ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ปรับยา propanolol ใน migraine prophylaxis อย่างไรคะ

ปรับยา propanolol ใน migraine prophylaxis อย่างไรคะ

[รหัสคำถาม : 137] วันที่รับคำถาม : 08 พ.ย. 63 - 18:28:40 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ไมเกรน (migraine) เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทเรื้อรัง ที่มีอาการปวดศีรษะนาน 4-72 ชั่วโมง ปวดศีรษะข้างเดียว เป็นจังหวะ ปวดปานกลางถึงรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน กลัวแสงหรือกลัวเสียง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนำ (aura) เช่น เห็นแสงวูบวาบ การพูดผิดปกติ เกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงก่อนมีอาการปวดศีรษะตามมา การปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งตามความถี่ของการกำเริบ ได้เป็น ปวดศีรษะไมเกรนเป็นครั้งคราว (episodic migraine) โดยมีอาการปวดศีรษะไมเกรน < 15 วันต่อเดือน และปวดศีรษะไมเกรนแบบเรื้อรัง (chronic migraine) โดยมีอาการปวดศีรษะไมเกรน ≥ 15 วันต่อเดือน และมีอาการติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน[1] โดย chronic migraine อาจส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง การป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนตั้งแต่ระยะ episodic migraine จะช่วยป้องกันการพัฒนาไปเป็น chronic migraine ได้[1] ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้มีการป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน (migraine prophylaxis) ในผู้ป่วยที่อาการปวดศีรษะไมเกรนจนรบกวนชีวิตประจำวัน คือ ในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ≥ 4 ครั้งต่อเดือน และไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงหรือไม่ตอบสนองต่อยารักษาอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน หรือมีลักษณะอาการของไมเกรนบางชนิด เช่น hemiplegic migraine, migraine with brainstem aura เป็นต้น[1][2] โดยยาที่แนะนำสำหรับการป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนตามคำแนะนำจาก American Family Physician ปี 2019 พบว่ายากันชัก เช่น divaproex sodium, sodium valproateและ Topiramate ยากลุ่ม beta – blockers เช่น metoprolol, propranolol และ timolol และยากลุ่ม triptans เช่น frovatriptan) ได้รับคำแนะนำให้ใช้เป็นยาลำดับแรก ๆ ส่วนยาในกลุ่ม antidepressants ได้แก่ amitriptyline และ venlafaxine) ยากลุ่ม beta – blockers ชนิดอื่น ๆ ได้แก่ atenolol และ nadolol) ได้รับคำแนะนำรองลงมา[1][2] ในขณะที่ Journal of Headache Pain ปี 2010 แนะนำยาสำหรับการป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ ยากลุ่ม beta – blockers ได้แก่ atenolol, bisoprolol, metoprolol, propranolol, topiramate, flunarizine, sodium valproate และ amitriptyline[3]
Propranolol สามารถป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ โดยมีขนาดยาเริ่มต้น 80 mg/day[1][3][5][6] และค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาขึ้น 20-40 mg/dose[6] ทุก 2-4 สัปดาห์[1] จนสามารถควบคุมอาการได้หรือปรับถึงขนาดยาสูงสุดคือ 160-240 mg/day[1][5][6] ในระหว่างที่ปรับขนาดยา propranolol สามารถติดตามประสิทธิภาพของการรักษาได้จากจำนวนครั้งของการปวดศีรษะไมเกรนภายใน 1 เดือนควรลดลง[1][7] และควรติดตามอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น dizziness, bradycardia, depression, fatigue, hypotension, impotence, nightmares, lethargy เป็นต้น[1] โดยพบรายงานการเกิดอาการ fatigue, dizziness และ nausea เป็น 24%, 16% และ 4% ตามลำดับ ในการใช้ยาขนาด 80 mg/day[8] นอกจากนั้น ควรติดตาม heart rate และ blood pressure ของผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้นให้ยาและในระหว่างการปรับขนาดยา[1][5][6] หากผู้ป่วยมี heart rate น้อยกว่า 60 beats/min[9] หรือมี systolic blood pressure น้อยกว่า 80 mmHg ควรหยุดยาทันที[10] เนื่องจาก อาจทำให้เกิดภาวะ bradyarrhythmias หรือ sinus bradycardia ได้[9] ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายใน 2 เดือนหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงจากยาได้ แนะนำให้พิจารณาเปลี่ยนไปใช้ยาในกลุ่ม อื่น หรือใช้ยาในรูปแบบ combination แทน อย่างไรก็ตาม หากควบคุมอาการได้อย่างน้อย 6-12 เดือน หลังจากใช้ propranolol ผู้ป่วยสามารถหยุดใช้ยาได้โดยค่อย ๆ ลดขนาดยาลงในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรหยุดยาทันที[1][5][6] นอกจากนี้ propranolol มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคร่วมเป็น asthmaหรือ COPD[1][4][5] ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมดังกล่าวจึงควรใช้ยากลุ่มอื่นในการป้องกันไมเกรน
เอกสารอ้างอิง
1. Ha H, Gonzalez A. Migraine Headache Prophylaxis. Am Fam Physician. 2019 Jan 1;99(1):17-24.
2. American Headache Society. The American Headache Society Position Statement On Integrating New Migraine Treatments Into Clinical Practice. Headache. 2019 Jan;59(1):1-18.
3. Antonaci F, Dumitrache C, De Cillis I, Allena M. A review of current European treatment guidelines for migraine. J Headache Pain. 2010 Feb;11(1):13-9
4. สมศักดิ์ เทียมเก่า. การใช้ยาอาการปวดศีรษะ. วารสารประสาทวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2562;14:49-73
5. Propranolol : Drug information [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020. [cited 2020 Dec 22]. Available from: http://www.uptodate.com.
6. American Pharmacists Association. Drug Information Handbook with International Trade Names Index . 26th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2017: 856.
7. Holroyd KA, Cottrell CK, O'Donnell FJ, Cordingley GE, Drew JB, Carlson BW, Himawan L. Effect of preventive (beta blocker) treatment, behavioural migraine management, or their combination on outcomes of optimised acute treatment in frequent migraine: randomised controlled trial. BMJ. 2010 Sep 29;341:c4871.
8. Nambiar N, Aiyappa C, Srinivasa R. Oral riboflavin versus oral propranolol in migraine prophylaxis: an open label randomized controlled trial. Neurol Asia. 2011;16:223–9.
9. Homoud MK. Sinus bradycardia [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020. [cited 2020 Dec 22]. Available from: http://www.uptodate.com.
10. Çavuşoğlu Y, Altay H. Practical approaches for the treatment of chronic heart failure: Frequently asked questions, overlooked points and controversial issues in current clinical practice. Anatol J Cardiol 2015; 15 Suppl 2: 1–60.
วันที่ตอบ : 21 มี.ค. 64 - 20:53:32




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110