้อมูลที่เป็นการศึกษาแบบ randomized และ clinical outcome trials ที่ประเมินถึงประสิทธิภาพของการให้ H2RA ในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ปัจจุบันจึงไม่นิยมใช้ยา H2RA ในการป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหาร และมักเลือกใช้ยากลุ่ม
proton pump inhibitors ได้แก่ omeprazole ที่มีผลการศึกษาออกมาอย่างชัดเจนถึงประสิทธิภาพในการลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร[7]

เอกสารอ้างอิง
[1] Vane JR, Botting RM. Mechanism of action of nonsteroidal anti-inflammatory drugs. Am J Med. 1998 Mar 30;104(3A):2S-8S; discussion 21S-22S.

[2] Simon LS, Hatoum HT, Bittman RM, Archambault WT, Polisson RP. Risk factors for serious nonsteroidal-induced gastrointestinal complications: regression analysis of the MUCOSA trial. Fam Med. 1996 Mar;28(3):204-10.

[3] Yeomans ND. Approaches to healing and prophylaxis of nonsteroidal anti-inflammatory drug-associated ulcers. Am J Med. 2001 Jan 8;110(1A):24S-28S.

[4] Hawkey CJ, Karrasch JA, Szczepañski L, Walker DG, Barkun A, Swannell AJ, Yeomans ND. Omeprazole compared with misoprostol for ulcers associated with nonsteroidal antiinflammatory drugs. Omeprazole versus Misoprostol for NSAID-induced Ulcer Management (OMNIUM) Study Group. N Engl J Med. 1998 Mar 12;338(11):727-34.

[5] Yeomans ND, Tulassay Z, Juhász L, Rácz I, Howard JM, van Rensburg CJ, Swannell AJ, Hawkey CJ. A comparison of omeprazole with ranitidine for ulcers associated with nonsteroidal antiinflammatory drugs. Acid Suppression Trial: Ranitidine versus Omeprazole for NSAID-associated Ulcer Treatment (ASTRONAUT) Study Group. N Engl J Med. 1998 Mar 12;338(11):719-26.

[6] Leontiadis GI, Sreedharan A, Dorward S, Barton P, Delaney B, Howden CW, Orhewere M, Gisbert J, Sharma VK, Rostom A, Moayyedi P, Forman D. Systematic reviews of the clinical effectiveness and cost-effectiveness of proton pump inhibitors in acute upper gastrointestinal bleeding. Health Technol Assess. 2007 Dec;11(51):iii-iv, 1-164.

[7] Dajani EZ, Agrawal NM. Prevention and treatment of ulcers induced by nonsteroidal anti-inflammatory drugs: an update. J Physiol Pharmacol. 1995 Mar;46(1):3-16.


วันที่ตอบ : 04 ม.ค. 64 - 15:29:23




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110