ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Tafluprost กับ Latanoprost มีความแตกต่างกันอย่างไร

Tafluprost กับ Latanoprost มีความแตกต่างกันอย่างไร

[รหัสคำถาม : 17] วันที่รับคำถาม : 13 ม.ค. 63 - 14:21:08 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Latanoprost และ Tafluprost เป็นยากลุ่ม PGF2α analogues ที่เตรียมอยู่ในรูปแบบยาหยอดตา ใช้ในการรักษาต้อหินมุมเปิด หรือภาวะความดันในลูกตาสูง (intraocular pressure: IOP)[1,2]โดยต้อหินมุมเปิด (open angle glaucoma) จะพบในผู้ป่วยที่มีช่องว่างระหว่างช่องลูกตาหน้า (Anterior chamber) และมุมระบายน้ำเลี้ยงตามีความกว้างปกติ แต่ตะแกรงระบายน้ำเลี้ยงลูกตา (Trabecular meshwork) เกิดการอุดกั้น ทำให้น้ำเลี้ยงลูกตาคั่ง เกิดภาวะความดันภายในลูกตาสูงกว่าปกติ ส่งผลให้ปลายประสาทตาเสื่อมและสูญเสียการมองเห็นได้[3]

Latanoprost และ Tafluprost ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับที่จำเพาะของ PGF2α นั่นคือ FP subtype ซึ่งปรากฏอยู่บริเวณเซลล์ต่างๆของดวงตา เมื่อยาจับกับตัวรับ FP subtype จะกระตุ้นกระบวนการ PLC-IP3-Ca2+ ทำให้ความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณดวงตัว (ciliary muscle) เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ trabecular meshwork cell ปลดปล่อยเอนไซม์ matrix metalloproteinases เพื่อมาย่อยองค์ประกอบต่างๆ ที่อุดกั้นทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ความดันในลูกตาจึงลดลง[4] lanoprost สามารถจับกับตัวรับอื่น นั่นคือ EP1 subtype ได้เล็กน้อย ในขณะที่ Tafluprost ไม่จับกับตัวรับย่อยชนิดอื่น ทำให้ tafluprost มีความจำเพาะต่อ FP subtype สูงกว่า latanoprost 12 เท่า[5] ดังนั้น tafluprost จึงมีขนาดยาที่ใช้ในการรักษาต่ำกว่า latanoprost ดังจะเห็นจากผลิตภัณฑ์ที่มีในประเทศไทยเช่น Xalatan® Lanotan® มีตัวยา latanoprost 0.005% (50µg/ml) มีส่วนผสมของสารกันเสีย benzalkonium chloride 0.5 mg ในขนาดบรรจุ 25 ml[9] Taflotan® มีตัวยา latanoprost 0.0015% (15µg/ml) มีส่วนผสมของสารกันเสีย benzalkonium chloride 0.01 mg ในขนาดบรรจุ 25 ml Taflotan-S® มีตัวยา latanoprost 0.0015% (15µg/ml) ในขนาดบรรจุ 0.3 ml ไม่เติมสารกันเสีย จึงเตรียมให้อยู่ในรูปแบบใช้ครั้งเดียว[10]
การศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาทั้ง 2 ชนิด พบว่าประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของ Tafluprost มีปริมาณของสารกันเสียต่ำกว่า จึงอาจมีผลไม่พึงประสงค์เนื่องจากยาน้อยกว่า ดังการศึกษาต่อไปนี้
- การศึกษาในผู้ป่วยต้อหินที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัย และไม่เคยได้รับการรักษามาก่อนหรือไม่ได้รับการรักษาก่อนเข้าร่วมงานวิจัยอย่างน้อย 6 เดือน พบว่าทั้งสองกลุ่มมีผลลดความดันในลูกตา (IOP) ไม่แตกต่างกัน[6] ในขณะที่อีกการศึกษาพบว่าหลังจากใช้ยาไปแล้ว 3 เดือน กลุ่มที่ได้รับ tafluprost มีค่าเฉลี่ยของ IOP ลดลง 4.12 mmHg ซึ่งลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ latanoprost อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P= 0.01)[7]
- การศึกษาด้านความปลอดภัยหลังจากมีการเปลี่ยนตัวยาจาก latanoprost 0.005% มาใช้ tafluprost 0.0015% ซึ่งมีปริมาณสารกันเสีย benzalkonium chloride ที่ต่ำกว่า โดยศึกษาในผู้ป่วยต้อหิน หรือผู้ป่วยที่มีความดันในลูกตาสูง ที่ได้รับการรักษาด้วยยาหยอดตา latanoprost 0.005% อย่างน้อย 3 เดือน จากนั้นสลับมาใช้ tafluprost 0.0015% และติดตามผลหลังจากใช้อย่างน้อย 3 เดือน พบว่าผลจากดวงตามีการสัมผัสสารกันเสียลดลง ทำให้ ความคงสภาพของน้ำตา (tear breakup time) การไหลเวียนของเลือด (hyperaemia) อาการข้างเคียงที่ประเมินโดยผู้ป่วย (สารคัดหลั่งจากตา อาการปวดตา ความรู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา ระคายเคืองตา คันตา ตาไม่สู้แสง น้ำตาไหล) ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (all P < 0.05)[8]
- ผลข้างเคียงต่อระบบร่างกาย (systemic side effects) ที่เหมือนกัน ได้แก่ ปวดศีรษะ เป็นหวัด ไอ ส่วนผลข้างเคียงอื่นที่พบหลังจากใช้ยา latanoprost เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หอบหืดหรือหอบหืดกำเริบ ปวดกล้ามเนื้อ ผื่นแพ้ยา กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น แต่ไม่มีการรายงานในกลุ่ม tafluprost[5]

