ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
คือประจำเดือนจะมาในอีก 3 วันค่ะ แต่ว่าต้องการเลื่อนประจำเดือนไปทั้งหมด 15 วัน ต้

คือประจำเดือนจะมาในอีก 3 วันค่ะ แต่ว่าต้องการเลื่อนประจำเดือนไปทั้งหมด 15 วัน ต้องกินยายังไงหรือคะ ตอนนี้ยังไม่เคยกินยาคุมมาก่อนเลยค่ะ

[รหัสคำถาม : 182] วันที่รับคำถาม : 03 ม.ค. 64 - 23:25:11 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การเลื่อนประจำเดือนพบได้ใน ผู้ที่มีภาวะปวดท้อง หรือมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างการมีประจำเดือน รวมถึงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย โดยยาที่ใช้ในการเลื่อนประจำเดือนได้แก่ ยาคุมกำเนิดชนิดผสม ยากลุ่มฮอร์โมนโปรเจสติน ห่วงคุมกำเนิด ยาฉีด Medroxyprogesterone แผ่นแปะคุมกำเนิด วงแหวนสอดช่องคลอดคุมกำเนิด และยาฝังคุมกำเนิด[5]
ยาที่นิยมใช้ในการเลื่อนประจำเดือน ได้แก่ ยานอร์อิทิสเตอโรน (Norethisterone) แนะนำให้เริ่มรับประทานก่อนประจำเดือนมาอย่างน้อย 3 วัน และไม่ควรรับประทานยานานเกิน 10-14 วัน[7] อย่างไรก็ตาม พบว่ายาคุมกำเนิดชนิดผสมสามารถเป็นยาทางเลือกในการเลื่อนการมีประจำเดือนได้สำหรับผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หรือผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น[2] โดยยาคุมกำเนิดชนิดผสมเป็นตัวยาผสมระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน ซึ่งจะทำงานเสริมฤทธิ์กันในการกดการทำงานของรังไข่ โดยการรับประทานยามี 3 วิธี คือ (1) การรับประทานยาคุมกำเนิดนาน 21-24 วัน (cyclic)[4] (2) แบบระยะยาว (extended use) คือ การรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลา 28 วันขึ้นไป และมีช่วงเว้นการรับประทานฮอร์โมน (hormone-free intervals) และ (3) การใช้วิธีการรับประทานแบบต่อเนื่อง (continuous use) คือ การรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องเป็นปี[4][5] โดยควรเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดก่อนประจำเดือนมาอย่างน้อย 3 วันและในช่วงเลื่อนประจำเดือนควรรับประทานยาติดต่อกันทุกวัน[5] และประจำเดือนจะมาตามปกติหลังหยุดรับประทานยาแล้วประมาณ 2-4 วัน[3]
ยาคุมกำเนิดที่มีการใช้ในการเลื่อนประจำเดือน ดังเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการใช้ตัวยาผสม Ethinyl estradiol ขนาด 0.03 มิลลิกรัมและ levonorgestrel ขนาด 0.15 มิลลิกรัม[3] ในประเทศไทยมีจำหน่ายตัวยาดังกล่าวด้วยเช่นกัน [6]
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดผสม คือ อาการตึงคัดเต้านม คลื่นไส้ ท้องอืด[1] เลือดออกกะปริบกะปรอยในระหว่างการใช้ยา[1][3] โดยอาการจะดีขึ้นหลังจากการใช้ยาภายใน 3 เดือน นอกจากนี้การใช้ยาคุมกำเนิดดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้[1]
ดังนั้นยาคุมกำเนิดชนิดผสมสามารถเป็นยาทางเลือกในการเลื่อนการมีประจำเดือนได้ หากผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามใช้ โดยควรเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 วันก่อนมีประจำเดือน โดยช่วงที่ต้องการเลื่อนประจำเดือนควรรับประทานยาติดต่อกันทุกวัน และประจำเดือนจะมาตามปกติหลังหยุดรับประทานยาแล้วประมาณ 2-4 วัน





เอกสารอ้างอิง
[1]Allen RH. Combined estrogen-progestin oral contraceptives: Patient selection, counseling, and use.uptodate[internet].2020.[cite 2020 Dec 16].Available from https://www.uptodate.com/contents/combined-estrogen-progestin-oral-contraceptives-patient-selection-counseling-and-use.
[2]Dean J, Kramer KJ, Akbary F, Wade S, Hüttemann M, Berman JM, Recanati MA. Norethindrone is superior to combined oral contraceptive pills in short-term delay of menses and onset of breakthrough bleeding: a randomized trial. BMC Womens Health. 2019 May 28;19(1):70.
[3]Hicks CW, Rome ES. Menstrual manipulation: options for suppressing the cycle. Cleve Clin J Med. 2010 Jul;77(7):445-53
[4]Jacobson JC, Likis FE, Murphy PA. Extended and continuous combined contraceptive regimens for menstrual suppression. J Midwifery Womens Health. 2012 Nov-Dec;57(6):585-592.
[5]Kaunitz AM. Hormonal contraception for suppressions of menstruation. uptodate[internet].2019.[cite 2020 Dec 16].Available from https://www.uptodate.com/contents/hormonal-contraception-for-suppression-of-menstruation#H623734935.
[6]MIMS. Levonorgestrel + Ethinylestradiol.MIMS[internet].2019.[cite 2020 Dec 19. Available from https://www.mims.com/thailand/drug/info/levonorgestrel%20+%20ethinylestradiol?mtype=generic.
[7]MIMS.Norethisterone.MIMS[internet].2019.[cite 2020 Dec 19. Available from https://www.mims.com/thailand/drug/info/norethisterone?mtype=generic#.

วันที่ตอบ : 04 ม.ค. 64 - 10:46:09




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110