ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Glutamate เป็น neurotransmitter ตัวหนึ่งใน CNS ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ ประเด็นคือ Gl

Glutamate เป็น neurotransmitter ตัวหนึ่งใน CNS ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ ประเด็นคือ Glutamate สามารถเป็น neuroprotective จาก ยาพวก Chemotherapy ได้จริงหรือไม่และอย่างไร

[รหัสคำถาม : 181] วันที่รับคำถาม : 03 ม.ค. 64 - 20:14:44 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กลูตาเมตเป็นสารสื่อประสาทสำคัญประเภทกระตุ้น ที่ถูกปลี่ยนรูปมาจากกลูตามีนที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมาเองหรือได้รับจากการรับประทานอาหารประเภทโปรตีน กลูตาเมตพบมากในเซลล์ประสาทและเซลล์ glia มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ แต่การมีระดับกลูตาเมตมากเกินไปในสมองในภาวะปกติจะก่อให้เกิดผลเสียที่ทำให้เซลล์ประสาทตายได้ จากกลไกที่คาดว่าเป็นผลกระตุ้นตัวรับ N-methyl-D-aspartate (NMDA) และตัวรับ α-amino-3-hydroxy-5-methyl-4-isoxazolepropionic acid receptor (AMPA) kinase ที่บริเวณปลายประสาทมากเกินไปจนทำให้เกิดการไหลเข้าเซลล์ประสาทของ Ca2+ ในปริมาณมากเกิน[1] นอกจากนี้ยังมีรายงานการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลำดับกรดอะมิโนที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของสายรหัสพันธุกรรมได้[2] ในทางตรงกันข้ามการขาดกลูตามีนก็ก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งที่มักจะเกิดภาวะเครียดที่เป็นผลให้มีระดับกลูตามีนลดลงและส่งผลลดความทนทานของเซลล์ปกติต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด[3] ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ ปลายประสาทเสื่อมจากเคมีบำบัด [chemotherapy-induced peripheral neuropathy (CIPN)][4] โดยเฉพาะจากเคมีบำบัดกลุ่ม platinums (เช่น cisplatin, carboplatin, oxaliplatin เป็นต้น) กลุ่ม taxanes (เช่น paclitaxel, docetaxel เป็นต้น) และกลุ่ม vinca alkaloids (เช่น vincristine, vinblastine เป็นต้น)[5] โดยมี อุบัติการณ์การเกิด CIPN ในกลุ่ม taxanes (2-33%)[6] กลุ่ม platinums (10%)[7] และกลุ่ม vinca alkaloids(1.6%)[8] ซึ่งการเกิด CIPN นี้ทำให้จำเป็นต้องลดขนาดยาเคมีบำบัดซึ่งส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งได้[3]
ในปัจจุบันรายงานการศึกษาทางคลินิกต่อประโยชน์ของการเสริมกลูตามีนและกลูตาเมตในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดมีจำนวนน้อยกว่า 10 การศึกษา จากรายงานการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมของ Wang WS และคณะ ในปีค.ศ. 2007 โดยให้กลูตามีนชนิดรับประทานขนาด 1,500 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง (3,000 มิลลิกรัม/วัน) ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย ที่ได้รับเคมีบำบัด oxaliplatin (กลุ่ม platinums) ทั้งหมด 86 ราย โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับการเสริมกลูตามีน 42 คนและไม่ได้รับ 44 คน พบว่า การเสริมกลูตามีนสามารถลดอุบัติการณ์การเกิด CIPN ระดับรุนแรงปานกลาง-รุนแรงได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.04) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ และไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาโรคของเคมีบำบัด[9] การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในปีค.ศ 2009 ที่ได้ทำการประเมินประโยชน์ของการเสริมกลูตาเมตในการป้องกันการเกิด CIPN จากเคมีบำบัด paclitaxel (กลุ่ม taxanes) ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่จำนวน 43 ราย โดยผู้ป่วย 23 คนได้รับกลูตามีนชนิดรับประทานตลอดระยะเวลาการรักษาในปริมาณวันละ 500 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง (1,500 มิลลิกรัม/วัน) และ 20 รายได้รับยาหลอก พบว่า การเกิดอาการ CIPN ของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[10]
ดังนั้นจากข้อมูลการศึกษาเท่าที่มีรายงานในปัจจุบัน ยังไม่สามารถสรุปประโยชน์ของการเสริมกลูตามีน หรือกลูตาเมตในการใช้เป็น neuroprotective ป้องกันหรือรักษา CIPN รวมทั้งประโยชน์ที่จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องปรับลดขนาดยาเคมีบำบัดจากการเกิด CIPN ได้แน่ชัด[11] จำเป็นต้องมีการติดตามข้อมูลประสิทธิภาพในการใช้ป้องกันและรักษา CIPN รวมทั้งขนาดยาที่เหมาะสมจากการศึกษาทางคลินิกที่มีคุณภาพระดับสูงเพิ่มเติม จากแนวทางปฏิบัติของ American Society of Clinical Oncology (ASCO) 2020 ระบุว่า ยังไม่มีผลิตภัณฑ์หรือยาใดที่มีการแนะนำให้ใช้ในการป้องกันหรือรักษา CIPN ในผู้ป่วยมะเร็ง และระดับคำแนะนำในการใช้กรดกลูตามิกหรือ กลูตามีนเสริมในผู้ป่วยที่ได้รับ carboplatin หรือ paclitaxel อยู่ในระดับ 2B ซึ่งหมายถึง มีการแนะนำให้ใช้ในระดับต่ำเนื่องจากโทษและประโยชน์ที่จะได้รับไม่แตกต่างกัน และคุณภาพของข้อมูลการศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง)[5] (หมายเหตุ: ระดับการแนะนำแบ่งเป็น ระดับ 1 คือ แนะนำอย่างมาก และระดับ 2 คือ แนะนำระดับต่ำ ระดับของคุณภาพของข้อมูลแบ่งเป็น A คือ คุณภาพข้อมูลระดับสูง B คือ คุณภาพของข้อมูลระดับปานกลาง และ C คือ คุณภาพของข้อมูลระดับต่ำ)

