ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
คนไข้เป็นเชื้อราในปากและใส่ tube ทางปาก สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษารูปแบบใดไ

คนไข้เป็นเชื้อราในปากและใส่ tube ทางปาก สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษารูปแบบใดได้บ้าง

[รหัสคำถาม : 140] วันที่รับคำถาม : 12 พ.ย. 63 - 15:02:26 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

เชื้อราในช่องปาก (oropharyngeal candidiasis) เป็นโรคติดเชื้อเฉพาะที่ที่พบได้บ่อยและมักมีสาเหตุเกิดจากเชื้อ Candida albicans มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (ผู้ป่วยโรคเอดส์ มะเร็งเม็ดเลือด) ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษาที่ศีรษะและคอ ได้รับยารับประทานกลุ่มยาปฏิชีวนะหรือกลุ่ม corticosteroids[1] หรือใส่ท่อช่วยหายใจ[2]

จากรายงานการศึกษาความไวของเชื้อราต่อยาต้านเชื้อราในผู้ป่วยวิกฤต พบว่า เชื้อราชนิดต่างๆ รวมทั้ง Candida albicans ไวต่อยา nystatin (97.9%) amphotericin B (72.3%) fluconazole (72.3%) และ ketoconazole (57.5%)[2] อย่างไรก็ตามจากรายงานการศึกษาทางคลินิกโดยการรวบรวมการศึกษารูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) และทำการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ต่อประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้อราแต่ละชนิดในการรักษาภาวะติดเชื้อราในช่องปาก พบว่า ยารับประทาน fluconazole มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด รองลงมาคือ ยาอม clotrimazole (clotrimazole lozeng) และยาใช้เฉพาะที่ในช่องปาก ได้แก่ เจลทาปาก miconazole (miconazole oral gel) และยาน้ำแขวนตะกอน nystatin (nystatin oral suspension) ตามลำดับ[3]

บัญชียาหลักแห่งชาติปี พ.ศ. 2566 ได้บรรจุกลุ่มยาสำหรับการรักษาภาวะติดเชื้อราในช่องปากไว้ในบัญชี ก. ซึ่งเป็นรายการยามาตรฐานที่ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย มีหลักฐานชัดเจนที่สนับสนุนการใช้ มีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยอย่างเพียงพอ โดยให้เลือกใช้ยาอม clotrimazole และยาใช้เฉพาะที่ในช่องปากกลุ่มเจลทาปาก miconazole และยาน้ำแขวนตะกอน nystatin เป็นอันดับแรก ตามข้อบ่งใช้ของยาสำหรับรักษาภาวะติดเชื้อราในช่องปาก และให้ใช้ยารับประทาน fluconazole ในกรณีที่มีการติดเชื้อราแบบรุนแรงที่มีการรุกรานของเชื้อเข้าไปในกระแสเลือดรวมทั้งในเนื้อเยื่อของอวัยวะของร่างกาย (invasive fungal infection)[4] หรือในผู้ป่วยที่เสี่ยงจากการสำลัก มีภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอม clotrimazole หรือยาใช้เฉพาะที่ในช่องปาก ภายใน 5-7 วัน[1]

แนวทางการรักษาตามกลุ่มผู้ป่วย
กรณีผู้ใหญ่:
กรณีติดเชื้อราที่ไม่รุนแรง: แนะนำให้ใช้ยาอม clotrimazole หรือผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้เฉพาะที่รักษานาน 7-14 วัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 3 วัน
กรณีติดเชื้อราที่รุนแรง: ยารับประทาน fluconazole ขนาด 200 mg/day ในวันแรก หลังจากนั้นรับประทานขนาด 100-200 mg ในวันถัดๆไป เป็น เวลา 7-14 วัน สามารถเพิ่มเป็น 200-400 mg/day ได้ ในกรณีที่ยังไม่มีผลตอบสนองต่อการรักษาหรืออาจเปลี่ยนไปใช้ยา itraconazole ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนการใช้ในผู้ดื้อต่อการรักษาเช่นเดียวกัน[1]
กรณีเด็ก:
อายุ < 1 เดือน: Nystatin Oral suspension (100,000 units/ml) โดยจะให้ 0.5 ml ต่อข้างของทั้งสองฝั่งในปาก 4 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 5-10 วัน[5]
อายุ 1-11 เดือน: Nystatin suspension 200,000 units (100,000 units ต่อกระพุงแก้มแต่ละข้าง) วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 7-14 วัน
อายุมากกว่า 12 เดือน: Nystatin suspension 400,000-600,000 units วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 7-14 วัน โดยให้กลั้วให้นานที่สุด แล้วจึงกลืน[6]

ในคนไข้ผู้ใหญ่ที่ต้องใส่ tube ทางปาก อาจพิจารณาให้ผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้เฉพาะที่เจลทาปาก miconazole ในกรณีที่มีการติดเชื้อราที่ไม่รุนแรง และพิจารณาให้ยารับประทาน fluconazole ทางสายให้อาหารกรณีที่มีการติดเชื้อราในช่องปากที่รุนแรง โดยมีวิธีการบริหารยาดังนี้
1. ให้น้ำทางสายให้อาหาร
2. เขย่าขวดยาให้ยาเข้ากันเป็นเนื้อเดียวหากเป็นยาแขวนตะกอน แต่ถ้าหากเป็นแคปซูล ให้แกะแคปซูลออก
3. ดึงยาในปริมาณที่ต้องการด้วยกระบอกฉีดยา หากเป็นยาแขวนตะกอน
4. ให้ยาที่เตรียมไว้ทางสายให้อาหาร
5. ให้น้ำทางสายให้อาหารอีกครั้ง หลังให้ยา[7]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Kauffman CA, Baddley JW, Bogorodskaya M. Oropharyngeal candidiasis in adults. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA.(2023, Nov, 13).
[2]. Modrzewska BD, Kurnatowska, AJ, Khalid K. Drug susceptibility of fungi isolated from ICU patients. Ann Parasitol. 2017;63(3):189-198. doi: 10.17420/ap6303.105.
[3]. Fang J, Huang B, Ding Z. Efficacy of antifungal drugs in the treatment of oral candidiasis: A Bayesian network meta-analysis. J Prosthet Dent. 2021;125(2):257-265. doi: 10.1016/j.prosdent.2019.12.025.
[4]. MIMS. National list of essential medicines 2023 [database on the Internet]. [cited 2023, Nov, 14]. Available from: https://pubmiddleware.mims.com.
[5]. Pammi M, Armsby C. Treatment of candida infection in neonates. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (2023, Nov, 13).
[6]. Campbell JR, Palazzi DL, Blake D. Oropharyngeal candidiasis in children. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (2023, Nov, 13).
[7]. White R, Bradnam V. Handbook of drug administration via enteral feeding tubes 2007. [database on the Internet]. [cited 2023, Nov, 14]. Available from: chrome://external file/handbk_of_enteralfeeding.pdf.

วันที่ตอบ : 02 ม.ค. 67 - 14:36:45




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110