ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หากตั้งครรภ์อยู่แต่มีอาการปวดหัวไมเกรน สามารถใช้ยา cafergot ได้หรือไม่ (ปกติก่อน

หากตั้งครรภ์อยู่แต่มีอาการปวดหัวไมเกรน สามารถใช้ยา cafergot ได้หรือไม่ (ปกติก่อนหน้าที่จะตั้งครรภ์เวลาเครียดแล้วแล้วทำให้ปวดไมเกรนจะใช้ยา cafergot อยู่) จึงอยากทราบว่าหากตั้งครรภ์อยู่จะสามารถใช้ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 174] วันที่รับคำถาม : 30 ธ.ค. 63 - 15:57:11 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยและรบกวนการดำเนินชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไมเกรนแบบไม่มีอาการเตือน (aura) และไมเกรนแบบมีอาการเตือน อาการของโรคปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ อาการปวดศีรษะแบบเป็นจังหวะ มักปวดศีรษะข้างเดียว และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ส่วนอาการเตือนที่พบได้ เช่น มองเห็นแสงแฟลช (photopsia) มองเห็นเป็นเส้นซิกแซก (fortification spectrum) มีอาการชา (paresthesias) เป็นต้น [1]
Cafergot ® เป็นชื่อการค้าของยา ergotamine tartrate 1 mg และ caffeine 100 mg [2] มีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน [3] สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ระบุไว้ว่า ergotamine อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อทารกในครรภ์ (fetal toxicity) หรือเกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ (teratogenicity) ซึ่งอาจเกิดจากการที่หลอดเลือดของมารดาและ/หรือทารกในครรภ์ถูกทำลาย [4] มีรายงานทารกแรกเกิดที่มีไตข้างเดียว ท่อปัสสาวะอุดตัน และปอดแฟบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ ergotamine ในการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนในระยะแรกของการตั้งครรภ์ [5] นอกจากนี้ ergotamine ยังมีคุณสมบัติทำให้มดลูกบีบตัว (oxytocic) [4] ซึ่งมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ [1, 3, 4, 6]
ยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกในการบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนระดับเล็กน้อยถึงปานกลางในหญิงตั้งครรภ์ คือ paracetamol โดยให้ใช้ในระยะสั้น [7] โดยปกติขนาดยา paracetamol ที่แนะนำให้ใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน คือ 1,000 มิลลิกรัม [1, 7, 8] รับประทานซ้ำทุก 4-6 ชม. [1] และไม่ควรใช้ยาเกิน 4,000 มิลลิกรัม/วัน ส่วนยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ซึ่งยา NSAIDs อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งเองในช่วงไตรมาสแรกและเพิ่มความเสี่ยงของการปิดของหลอดเลือด Ductus arteriosus ก่อนกำหนดเมื่อใช้ในช่วงไตรมาสที่สาม [8] โดยผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนควรพักผ่อนหรือนอนหลับในสภาพแวดล้อมที่มืดและเงียบ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น ความเครียด เสียงดัง ควันบุหรี่ ด้วย [1]


เอกสารอ้างอิง
1. Minor DS, Harrell TK. Headache disorders. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, editors. Pharmacotherapy: a pathophysiological approach. 10th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2017. p.927-35.
2. MIMS Online Thailand. Cafergot. Available at: https://www.mims.com/thailand/drug/info/cafergot. Accessed December 15, 2020.
3. MIMS Online Thailand. Ergotamine + Caffeine. Available at: https://www.mims.com/thailand/drug/info/ergotamine%20+%20caffeine?mtype=generic. Accessed December 15, 2020.
4. Briggs GG, Freeman RK, Towers CV, Forinash AB. Drug in Pregnancy and Lactation. 11th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2017: 511-3.
5. Demirel G, Oguz SS, Erdeve O, Dilmen U. Unilateral renal agenesis and urethral atresia associated with ergotamine intake during pregnancy. Ren Fail. 2012;34(5):643-4. doi: 10.3109/0886022X.2012.668156. Epub 2012 Mar 15. PMID: 22417229.
6. Ergotamine and caffeine: Drug information. In: Zand JM, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate. (Accessed on December 15, 2020.)
7. Scottish Intercollegiate Guidelines Network (SIGN). Pharmacological management of migraine. Edinburgh: SIGN; 2018. (SIGN publication no. 155). [February 2018]. Available from URL: http://www.sign.ac.uk
8. Toward Optimized Practice (TOP) Headache Working Group. 2016 September. Primary care management of headache in adults: clinical practice guideline: 2nd edition. Edmonton AB: Toward Optimized Practice. Available from: http://www.topalbertadoctors.org/cpgs/10065.

วันที่ตอบ : 31 ธ.ค. 63 - 09:54:55




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110