ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ปกติทานเพนนิโซนโลน 3 เม็ด เช้า เที่ยง เย็น ค่ะ จนถึงวันที่ 2 หน้าซองเขียนว่าให้ล

ปกติทานเพนนิโซนโลน 3 เม็ด เช้า เที่ยง เย็น ค่ะ จนถึงวันที่ 2 หน้าซองเขียนว่าให้ลดเหลือ 2 เม็ดหลังจากนี้ แต่ไม่ได้สังเกตค่ะ ทาน 3 มาตลอด แล้ววันนี้ยาหมดพอดี แต่อีก2 วัน หมอนัดค่ะ อยากทราบว่าถ้าไม่ได้ทานยา 2 วันนี้ มีผลข้างเคียงยังไงบ้างคะ

[รหัสคำถาม : 18] วันที่รับคำถาม : 13 ม.ค. 63 - 15:45:23 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ในภาวะปกติต่อมหมวกไตจะสร้างสารกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) เรียกว่า “endogenous glucocorticoids” ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมน 2 ชนิดคือ adrenocorticotrophic hormone (ACTH) หลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า และ corticotrophin releasing hormone (CRH) หลั่งจากสมองส่วนไฮโพทาลามัส โดยในการสร้าง endogenous glucocorticoids เริ่มจากไฮโพทาลามัสหลั่ง CRH ไปกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่ง ACTH จากนั้น ACTH จะกระตุ้นต่อมหมวกไตให้สร้าง glucocorticoids เรียกกระบวนการดังกล่าวว่า “Hypothalamic-pituitary-adrenal axis” (HPA axis) เมื่อ glucocorticoids ถูกสร้างขึ้นในปริมาณที่เพียงพอแล้ว glucocorticoids จะไปยับยั้งการหลั่ง CRH และ ACTH ด้วยกระบวนการ negative feedback ซึ่งจะส่งผลกดการทำงานของ HPA axis (HPA axis suppression) ทำให้ต่อมหมวกไตหยุดการสร้าง glucocorticoids[1]

Prednisolone เป็นยากลุ่ม glucocorticoids [2] ผู้ป่วยที่ใช้ยา Prednisolone อาจจะเกิดภาวะ HPA axis suppression ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะนี้ได้แก่ (1) ผู้ป่วยที่ได้รับยา prednisone มากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่ากับ prednisolone มากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อวัน) เป็นเวลามากกว่า 3 สัปดาห์ (2) ผู้ป่วยที่ได้รับ prednisone ในช่วงเย็นหรือก่อนนอน ปริมาณตั้งแต่ 5 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป นานหลายสัปดาห์ (3) ผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการคุชชิง(Cushing's syndrome)[3] ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะเกิดภาวะต่อมหมวกไตถูกกด ซึ่งการฟื้นตัวของต่อมหมวกไตจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน หรือผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาหลายปี การหยุดยาโดยทันทีโดยที่ต่อมหมวกไตยังฟื้นตัวไม่สมบูรณ์ จะเกิดภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องเฉียบพลัน ( Acute adrenal insufficiency) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงถึงชีวิต ดังนี้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ภาวะขาดน้ำ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ โพแทสเซียมในเลือดสูง อ่อนเพลีย ไม่รู้สึกตัว ความดันโลหิตต่ำ นอกจากนี้การหยุดยาโดยทันทีจะมีผลให้โรคเดิมของผู้ป่วยกำเริบได้ โดยภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องเฉียบพลัน หรือการกำเริบของโรค เรียกว่า การถอนยา (Withdrawal)[4]

เพื่อป้องกันการถอนยาในผู้ป่วยที่ใช้ยา glucocorticoids ในขนาดสูง และใช้เป็นเวลานาน การหยุดยาหรือลดขนาดยา จะค่อยๆลดขนาดลงในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยทั่วไปจะปรับลดขนาดยา 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้[3]

- ขนาดยาเริ่มต้นเทียบเท่ากับ prednisone 40 มก./วัน ลดขนาดยา 5 ถึง 10 มก./วัน ทุก 1-2 สัปดาห์
- ขนาดยาเริ่มต้นเทียบเท่ากับ prednisone 40 และ 20 มก./วัน ลดขนาดยา 5 มก./วัน ทุก 1-2 สัปดาห์
- ขนาดยาเริ่มต้นเทียบเท่ากับ prednisone 20 และ 10 มก./วัน ลดขนาดยา 2.5 มก./วัน ทุก 2-3 สัปดาห์
- ขนาดยาเริ่มต้นเทียบเท่ากับ prednisone 10 และ 5 มก./วัน ลดขนาดยา 1 มก./วัน ทุก 2-4 สัปดาห์
- ขนาดยาเริ่มต้นเทียบเท่ากับ prednisone 5 มก./วันหรือน้อยกว่า ลดขนาดยา 0.5 มก./วัน ทุก 2-4 สัปดาห์

โดยสรุปผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม glucocorticoids และคาดว่าจะเกิดภาวะ HPA axis suppression [3] ควรได้รับการปรับลดขนาดยาลงอย่างเหมาะสม หากหยุดยาโดยทันที หรือลดขนาดยาลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการกำเริบของโรค หรือภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องเฉียบพลันได้[4] ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ภาวะขาดน้ำ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง อ่อนเพลีย ไม่รู้สึกตัว ความดันโลหิตต่ำ[5] ดังนั้นกรณีผู้ป่วยอยู่ในช่วงการปรับลดขนาดยา prednisolone แต่ไม่ได้รับยาเป็นเวลา 2 วัน ผู้ป่วยอาจเกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวได้

เอกสารอ้างอิง
[1] Carroll TB, Aron DC, Findling JW, Tyrrell J. Glucocorticoids and Adrenal Androgens. In: Gardner DG, Shoback D. eds. Greenspan's Basic & Clinical Endocrinology, 10e New York, NY: McGraw-Hill; . http://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2178§ionid=166249274. Accessed November 06, 2019.
[2] American pharmacists association. Drug information handbook with international trade names index. 25th edition. United States: Wolters Kluwer Clinical drug information; 2016. p1703-5.
[3] Furst DE. Glucocorticoid withdrawal : Drug information. In: UpToDate. Post TW. Ed. Massachusetts: UpToDate; 2019.
[4] Brunton LL, Chabner BA, Knollmann BC. Goodman & Gilman's The Pharmacological Basis of Therapeutics. 12th edition. New York: McGraw-Hill; 2011.p 1224-8.


วันที่ตอบ : 14 ม.ค. 63 - 14:21:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110