ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หากเด็กอายุ 3 ขวบ ท้องเสียจากการติดเชื้อ shigella จะมีแนวทางการรักษาอย่างไร

หากเด็กอายุ 3 ขวบ ท้องเสียจากการติดเชื้อ shigella จะมีแนวทางการรักษาอย่างไร

[รหัสคำถาม : 147] วันที่รับคำถาม : 28 พ.ย. 63 - 14:56:53 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคท้องร่วง (diarrhea) คือ ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวมากขึ้น จำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งต่อวัน หรือในกรณีที่สามารถวัดปริมาณอุจจาระได้คืออุจจาระเกิน 10 g/kg/day ในทารกหรือเด็กเล็ก ท้องร่วงเฉียบพลัน (acute diarrhea) หมายถึง ท้องร่วงที่เป็นมาไม่เกิน 7 วัน ท้องร่วงที่เป็นมานาน 8-13 วัน เรียกว่า ท้องร่วงยืดเยื้อ (prolonged diarrhea) และหากท้องร่วงเกิน 14 วันจัดเป็นท้องร่วงเรื้อรัง (persistent or chronic diarrhea)[1]

สาเหตุของโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย[1] ในกรณีโรคท้องร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อ Shigella spp. อาการที่พบ เช่น ไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน ในช่วงแรกอุจจาระมีลักษณะเป็นน้ำปริมาณมาก หลังจากนั้นจะมีมูกเลือดปนในอุจจาระ ปริมาณอุจจาระลดลงและกระปริดกระปรอย มีอาการปวดเบ่ง (tenesmus) ตามมา[2]

การรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อ Shigella spp. ประกอบด้วย การแก้ไขและป้องกันภาวะขาดน้ำ การเริ่มรับประทานอาหาร และการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ
1. การประเมินภาวะขาดน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลัน แนวทางการประเมินภาวะขาดน้ำขององค์การอนามัยโลกจะแบ่งภาวะขาดน้ำเป็น 3 ระดับคือ ไม่ปรากฏอาการขาดน้ำ ขาดน้ำปานกลาง และขาดน้ำรุนแรง การแก้ไขภาวะขาดน้ำสามารถทำโดยการให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทน เช่น 1) การใช้สารละลายเกลือแร่ในรูปแบบรับประทาน (oral rehydration solution, ORS) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำในระดับน้อยถึงปานกลาง แนะนำให้ใช้ ORS ที่เป็น hypotonic ที่มีความเข้มข้นของโซเดียม 45-50 mmol/L หรือ reduced osmolality ORS (RO-ORS) ซึ่งมีความเข้มข้นของโซเดียม 60-75 mmol/L และมี osmolality ต่ำกว่า 270 mOsm/L หรือ 2) การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ (intravenous rehydration therapy) สำหรับผู้ป่วยที่อาเจียนมาก ไม่สามารถดื่มสารน้ำได้หรือผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำระดับรุนแรงหรือมี ภาวะช็อก ในช่วงเริ่มต้นการรักษาควรเลือกให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ normal saline solution หรือ lactated Ringer’s solution หลังจากให้สารน้ำเบื้องต้นในช่วงแรกและทราบค่าอิเล็กโทรไลต์ในเลือดแล้วในระยะ maintenance แนะนำให้สารน้ำชนิด D5NSS หรือ D5NSS/2 ตามความผิดปกติของระดับโซเดียมในเลือด[1,2]
2. การเริ่มรับประทานอาหาร การเริ่มกินอาหารเร็วจะช่วยกระตุ้นการสร้างใหม่ของเซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กและ brush border disaccharidases ให้ฟื้นตัว เพิ่มการดูดซึมสารอาหารและทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยทั่วไป แนะนำให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย โดยให้กินในปริมาณน้อย ๆ และ บ่อย ๆ เพื่อลดอาการอาเจียน ไม่มีความจำเป็นต้องงดอาหาร ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากอาจทำให้ท้องร่วงมากขึ้น[1,2]
3. การใช้ยาปฏิชีวนะ หากเป็นการติดเชื้อ Shigella spp. ยาที่แนะนำคือ ciprofloxacin 20-40 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน แต่ถ้าหากอยู่ในพื้นที่ที่มีการดื้อ fluoroquinolones สูง อาจจะพิจารณาเป็นทางเลือก เช่น ceftriaxone IV หรือ IM 50 mg/kg/day เป็นเวลา 2-5 วัน หรือ azithromycin รูปแบบรับประทาน (12 mg/kg/day) ในวันแรก และต่อด้วย 6 mg/kg/day อีก 4 วัน ส่วน cefixime อาจใช้เป็นยาตัวเลือกได้แต่ควรคำนึงถึงความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อกลุ่มที่ผลิตเอนไซม์ extended spectrum beta-lactamase[1-3]