เอกสารอ้างอิง
[1] Brunton LL, Chabner BA, Knollmann BC. Goodman and Gilman's pharmacological basis of therapeutics. 12th ed. New York: McGraw-Hill Medical; 2011: p.379-381.
[2] Gaurav K, Goel RK, Shukla M, Pandey M. Glutamine: A novel approach to chemotherapy- induced toxicity. Indian J Med Paediatric Oncol. 2012 Jan;33(1):13-20
[3] Savarese DM, Savy G, Vahdat L, Wischmeyer PE, Corey B. Prevention of chemotherapy and radiation toxicity with glutamine. Cancer Treat Rev. 2003 Dec;29(6):501-13.
[4] Lee EQ. Overview of neurologic complications of conventional non-platinum cancer chemotherapy. In: Post TW, ed. UpToDate.Waltham: UpToDate; 2020. (Accessed on December 15, 2020.)
[5] Loprinzi CL, Lacchetti C, Bleeker J et al. Prevention and management of chemotherapy-induced peripheral neuropathy in survivors of adult cancers: ASCO guideline update. J Clin Oncol 2020; 38:3325.
[6] Velasco R, Bruna J. Taxane-Induced Peripheral Neurotoxicity. Toxics. 2015 Apr 28;3(2):152- 169.
[7] Park SB, Goldstein D, Krishnan AV et al. Chemotherapy-induced peripheral neurotoxicity: a critical analysis. CA Cancer J Clin. 2013 Nov-Dec;63(6):419-37.
[8] Lavoie Smith EM, Li L, Chiang C, Thomas K, Hutchinson RJ, Wells EM, Ho RH, Skiles J, Chakraborty A, Bridges CM, Renbarger J. Patterns and severity of vincristine-induced peripheral neuropathy in children with acute lymphoblastic leukemia. J Peripher Nerv Syst. 2015 Mar;20(1):37-46.
[9] Wang WS, Lin JK, Lin TC, Chen WS, Jiang JK, Wang HS, Chiou TJ, Liu JH, Yen CC, Chen PM. Oral glutamine is effective for preventing oxaliplatin-induced neuropathy in colorectal cancer patients. Oncologist. 2007 Mar;12(3):312-9.
[10] Loven D, Levavi H, Sabach G, Zart R, Andras M, Fishman A, Karmon Y, Levi T, Dabby R, Gadoth N. Long-term glutamate supplementation failed to protect against peripheral neurotoxicity of paclitaxel. Eur J Cancer Care (Engl). 2009 Jan;18(1):78-83.
[11] Loprinzi CL. Prevention and treatment of chemotherapy-induced peripheral neuropathy. In: Post TW, ed. UpToDate.Waltham: UpToDate; 2020. (Accessed on December 15, 2020.)
วันที่ตอบ : 03 ม.ค. 64 - 20:18:05




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110