โดยสรุป latanoprost และ tafluprost เป็นยากลุ่มเดียวกัน มีข้อบ่งใช้ วิธีและความถี่ในการบริหารยาเช่นเดียวกัน[1,2] ส่วนความแตกต่างมีดังนี้ (1) tafluprost มีความจำเพาะต่อการจับกับตัวรับที่ออกฤทธิ์ได้มากกว่า จึงทำให้ปริมาณยาในยาเตรียมยาน้อยกว่า แต่ผลด้านประสิทธิภาพรายงานว่า tafluprost กับ latanoprost ไม่แตกต่างกัน[6,8] (2) สูตรตำรับของ tafluprost 0.0015% ผลิตภัณฑ์ไม่มีการใส่สารกันเสีย benzalkonium chloride หรือใส่ในปริมาณที่น้อยกว่าสูตรตำรับของ latanoprost 0.005% จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อดวงตาน้อยกว่า เช่น อาการปวดตา ความรู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา ระคายเคืองตา คันตา ตาไม่สู้แสง น้ำตาไหล[8] (3) ยาทั้ง 2 ชนิดมีทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้เหมือนกัน เช่น ปวดศีรษะ เป็นหวัด ไอ ส่วนอาการที่พบในผู้ที่ใช้ latanoprost เท่านั้น ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หอบหืดหรือหอบหืดกำเริบ ปวดกล้ามเนื้อ ผื่นแพ้ยา กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น แต่ไม่มีการรายงานในกลุ่มผู้ใช้ tafluprost[5]

เอกสารอ้างอิง
[1] American pharmacists association. Drug information handbook with international trade names index. 25th edition. United States: Wolters Kluwer Clinical drug information; 2016. p1171.
[2] Kian CH, Pascual RD, Legaspi CD, Pico GM. MIMS PHARMACY patient counselling guide thailand. 19th edition.: UNISON; 2019. p119.
[3] สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป หลักการวินิจฉัยและรักษาโรค/280 โรคและการดูแลรักษา. กรุงเทพ: พิมพ์ดี; 2544. 611-3.
[4] Brunton LL, Chabner BA, Knollmann BC. Goodman & Gilman's The Pharmacological Basis of Therapeutics. 12th edition. New York: McGraw-Hill; 2011.p1787.
[5] McEvoy GK, editor. AHFS drug information 2014. Bethedsa (MD): American Society of Health-System Pharmacists; 2014.p2942-6.
[6] Fogagnolo, P., Dipinto, A., Vanzulli, E., Maggiolo, E., De Cilla', S., Autelitano, A., & Rossetti, L. A 1-year randomized study of the clinical and confocal effects of tafluprost and latanoprost in newly diagnosed glaucoma patients.” Advances in therapy .2015;32(4): 356-69.
[7] Park SH, Yoo SH, Ha SJ. Comparison of Ocular Pulse Amplitude-Lowering Effects of Tafluprost and Latanoprost by Dynamic Contour Tonometry. J Ocul Pharmacol Ther. 2015;31(10):617-22.
[8] Wong TT, Aung T, Ho CL. Ocular surface status in glaucoma and ocular hypertension patients with existing corneal disorders switched from latanoprost 0.005% to tafluprost 0.0015%: comparison of two prostaglandin analogues with different concentrations of benzalkonium chloride. Clin Exp Ophthalmol. 2018;46(9):1028-1034.
[9] Latanoprost. In: MIMS Online [database on the Internet]. MIMS Thailand; 2019 [cited October 30, 2019]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Latanoprost.
[10] Tafluprost. In: MIMS Online [database on the Internet]. MIMS Thailand; 2019 [cited October 30, 2019]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Tafluprost.

วันที่ตอบ : 14 ม.ค. 63 - 14:39:55




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110