ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาอะไรที่ใช้ในการเพิ่มกระดูกอ่อน ในกรณีคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมครับ ช่วยบอกด้วยครับ

ยาอะไรที่ใช้ในการเพิ่มกระดูกอ่อน ในกรณีคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมครับ ช่วยบอกด้วยครับจะซื้อมาให้คุณแม่รับประทาน

[รหัสคำถาม : 158] วันที่รับคำถาม : 01 ธ.ค. 63 - 13:45:53 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาที่ใช้ในการจัดการโรคข้อเสื่อมเป็นยากลุ่มบรรเทาอาการปวด แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ กลุ่มยาออกฤทธิ์เร็ว ได้แก่ ยา paracetamol ยากลุ่ม NSAIDs กลุ่มที่ 2 ยาออกฤทธิ์ช้า หรือ Symptomatic slow acting drugs for osteoarthritis (SYSADOAs) ได้แก่ glucosamine, chondroitin sulphate และ diacerein โดยพิจารณาให้เสริมกับยากลุ่ม analgesics และ NSAIDs ในโรคข้อเสื่อมที่ไม่เฉียบเพลัน[1,2] งานวิจัยที่ศึกษาการใช้ยากลุ่ม SYSADOAs โดยงานวิจัยรูปแบบ Meta-analysis ในปี ค.ศ. 2010 ศึกษาผลต่อการบรรเทาอาการปวดและการเปลี่ยนแปลงทางภาพรังสีจากการใช้ glucosamine, chondroitin และยาหลอก (placebo) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ที่สะโพกและข้อเข่า จากการประเมินผลต่อการบรรเทาอาการปวดพบว่า กลุ่มที่ได้รับ glucosamine บรรเทาอาการปวดได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับ placebo -0.4 เซนติเมตร (Mean difference= -0.4 cm, 95% CI -0.7 to -0.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่สามารถบรรเทาปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก กลุ่มที่ได้รับ chondroitin บรรเทาอาการปวดได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับ placebo (Mean difference= -0.3 cm, 95% CI −0.7 to 0.0 cm) กลุ่มที่ได้รับยารูปแบบผสม glucosamine และ chondroitin บรรเทาอาการปวดได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับ placebo (Mean difference= -0.5 cm, 95% CI −0.9 to 0.0 cm) การประเมินการเปลี่ยนแปลงทางภาพรังสี กลุ่มที่ได้รับ glucosamine, chondroitin และยารูปแบบผสม มีความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงความกว้างข้อเข่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ placebo ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ คือ -0.2 (95% CI −0.3 to 0.0 mm), -0.1 (95% CI −0.3 to 0.1 mm) และ 0.0 (95% CI −0.2 to 0.2 mm) มิลลิเมตร ตามลำดับ[3] งานวิจัยรูปแบบ Meta-analysis ในปี ค.ศ. 2010 ทำการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างการใช้ diacerein เปรียบเทียบกับยาหลอก (placebo) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ผู้วิจัยประเมินผลลัพธ์หลักจากอาการปวดข้อที่ลดลง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับ diacerein ลดอาการปวดข้อได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.24 (Effect size= 0.24, 95% CI -0.39 to -0.08, P= 0.003)[4] การศึกษารูปแบบ double-blind randomised placebo-controlled clinical trial ในปี ค.ศ. 2015 ทำการศึกษาประสิทธิภาพของยา glucosamine, chondroitin, ยารูปแบบผสม glucosamine/chondroitin เปรียบเทียบกับยาหลอก (placebo) ในการลดภาวะเสื่อมของโครงสร้างข้อเข่า (structural disease) รวมถึงประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดข้อเข่า ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม (knee osteoarthritis) ผลการศึกษาติดตามกลุ่มตัวอย่าง 2 ปี กลุ่มที่ได้รับยารูปแบบผสม glucosamine/chondroitin ลด medial tibio-femoral joint space narrowing ได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก 0.10 มิลลิเมตร (Mean difference= 0.10 mm, 95% CI 0.002-0.20 mm) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่ได้รับยา glucosamine เดี่ยวหรือ chondroitin เดี่ยว ลด medial tibio-femoral joint space narrowing ได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[5] โดยสรุป จากแนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อมพบว่า ยังไม่มีการแนะนำให้ใช้ยาใดที่มีผลในการเพิ่มกระดูกอ่อน ยาหลักที่ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวด ยากลุ่ม SYSADOAs จะพิจารณาให้เสริมกับยากลุ่มบรรเทาอาการปวดในกลุ่มแรกเมื่อใช้แล้วไม่ได้ผลด้วยการหวังผลในด้านลดอาการปวด ผลการศึกษาประสิทธิภาพของยากลุ่ม SYSADOAs ในด้านบรรเทาอาการปวด ลดภาวะเสื่อมของโครงสร้างข้อเข่า (structural disease) และความกว้างของช่องว่างระหว่างข้อ ไม่ชัดเจนมีทั้งที่พบว่าได้ผลและไม่ได้ผล ดังข้อมูลข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
1. สมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย. (2553). แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (Guideline for the treatment of osteoarthritis of knee). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2563,จาก http://thairheumatology.org/attachfle/guidelineforthetreatment.pdf
2. Pavelka K, Bruyère O, Cooper C, Kanis JA, Leeb BF, Maheu E, Martel-Pelletier J, Monfort J, Pelletier JP, Rizzoli R, Reginster JY. Diacerein: Benefits, Risks and Place in the Management of Osteoarthritis. An Opinion-Based Report from the ESCEO. Drugs Aging. 2016 Feb;33(2):75-85.
3. Wandel S, Jüni P, Tendal B, Nüesch E, Villiger PM, Welton NJ, Reichenbach S, Trelle S. Effects of glucosamine, chondroitin, or placebo in patients with osteoarthritis of hip or knee: network meta-analysis. BMJ. 2010 Sep 16;341:c4675.
4. Bartels EM, Bliddal H, Schøndorff PK, Altman RD, Zhang W, Christensen R. Symptomatic efficacy and safety of diacerein in the treatment of osteoarthritis: a meta-analysis of randomized placebo-controlled trials. Osteoarthritis Cartilage. 2010 Mar;18(3):289-96.
5. Fransen M, Agaliotis M, Nairn L, Votrubec M, Bridgett L, Su S, et.al. Glucosamine and chondroitin for knee osteoarthritis: a double-blind randomised placebo-controlled clinical trial evaluating single and combination regimens. Ann Rheum Dis. 2015 May;74(5):851-8.
วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 63 - 14:06:22




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110