ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ถ้าเป็น Tonsillitis เคยไปหาหมอครั้งนึงแล้ว ได้ Azithromycin 500 สองกระปุกไปกินวั

ถ้าเป็น Tonsillitis เคยไปหาหมอครั้งนึงแล้ว ได้ Azithromycin 500 สองกระปุกไปกินวันละ 500 mg เป็นเวลา 10 วัน (มีประวัติแพ้ Ampicillin เป็นผื่นขึ้นทั้งตัวตอนเด็กๆ) อาการหายไปได้สองอาทิตย์แล้วกลับมาเป็นใหม่ ครั้งนี้ได้ให้ Azithromycin 500 สองกระปุกเหมือนเดิม แต่คราวนี้แพทย์สั่ง Cefixime เพิ่มให้กิน 200 mg เช้า เย็น อยากทราบว่าทานได้ไหมครับหรือไม่ควรทาน

[รหัสคำถาม : 165] วันที่รับคำถาม : 29 ธ.ค. 63 - 14:15:25 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ต่อมทอนซิลอักเสบมีสาเหตุเกิดได้จากไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส (ร้อยละ 80-90) เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลัก ได้แก่ rhinovirus ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญ ได้แก่ เชื้อ beta-hemolytic Streptococcus group A (GAS) ในกรณีที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาที่ควรใช้รักษาเป็นอันดับแรก คือ ยากลุ่ม penicillins ได้แก่ ยา penicillin V หรือ amoxicillin[1]
จากการสืบค้นข้อมูลการศึกษาในการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ มีดังนี้ การศึกษาของ Müller และคณะ (1996) เป็นการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างยา azithromycin และ roxithromycin ในอาสาสมัคร 440 คน ที่มีต่อมทอนซิลหรือคออักเสบจากการติดเชื้อ GAS ขนาดยาที่ใช้ คือ ยา azithromycin 500 mg วันละ 1 ครั้ง นาน 3 วัน และยา roxithromycin 150 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 10 วัน พบว่า ยา azithromycin มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะต่อมทอนซิลหรือคออักเสบจากการติดเชื้อ GAS ได้ 100% สำหรับยา roxithromycin มีประสิทธิภาพการรักษาภาวะดังกล่าวได้ 94% สรุปได้ว่าการรักษาภาวะต่อมทอนซิลหรือคออักเสบจากในการติดเชื้อ GAS ยา azithromycin มีประสิทธิภาพมากกว่า roxithromycin[2] ส่วนการศึกษาของ Rush และคณะ (2003) เป็นการศึกษาประสิทธิภาพ amoxicillin-clavulanate, azithromycin และ cefixime ในการรักษาคออักเสบจากการติดเชื้อ GAS บริเวณลำคอในเด็กอายุ 2-9 ปี ที่ถูกยืนยันด้วยผลการเพาะเชื้อ มีการสุ่มให้รับยา cefixime (8mg/kg/day) นาน 10 วัน หรือ amoxicillin-clavulanate (90 mg/kg/day) นาน 10 วัน หรือ azithromycin (12 mg/kg/day) นาน 5 วัน พบว่า ยา amoxicillin-clavulanate มีประสิทธิภาพในการรักษา 100%, azithromycin 90%, cefixime 86% สรุปได้ว่าการรักษาคออักเสบจากการติดเชื้อ GAS ยา amoxicillin-clavulanate มีประสิทธิภาพมากกว่ายา azithromycin และ cefixime ตามลำดับ[3]
จากแนวทางการรักษาโรคคออักเสบของ Infectious Diseases Society of America (IDSA) (2012) สำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม penicillins ให้ใช้ยา azithromycin 500 mg วันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน หรือ clindamycin 300 mg วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วัน หรือ clarithromycin 250 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 10 วัน[4] สำหรับแนวทางการรักษาโรคดังกล่าวในประเทศไทยจากคู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (พ.ศ.2558) แนะนำว่าผู้ที่แพ้ยากลุ่ม penicillins ควรใช้ยา roxithromycin ขนาด 500 mg วันละ 1 ครั้ง นาน 10 วัน[1,5] แต่ยังไม่พบข้อมูลการใช้ยา azithromycin ร่วมกับ cefixime ในการรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ อย่างไรก็ตามจากแนวทางการรักษาโรคคออักเสบจากการติดเชื้อ GAS ในประเทศไทย พบว่าหากผู้ป่วยแพ้ยา penicillins สามารถเลือกใช้ยา roxithromycin แทนได้[1,4,5]


เอกสารอ้างอิง
1. วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์ . แนวปฏิบัติการจ่ายยตานจุลชีพอย่างสมเหตุผลในอาการหวัดเจ็บคอ ท้องเสีย และแผลสด. ใน: วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์, บรรณาธิการ. การใช้ยาสมเหตุผลในร้านยา (Rational Drug Use in Community Pharmacy: RDU Pharmacy). กรุงเทพมหานคร: คณะทำงานวิชาการเพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลในร้านยา; 2560.
2. Müller O. An open comparative study of azithromycin and roxithromycin in the treatment of acute upper respiratory tract infections. J Antimicrob Chemother. 1996 Jun;37 Suppl C:83-92. doi: 10.1093/jac/37.suppl_c.83. PMID: 8818849.
3. Rush C, Simon MW. The effect of amoxicillin-clavulanate, cefixime and azithromycin on normal throat flora in children with group A streptococcal pharyngitis. Clin Pediatr (Phila). 2003 Jun;42(5):447-9. doi: 10.1177/000992280304200511. PMID: 12862350.
4. Clinical Practice Guideline for the diagnosis and management of group A streptococcal pharyngitis: 2012 update by the Infectious Diseases Society of America. Clin Infect Dis 2012;55:1279-82.
5. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล. คู่มือการดำเนินงาน โครงการโรงพยาบาลส่งเสริม การใช้ยาอย่างสมเหตุผล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2558. หน้า 85-86.

วันที่ตอบ : 29 ธ.ค. 63 - 14:18:34




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110