ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Bisoprolol ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้หรือไม่ หรือใช้ยาตัวไหนในกลุ่มเดียวกันปลอดภัยที่

Bisoprolol ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้หรือไม่ หรือใช้ยาตัวไหนในกลุ่มเดียวกันปลอดภัยที่สุด

[รหัสคำถาม : 169] วันที่รับคำถาม : 29 ธ.ค. 63 - 22:40:16 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา bisoprolol เป็นยากลุ่ม beta-blockers ที่มีความจำเพาะต่อหัวใจ มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตกลุ่มอื่นๆ(1) โดยยานี้ถูกจัดอยู่ในยาที่สตรีมีครรภ์ใช้อาจทำให้ไม่ปลอดภัย(2) เนื่องจากมีการรายงานการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์พบว่าการใช้ยา bisoprolol มีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ หากใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ อีกทั้งยังมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า และลดน้ำหนักของทารกในครรภ์ได้(3) ส่วนการใช้ใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแท้ง และความผิดปกติต่อทารก(4) ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยา bisoprolol ในหญิงตั้งครรภ์ และหากผู้ป่วยมีข้อบ่งใช้ในการใช้ยานี้ แนะนำให้ใช้ยาตัวอื่นในกลุ่ม หรือยาในกลุ่มอื่นที่แนะนำในหญิงตั้งครรภ์แทน(2)
ในปัจจุบันยาในกลุ่ม beta-blockers ที่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ ยา labetalol และ metoprolol เป็นทางเลือกแรกในการรักษา และอาจพิจารณาใช้ acebutolol, pindolol หรือ propranolol ได้ จากการศึกษาเปรียบเทียบยาในกลุ่ม beta-blockers พบว่ายาที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อทารกต่ำที่สุดคือ propranolol และพบว่ายา metoprolol และ propranolol ไม่ทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(5)
จากข้อมูลทั้งหมดจึงสามารถสรุปได้ว่ายา bisoprolol ไม่แนะนําให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะการใช้ในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และยาในกลุ่ม beta-blockers ที่ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์มากที่สุด ได้แก่ยา propranolol

เอกสารอ้างอิง
1. Briggs GG, Freeman RK, Towers CV, Forinash AB. Drugs in pregnancy and lactation: a reference guide to fetal and neonatal risk. 11th ed. Baltimore: Williams & Wilkins; 2017; 157-8.
2. Bisoprolol. In: Pregnancy and Lactation [Database on the Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2020 [cited 2020 Dec 18].
3. Wickersham RM, Novak KK, Horenkamp JR, McCarron SM, Schweain SL, editors. Drug facts and comparisons. Missouri: Wolters Kluwer Health; 2016; 896-900.
4. Hoeltzenbein M, Fietz AK, Kayser A, et al. Pregnancy outcome after first trimester exposure to bisoprolol: an observational cohort study. J Hypertens. 2018;36(10):2109-2117.
5. Duan L, Ng A, Chen W, Spencer HT, Lee MS. Beta-blocker subtypes and risk of low birth weight in newborns. J Clin Hypertens (Greenwich). 2018;20(11):1603-1609.
วันที่ตอบ : 30 ธ.ค. 63 - 08:49:51




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110