ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
1. Tylenol 8 hour 2 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง สามารถใช้ลดไข้ได้ตลอด 8 ชั่วโมงหรือไม่ 2.

1. Tylenol 8 hour 2 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง สามารถใช้ลดไข้ได้ตลอด 8 ชั่วโมงหรือไม่ 2. Tylenol 8 hour 1 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง ในเด็ก เพื่อบรรเทาปวดสามารถใช้ได้หรือไม่


[รหัสคำถาม : 131] วันที่รับคำถาม : 05 พ.ย. 63 - 19:48:29 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาไทลินอล 8 ชั่วโมง (Tylenol 8 hours) เป็นยาในรูปแบบออกฤทธิ์นาน (extended release) ในยา 1 เม็ด มีตัวยาพาราเซตามอล 650 มิลลิกรัม ยานี้มีข้อบ่งใช้สำหรับลดไข้ บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยจากไข้หวัด ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดจากข้อเสื่อม[1-3]

ยาเม็ดชนิดนี้จะประกอบด้วยตัวยา 2 ชั้น ชั้นแรกมีตัวยาพาราเซตามอล 325 มิลลิกรัม ที่สามารถปลดปล่อยยาออกมาทันทีหลังจากรับประทานซึ่งเหมือนกับรูปแบบทั่ว ๆ ไป ส่วนชั้นที่สอง มีตัวยาพาราเซตามอล 325 มิลลิกรัมเช่นเดียวกัน แต่ตัวยาในชั้นที่สองนี้จะค่อย ๆ ปลดปล่อยออกมาและถูกดูดซึมอย่างช้า ๆ ไปสบทบกับยาส่วนแรก เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น[1-3]

เนื่องจากยาไทลินอล 8 ชั่วโมงเป็นยาที่อยู่ในรูปแบบที่มีการปลดปล่อยตัวยาออกมาอย่างช้า ๆ และถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 44 กิโลกรัมเท่านั้น และให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด การใช้ยานี้ต้องใช้ตามขนาดที่แนะนำ ดังนี้
• ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 44 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานครั้งละ 2 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้
• ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 44 กิโลกรัม หรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ให้ยานี้ เพราะจะได้รับยาเกินขนาดซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้
วิธีการใช้ยา ให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหักแบ่ง ห้ามบด ห้ามเคี้ยวหรือละลายยาก่อนรับประทานเพราะจะทำให้ยาปลดปล่อยออกมาทันทีทั้งหมดเม็ดละ 650 มิลลิกรัม ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาด[1-3]

มีการศึกษาถึงคุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์ ซึ่งเปรียบเทียบยา paracetamol ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน (extended release) กับ รูปแบบปลดปล่อยทันที (immediate release) พบว่า ค่า area under the concentration-time curve (AUC) ของยา ในรูปแบบ extended release และ immediate release มีค่าเท่ากับ 370.0±100.3 µg/ml/hr และ 418.9±98.0 µg/ml/hr ตามลำดับ (p = 0.0200) และ ค่าความเข้มข้นสูงสุดของยาในกระแสเลือด (Cmax) มีค่าเท่ากับ 62.3±16.8 µg/ml และ 100.2±25.3 µg/ml ตามลำดับ (p = <0.0100) ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนค่าอื่น ๆ เช่น เวลาที่ยาในกระแสเลือดมีความเข้มข้นสูงสุดหลังรับประทานยา (Tmax) และค่าครึ่งชีวิตของยา (T1/2) ไม่มีความแตกต่างกัน นอกจากนั้น ยังพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป 8 ชั่วโมง ระดับยาในกระแสเลือดของการให้ยาทั้งสองรูปแบบมีค่าใกล้เคียงกัน[4]

โดยสรุป ยาไทลินอล 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นยาในรูปแบบออกฤทธิ์นาน (extended release) ในยา 1 เม็ด มีตัวยาพาราเซตามอล 650 มิลลิกรัม ยานี้ให้ใช้ในผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 44 กิโลกรัมขึ้นไปเท่านั้น และไม่ให้ใช้ในเด็กหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 44 กิโลกรัม เพราะจะได้รับยาเกินขนาดซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้[1-3] ขนาดยาที่แนะนำคือ รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้ การรับประทานยาให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหักแบ่ง ห้ามบด ห้ามเคี้ยวหรือละลายยาก่อนรับประทาน มีการศึกษาพบว่า การรับประทานยา paracetamol ในรูปแบบออกฤทธิ์นานทุก 8 ชั่วโมง ยังคงมีระดับยาในเลือดไม่แตกต่างกับ immediate release ซึ่งรับประทานทุก 4 ชั่วโมง[4] จากการสืบค้นข้อมูลไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา paracetamol รูปแบบออกฤทธิ์นานโดยรับประทาน 1 เม็ด (650 มิลลิกรัม) ทุก 8 ชั่วโมง และไม่พบการศึกษาการใช้ยารูปแบบนี้ในเด็ก

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย การใช้ยาในเด็กควรเลือกใช้ยาในรูปแบบสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น รูปแบบยาน้ำเชื่อม และคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัวเด็ก สำหรับ paracetamol ขนาดยาที่แนะนำโดยทั่วไปคือ 10-15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมงเมื่อมีไข้หรือปวด[5] (ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน และรับประทานไม่เกิน 3 วันสำหรับลดไข้และไม่เกิน 5 วันสำหรับบรรเทาอาการปวด) และควรใช้อุปกรณ์ตวงยาที่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญคือ ระมัดระวังการใช้ยาสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบซึ่งหาซื้อได้ง่าย (เช่น ยาบรรเทาอาการไข้หวัด ไอ เป็นต้น) เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับยาซ้ำซ้อนและยาเกินขนาด[3]

เอกสารอ้างอิง
1. เอกสารกำกับยาสำหรับแพทย์ภาษาอังกฤษ TYLENOL® 8 hour extended release caplet. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/drug_detail_corporation/doc/word/740/1c76716c6839f1dd33fe484b7aaeecf4-a1.pdf
2. เอกสารกำกับยา พาราเซตามอล 650 มิลลิกรัม ชนิดเม็ดออกฤทธิ์นาน ไทลินอล® 8 ชั่วโมง. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/drug_detail_corporation/doc/word/740/c212042170429f26731a55408ba58cf8-a1.pdf
3. คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแก้ไขทะเบียนตำรับยาที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ชนิดรับประทาน. เอกสารกำกับยาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์พาราเซตามอล ๖๕๐ มิลลิกรัม ชนิดเม็ดออกฤทธิ์นาน. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2563]. เข้าถึงได้จาก:http://www.lpnh.go.th/newlp/wpcontent/uploads/2011/06/329-60.pdf
4. D R Douglas, J B Sholar, M J Smilkstein. A Pharmacokinetic Comparison of
Acetaminophen Products (Tylenol Extended Relief vs Regular Tylenol). Clinical Trial Acad Emerg Med. 1996;3(8):740-4.
5. Paracetamol. In: DRUGDEX® System [database on the internet]. Greenwood
Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 2020 June 20]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com/micromedex2/librarian.
วันที่ตอบ : 05 พ.ย. 63 - 19:56:00




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110