ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Glycerine borax รักษาเชื้อราในช่องปากได้ดีหรือไม่ครับ แล้วมียาตัวไหนที่ใช้ทดแทนไ

Glycerine borax รักษาเชื้อราในช่องปากได้ดีหรือไม่ครับ แล้วมียาตัวไหนที่ใช้ทดแทนได้บ้างครับ โรคนี้ต่างกับโรคซางอย่างไรครับ

[รหัสคำถาม : 152] วันที่รับคำถาม : 01 ธ.ค. 63 - 12:57:14 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคติดเชื้อราภายในช่องปาก (oral candidiasis) มีสาเหตุจากเชื้อราในกลุ่ม Candida species โดยเชื้อรา Candida albicans เป็นเชื้อสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด[1-4] อาการที่พบ เช่น เจ็บปวดหรือแสบร้อนบริเวณรอยโรค[3,4] มีเยื่อหนาสีขาวคลุมบนเยื่อบุช่องปาก ซึ่งสามารถขูดออกได้และเหลือเป็นรอยแดง อาจมีเลือดออก[1-3] ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีภาวะ xerostomia หรือใช้ยาพ่น steroid[1,2] จากแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปากของสมาคมโรคติดเชื้อในประเทศสหรัฐอเมริกา (Clinical Practice Guideline for the Management of Candidiasis: 2016 Update by the Infectious Diseases Society of America) แนะนำว่า ในกรณีที่มีอาการในระดับไม่รุนแรง แนะนำให้ใช้ยาเฉพาะที่ เช่น Clotrimazole รูปแบบยาอม (troches) หรือ Miconazole รูปแบบแผ่นยึดติดเยื่อบุช่องปาก (mucoadhesive buccal) เป็นลำดับแรก ส่วนยาที่ใช้รักษาเป็นลำดับรองลงมาคือ ยา Nystatin รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน (suspension) สำหรับกลั้วปากหรือรูปแบบยาอม ส่วนผู้ที่มีความรุนแรงของโรคระดับปานกลางถึงรุนแรง แนะนำให้ใช้ยา fluconazole ชนิดรับประทาน[5]
จากคู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม 2559 ได้ แนะนำให้ใช้ยา nystatin รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน (suspension) สำหรับกลั้วปาก เป็นลำดับแรก ส่วนยาที่ใช้รักษาหรือป้องกันโรคเชื้อราในช่องปากเป็นลำดับรองลงมาคือยา clotrimazole รูปแบบยาอม และยา Miconazole เป็นยารูปแบบเจล ให้ทาในช่องปากบริเวณที่ติดเชื้อรา[3]
สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV ที่เป็น oral candidiasis แนะนำให้รักษาเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยให้ใช้ยา fluconazole รูปแบบรับประทาน เป็นลำดับแรก ยาที่ใช้รักษาเป็นลำดับรองลงมาเป็นยารูปแบบเฉพาะที่ เช่น ยา clotrimazole และ miconazole ยารูปแบบเฉพาะที่มีข้อดีคือ ลดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารูปแบบรับประทาน ลดการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา ส่วนข้อเสียคือ รสชาติไม่พึงประสงค์และต้องบริหารวันละหลายครั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยได้ ยารับประทานที่เป็นยาทางเลือกอื่น ๆ เช่น itraconazole รูปแบบสารละลาย (solution) หรือ poconazole รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน (suspension) อย่างไรก็ตามยาทั้ง 2 ชนิดมีโอกาสเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาได้มากกว่ายา fluconazole รูปแบบรับประทาน[4]
จากแนวทางการรักษา oral candidiasis ดังกล่าวข้างต้น ไม่มีการระบุถึงการใช้ยา Glycerine borax ในการรักษาโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก และไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา Glycerine borax เพื่อรักษาโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก
ส่วนภาวะแผลร้อนในภายในช่องปาก (aphthous ulcer/stomatitis) มีลักษณะเป็นแผลตื้นรูปกลมภายในปาก ปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อสีขาวเหลือง มีวงสีแดงล้อมรอบรอยโรค และมีอาการปวดแสบ อาจมีแผลในช่องปากเพียงตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่ง ปกติรอยโรคจะหายภายใน 14 วัน[7] ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิด recurrent aphthous stomatitis เช่น ความเครียด การบาดเจ็บในช่องปาก พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ขาด vitamin B12 เป็นต้น การรักษาแผลภายในช่องปาก แนะนำให้รักษาความสะอาดภายในช่องปาก หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ส่วนยาที่ใช้คือ ยากลุ่ม steroids เช่น triamcinolone รูปแบบเฉพาะที่ และอาจใช้ยาบรรเทาอาการปวดแสบ เช่น 2% viscous lidocaine[8]
สำหรับการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาต้านเชื้อราชนิดต่าง ๆ ในการรักษา oral candidiasis ตัวอย่างเช่น
1) การศึกษาแบบ meta-analysis ซึ่งเปรียบเทียบ nystatin กับยาต้านเชื้อราอื่น ๆ หรือยาหลอก (placebo) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก โดยประเมินผลลัพธ์หลักจาก clinical cure rates และ mycological cure rates พบว่า กลุ่มที่ได้รับยา nystatin รูปแบบยาอม มี clinical cure rates และ mycological cure rates ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (clinical OR =5.24, 95% CI =1.37–20.08; mycological OR =8.50, 95% CI =2.14–33.84 ตามลำดับ)[9]
2 การศึกษาแบบ meta-analysis ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยา miconazole กับยาต้านเชื้อราชนิดอื่นหรือยาหลอก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก โดยประเมินผลลัพธ์หลักจาก clinical cure และ mycological cure พบว่า กลุ่มที่ได้รับยา miconazole มี clinical cure ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยา nystatin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (clinical OR = 13.00, 95% CI: 3.05–55.29) และกลุ่มที่ได้รับยา miconazole มี mycological cure ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยา nystatin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (mycological OR = 6.40, 95% CI: 1.38– 29.60) แต่เมื่อวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ไม่พบความแตกต่างระหว่างยา miconazole, nystatin, clotrimazole และ ketoconazole[10]
3) การศึกษาแบบ Randomized, Comparative, Double-Blind, Double-Dummy, Multicenter Trial เปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่าง miconazole รูปแบบยาอมใต้กระพุ้งแก้ม (buccal tablet) ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละครั้ง กับยา clotrimazole รูปแบบยาอม (troches) ขนาด 10 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วัน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อราภายในช่องปากร่วมกับติดเชื้อ HIV จำนวน 578 คน พบว่า กลุ่มที่ได้รับยา miconazole มี clinical cure rate ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยา clotrimazole[11]
โดยสรุป จากแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก (oral candidiasis) แนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อรา เช่นยา nystatin, clotrimazole, miconazole, fluconazole และไม่มีการระบุถึงการใช้ยา Glycerine borax ในการรักษาโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก รวมทั้งไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา Glycerine borax ในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก

เอกสารอ้างอิง
1. Kauffman CA. Clinical manifestations of oropharyngeal and esophageal candidiasis. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on July 02, 2020.)
2. Lodi G. Oral lesion (Oropharyngeal candidiasis). In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on July 02, 2020.)
3. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา สาขาทันตกรรม. (2559). คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2563,จาก http://www.dent.chula.ac.th/oral-diseases/medications/NationalListofEssentialMedicines.pdf
4. Panel on Guidelines for the Prevention and Treatment of Opportunistic Infections in Adults and Adolescents with HIV. Guidelines for the Prevention and Treatment of Opportunistic Infections in HIV-infected Adults and Adolescents: Recommendations from the Centers for Disease Control and Prevention, the National Institutes of Health, and the HIV Medicine Association of the Infectious Diseases Society of America. Available at http://aidsinfo.nih.gov/contentfiles/lvguidelines/adult_oi.pdf.
5. Pappas PG, Kauffman CA, Andes DR, Clancy CJ, Marr KA, Ostrosky-Zeichner L, et al. Clinical Practice Guideline for the Management of Candidiasis: 2016 Update by the Infectious Diseases Society of America. Clin Infect Dis. 2016 Feb 15;62(4):e1-50.
6. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. ตำราการรักษาโรคทั่วไป 1: แนวทางการตรวจรักษาโรคและการใช้ยา. เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2551.
7. Lodi G. Oral lesion (Aphthous ulcer). In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on July 02, 2020.)
8. Brice S. Recurrent aphthous stomatitis. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on July 09, 2020.)
9. Lyu X, Zhao C, Yan ZM, Hua H. Efficacy of nystatin for the treatment of oral candidiasis: a systematic review and meta-analysis. Drug Des Devel Ther. 2016 Mar 16;10:1161-71.
10. Zhang LW, Fu JY, Hua H, Yan ZM. Efficacy and safety of miconazole for oral candidiasis: a systematic review and meta-analysis. Oral Dis. 2016 Apr;22(3):185-95.
11. Vazquez JA, Patton LL, Epstein JB, Ramlachan P, Mitha I, Noveljic Z, et al. Randomized, comparative, double-blind, double-dummy, multicenter trial of miconazole buccal tablet and clotrimazole troches for the treatment of oropharyngeal candidiasis: study of miconazole Lauriad® efficacy and safety (SMiLES). HIV Clin Trials. 2010 Jul-Aug;11(4):186-96.



วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 63 - 13:10:07


No : 2

Glycerine borax มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียอย่างอ่อน (weak bacteriostatic) และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราอย่างอ่อน (weak fungistatic) (1) มีข้อบ่งใช้สำหรับแผลในปาก (oral ulcer)(2) จากการสืบค้นไม่พบการศึกษาแบบ randomized controlled trial เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก พบเพียงรายงานผู้ป่วยที่ใช้ glycerine borax สำหรับโรคริมฝีปากอักเสบ (refractory exfoliative cheilitis) พบว่าสามารถตอบสนองได้ดีต่อยา glycerine borax(3)
โรคเชื้อราในช่องปาก (oral thrush หรือ oral candidiasis) เป็นโรคไม่ติดต่อ เกิดจากการติดเชื้อราในช่องปากกลุ่ม Candida spp. ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวด หรือแสบร้อนในช่องปาก สามารถรักษาได้ด้วยการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราในกลุ่ม azoles คือ clotrimazole, miconazole, fluconazole, itraconazole และ posanazole และยาในกลุ่ม polyenes ได้แก่ nystatin(4-7)
โดยในผู้ป่วยที่อาการที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาโดยใช้ miconazole รูปแบบแผ่นติดเยื่อบุกระพุ้งแก้ม 50 mg หรือ ยาอม clotrimazole 10 mg 5ครั้ง/วัน หรือ อาจใช้ nystatin ในรูปแบบยาแขวนตะกอน กลั้วปากครั้งละ 4-6 ml นาน 2 นาที แล้วกลืน วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร และก่อนนอน หรือยาอม nystatin 1-2 ครั้ง โดยระยะเวลาในการใช้ยา คือ 14 วัน(6-7) ส่วนผู้ที่มีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรง แนะนำให้ใช้ยา fluconazole รูปแบบรับประทาน 100-200 mg เป็นเวลา 7-14 วัน(7)
จากการศึกษาประสิทธิภาพของยาต้านเชื้อราในแต่ละชนิดพบว่า ในการศึกษา meta-analysis ที่ได้เปรียบเทียบ nystatin กับยาต้านเชื้อราอื่น ๆ ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก พบว่า nystatin รูปแบบยาแขวนตะกอนมีผลลัพธ์ทาง clinical cure rates และ mycological cure rates ด้อยกว่า fluconazole และ miconazole อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการรักษา oral candidiasis ในผู้ป่วยทารก, เด็ก และผู้ป่วย HIV (8) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาที่ได้มีการรวบรวมจากฐานข้อมูลพบว่า miconazole ขนาด 50 มิลลิกรัม 1ครั้ง/วัน มีประสิทธิภาพมากกว่า nystatin ในผู้ป่วย pseudomembranous oral candidiasis ซึ่งnystatin ที่ใช้สำหรับการรักษา oral candidiasis ทั้งรูปแบบยาแขวนตะกอนและยาอม เป็นยาที่รสชาติไม่ดีทำให้ความร่วมมือในการรักษาโรคของผู้ป่วยลดลง อีกทั้งยังพบว่า fluconazole รูปแบบรับประทาน (100-200 mg, 1ครั้ง/วัน, 7-14 วัน) มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาที่ใช้สำหรับ oral candidiasis ที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงุ (9)
จากเนื้อหาข้างต้นจะเห็นได้ว่าโรคเชื้อราในช่องปากสามารถใช้ยาในกลุ่มต้านเชื้อราในการรักษาซึ่งแตกต่างกับโรคแผลร้อนในภายในช่องปาก (aphthous ulcer;โรคซาง) ที่อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน หรืออาจจะเกิดจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียด การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งการรักษาให้พิจารณาตามสาเหตุ (10)


