ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เป็นโรครูมาตอยด์มานานแล้ว ทราบว่ามีครีมที่ทำมาจากพริกที่สามารถรักษาโรคเก๊าและรูม

เป็นโรครูมาตอยด์มานานแล้ว ทราบว่ามีครีมที่ทำมาจากพริกที่สามารถรักษาโรคเก๊าและรูมาตอยด์ได้ อยากทราบว่ามีขายที่ไหนบ้าง และมีผลข้างเคียงอย่างไร

[รหัสคำถาม : 157] วันที่รับคำถาม : 01 ธ.ค. 63 - 13:42:57 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาครีมที่ทำมาจากพริก (Topical capsaicin) เป็นยาที่ใช้ทาภายนอกที่มี capsaicin เป็นสารสำคัญ มีข้อบ่งชี้ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ในการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ (Musculoskeletal pain) ที่มีอาการปวดระดับเล็กน้อย บรรเทาอาการปวดข้อจากโรคข้ออักเสบ (Arthritis) ที่มีอาการปวดระดับเล็กน้อย และบรรเทาอาการปวดจากภาวะ Neuropathic pain ที่เกี่ยวข้องกับ diabetic neuropathy หรือ postherpetic neuralgia[1],[2] ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยานี้ คือ อาการแสบร้อน หรือผื่นแดงบริเวณที่ทา หลังจากใช้ยานี้หากพบว่าเกิดแผลบริเวณผิวหนังที่ใช้ด้วยครีมนี้ เช่น มีอาการปวด บวมหรือตุ่มพอง ให้หยุดใช้ยา[1] ยาครีมที่ทำมาจากพริกจัดอยู่ในบัญชียาจากสมุนไพรของบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย ยานี้สามารถหาได้ตามร้านชำ/ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาแผนโบราณ หรือร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วไป [3] จากแนวเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2557[4] และแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555[5] ไม่ได้ระบุแนวทางการใช้ยา capsaicin รูปแบบที่ใช้ภายนอก ในการบรรเทาอาการโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเกาต์ อย่างไรก็ตามจากแนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อมในต่างประเทศ แนะนำให้ใช้ยา topical capsaicin ในกรณีที่เป็นโรคข้อเสื่อมที่ข้อเข่า ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่เป็นโรคข้อเสื่อมที่ข้อมือ[6] งานวิจัยที่ศึกษาการใช้ยาครีม Topical capsaicin ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม โดยเป็นงานวิจัยรูปแบบ Meta-analysis รวบรวมงานวิจัยรูปแบบ Randomized controlled trials จำนวน 5 งานวิจัย มาวิเคราะห์ร่วมกัน ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างการใช้ topical capsaicin เปรียบเทียบกับยาหลอก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม โดยประเมินระดับอาการปวดด้วยวิธี visual analog scales (VAS) ผลการศึกษาพบว่าหลังจากบริหารยาเป็นระยะเวลาเกิน 4 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับ topical capsaicin ลดระดับอาการปวด ได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.44 (Mean difference= 0.44, 95% CI 0.25-0.62, P < 0.00001) แต่ก็พบว่ากลุ่มที่ได้รับ topical capsaicin เกิดภาวะแสบร้อนระดับปานกลางในบริเวณที่ใช้ยามากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4.22 เท่า (OR=4.22, 95% CI 3.25-5.48, P=0.001)[7] โดยสรุป ครีมพริกจากการศึกษามีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยในโรคข้ออักเสบบางชนิดเช่น ข้อเสื่อม จึงมีการแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ส่วนการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบที่มีระดับความปวดปานกลางถึงมาก (เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์) ไม่มีการศึกษารองรับ ดังนั้นจึงไม่มีการแนะนำการใช้ครีมพริกในโรคข้ออักเสบดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง
1. Lexi-Comp, Inc. Capsaicin. In: Patient drug information.[Online]. Available from: UpToDate online;2020. [Cited 2020 Jun 17].
2. MICROMEDEX® [Database on the internet]. Colorado: Thomson Reuters (Healthcare); c2020. DRUGDEX® System, Capsaicin; [Cited 2020 Jun 17]. Available from: https://www.micromedexsolutions.com/micromedex2/librarian/PFDefaultActionId/evidencexpert.DoIntegratedSearch?navitem=topHome&isToolPage=true#
3. บัญชียาหลักแห่งชาติ. (2556). บัญชียาจากสมุนไพร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2563,จาก https://www.thairheumatology.org/wp-content/uploads/2016/08/Guideline-for-Management-of-Gout.pdf
4. สมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย. (2557). แนวเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอย์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2563,จาก https://www.thairheumatology.org/wp-content/uploads/2016/08/tra-guideline-ra-for-gp-2014.pdf
5. สมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย. (2555). แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2563,จาก https://www.thairheumatology.org/wp-content/uploads/2016/08/Guideline-for-Management-of-Gout.pdf
6. Kolasinski SL, Neogi T, Hochberg MC, Oatis C, Guyatt G, Block J, et al. 2019 American College of Rheumatology/Arthritis Foundation Guideline for the Management of Osteoarthritis of the Hand, Hip, and Knee. Arthritis Rheumatol. 2020 Feb;72(2):220-233.
7. Laslett LL, Jones G. Capsaicin for osteoarthritis pain. Prog Drug Res. 2014;68:277-91.

วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 63 - 13:53:57




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110