ถึงแม้ว่า ciprofloxacin ไม่ได้รับการรับรองจาก US FDA ให้ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี[4] แต่ American Academy of Pediatrics แนะนำให้ใช้ ciprofloxacin เป็นเวลา 3 วันเป็นทางเลือกในการรักษาท้องเสียจากการติดเชื้อ Shigella เมื่อยังไม่ทราบผลความไวของเชื้อ Shigella หรือในกรณีที่ทราบผลว่าเชื้อ Shigella ดื้อต่อยา ampicillin และ trimethoprim-sulfamethoxazole[5] การศึกษาแบบ systematic review เกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ ciprofloxacin ในเด็ก โดยรวบรวมจาก 105 การศึกษา มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเด็กทั้งหมด 16,184 ราย พบว่า มีการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ 1.6% (95% CI 0.9% - 2.6%) เช่น ปวดข้อ ข้อมีอาการบวม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีอาการข้อติด โดยมีระยะเวลาการติดตาม 1 สัปดาห์ถึง 50 เดือนหลังจากได้รับ ciprofloxacin แต่ผู้ป่วยทุกรายที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์อาการ ดีขึ้นเมื่อได้รับการจัดการที่เหมาะสม[6]

โดยสรุป เด็กที่มีอาการท้องร่วงจากการติดเชื้อ shigella ยาที่แนะนำคือ ciprofloxacin 20-40 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน แต่ถ้าหากอยู่ในพื้นที่ที่มีการดื้อ fluoroquinolones สูง อาจจะพิจารณาเป็นทางเลือก เช่น ceftriaxone IV หรือ IM 50 mg/kg/day เป็นเวลา 2-5 วัน หรือ azithromycin รูปแบบรับประทาน (12 mg/kg/day) ในวันแรก และต่อด้วย 6 mg/kg/day อีก 4 วัน การใช้ยากลุ่ม quinolones ในเด็ก ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ปวดข้อ ข้อบวม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการข้อติด

เอกสารอ้างอิง
1. สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับ. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก พ.ศ. 2562 [อินเตอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 14 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pthaigastro.org/Document/hz0tpx1bdldozf11z5minfimCPG_Blue.pdf
2. วรรษมน จันทรเบญจกุล, สุวพร อนุกูลเรืองกิตติ์, ธันยวีร์ ภูธนกิจ, ชิษณุ พันธุ์เจริญ, บรรณาธิการ. Drug-Resistant Organisms in Pediatrics: Diagnosis and Treatment [อินเตอร์เน็ต]. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 14 กรกฎาคม 2563] เข้าถึงได้จาก: https://ped.md.chula.ac.th/wp-content/uploads/2020/01/Drug-resistant-organisms-in-pediatrics.pdf
3. Phoebe C M Williams, James A Berkley. Guidelines for the treatment of dysentery (shigellosis): a systematic review of the evidence. Paediatr Int Child Health. 2018;38(sup1):S50-S65.
4. U.S. Food and Drug Administration. Package insert: Cipro (ciprofloxacinhydrochloride) [internet]. Silver Spring: U.S. Food and Drug Administration; [cited 2020 Nov 15]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/
2020/019537s091,020780s048lbl.pdf
5. American Academy of Pediatrics. Shigella Infections. In: Pickering LK, Baker CJ,
Kimberlin DW, et al. editor. Red Book: 2012 Report of the Committee on Infectious Diseases. Elk Grove Village, IL: American Academy of Pediatrics 2012;645-7.
6. Adefurin A, Sammons H, Jacqz-Aigrain E, Choonara I. Ciprofloxacin safety in paediatrics: a systematic review. Arch Dis Child. 2011;96(9):874-80.
วันที่ตอบ : 28 พ.ย. 63 - 15:05:03




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110