เอกสารอ้างอิง
(1). Borax: indication, dosage, side effect, precaution | mims malaysia [Internet]. [cited 2020 Dec 21]. Available from: https://www.mims.com/malaysia/drug/info/borax?mtype=generic
(2). คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2662 [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 21 ธันวาคม 2563 ]. เข้าถึงได้จาก: https://pubmiddleware.mims.com/resource/document/B3E5D074-DFF7-4D38-8DF7-A52200A5680E/pdf/A15_A120_MIMS_4_2020_NLEM_WEB.pdf?client=MIMS%20Publication-Topic&email=&country=Thailand&referenceId=Thailand%20National%20List%20of%20Essential%20Medicines%20(NLEM)

(3). Thongprasom K. Glycerin borax treatment of exfoliative cheilitis induced by sodium lauryl sulfate: a case report. Acta Stomatol Croat. 2016 Jun 15;50(2):158–61. doi: 10.1564/asc50/2/9. Pubmed PMID: 27789914

(4). NHSinform. Oral thrush in adults [Internet]. [cited 2020 Dec 14]. Available from: https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/infections-and-poisoning/oral-thrush-in-adults

(5). Taylor M, Raja A. Oral Candidiasis. [Updated 2020 Apr 12]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2020 [cited 2020 Dec14]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK545282/

(6). คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา สาขาทันตกรรม. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 14 ธันวาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dent.chula.ac.th/oral-diseases/medications/NationalListofEssentialMedicines.pdf
(7). Pappas, Peter G., et al. Clinical Practice Guideline for the Management of Candidiasis: 2016 Update by the Infectious Diseases Society of America.” Clinical Infectious Diseases, vol. 62, no. 4 [Internet]. 2016; pp. e1–50. doi: 10.1093/cid/civ933.

(8). Lyu X, Zhao C, Yan ZM, Hua H. Efficacy of nystatin for the treatment of oral candidiasis: a systematic review and meta-analysis. Drug Des Devel Ther. 2016. doi: 10.2147/DDDT.S100795.
PubMed PMID: 270420

(9). Quindós G, Gil-Alonso S, Marcos-Arias C, et al. Therapeutic tools for oral candidiasis: Current and new antifungal drugs. Med Oral Patol Oral Cir Bucal. 2019;24(2):e172-e180. doi: 10.4317/medoral.2297. Pubmed PMID: 30818309

(10). DAVID RM. Management of Aphthous Ulcers [Internet]. 2000 [cited 2020 Dec14]. Available from: https://www.aafp.org/afp/2000/0701/p149.html








วันที่ตอบ : 30 ธ.ค. 63 - 12:29:32




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110