ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กิน acnotin หรือ roaccutant แล้วเป็นหมันจริงไหม

กิน acnotin หรือ roaccutant แล้วเป็นหมันจริงไหม

[รหัสคำถาม : 183] วันที่รับคำถาม : 04 ม.ค. 64 - 10:28:04 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Acnotin® และ Roaccutane® เป็นชื่อทางการค้าของยา isotretinoin ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาสิวที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน และสิวที่มีลักษณะอักเสบแดงเป็นก้อนอย่างรุนแรง[1] โดยเริ่มในขนาดเริ่มต้น 0.5 มก. / กก. / วันในเดือนแรกจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 1.0 มก. / กก. / วัน ตามที่ผู้ป่วยยอมรับได้[2]
ผลข้างเคียงที่เกิดจากยา isotretinoin ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผิวหนังและเยื่อเมือก ที่พบบ่อยคือทำให้เกิดความแห้งของเยื่อเมือกและผิวหนัง[1] รวมทั้งทำให้เกิดริมฝีปากแห้งแตกและอักเสบ
จากข้อมูลการศึกษาทางคลินิกซึ่งเป็นการศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบไปข้างหน้า (prospective cohort studies) พบว่า ผู้ชายในภาวะเจริญพันธ์ที่มีการใช้ยา isotretinoin รับประทานในขนาด 120 มก. / กก. เป็นระยะเวลา 6 เดือน ไม่ได้ส่งผลต่อการผลิตและการเคลื่อนไหวของอสุจิ[3] มีรายงานว่าปริมาณของ isotretinoin ที่ส่งผ่านน้ำอสุจินั้นต่ำกว่าปริมาณยาที่ได้รับประทาน 1,000,000 เท่า[4] และมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ (teratogenic effects)[5] ถึงแม้การใช้ยาเป็นเวลานานจะไม่มีรายงานการทำให้เป็นหมัน แต่มีรายงานว่าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบสืบพันธุ์ที่ทำให้เกิดความบกพร่องในการแข็งตัวขององคชาติและมีความต้องการทางเพศลดลงได้[6]
สำหรับการใช้ยาในผู้หญิง พบว่า การรับประทานยา isotretinoin ในขนาด 120 มก./กก. เป็นระยะเวลา 6 เดือน จะลดความสามารถในการทำงานของรังไข่[7] นอกจากนี้การใช้ยา isotretinoin ในผู้หญิง จำเป็นที่จะต้องมั่นใจว่าไม่ได้อยู่ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์หรืออาจจะตั้งครรภ์ เนื่องจากยาก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ ได้แก่ ความผิดปกติของใบหน้าตา หู กะโหลก ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ต่อมไธมัสและต่อมพาราไธรอยด์ ความผิดปกติด้านเชาวน์ปัญญา (IQ) ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด[4],[6] ดังนั้นหากมีการวางแผนในการตั้งครรภ์ควรหยุดรับประทานยา isotretinoin อย่างน้อย 5 สัปดาห์[5] และแนะนำให้มีการคุมกำเนิดโดยใส่ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายที่รับประทานยา isotretinoin ที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรืออาจตั้งครรภ์
ดังนั้นการใช้ยา isotretinoin ในการรักษาสิว จึงควรใช้ภายใต้การแนะนำดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา เพื่อให้ได้รับการรักษาและคำแนะนำในการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง

1. Goh C, Cheng C, Agak G, Zaenglein AL, Graber EM, Thiboutot DM, Kim J. Acne Vulgaris. In: Kang S, Amagai M, Bruckner AL, Enk AH, Margolis DJ, McMichael AJ, Orringer JS. eds. Fitzpatrick's Dermatology, 9e. McGraw-Hill. 2019; 41. Available at: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2570§ionid=210419885. Accessed December 15, 2020.
2. Zaenglein AL, Pathy AL, Schlosser BJ, et al. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. J Am Acad Dermatol. 2016;74(5):945-73.e33.
3. Çinar L, Kartal D, Ergin C, et al. The effect of systemic isotretinoin on male fertility. Cutan Ocul Toxicol. 2016;35(4):296-299.
4. Zakhem GA, Motosko CC, Mu EW, Ho RS. Infertility and teratogenicity after paternal exposure to systemic dermatologic medications: A systematic review. J Am Acad Dermatol. 2019;80(4):957-969. doi:10.1016/j.jaad.2018.09.031
5. Electronic Medicines Compendium. Isotretinoin. [cited 25 Dec 2020], Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/3870/smpc#gref
6. Wolters Kluwer Clinical Drug Information. Drug Monographs: isotretinoin. [cited 15 Dec 2020], Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/drugs.aspx?gbosID=422978#monoNumber=422978§ionID=241876312&tab=tab0
7. Cinar SL, Kartal D, Aksoy H, et al. Long-term effect of systemic isotretinoin on female fertility. Cutan Ocul Toxicol. 2017;36(2):132-134.

วันที่ตอบ : 06 ม.ค. 64 - 21:13:21




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110