ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ขอคำแนะนำในการรักษาแผลเป็นที่เกิดขึ้นหลังรับการผ่าตัด

ขอคำแนะนำในการรักษาแผลเป็นที่เกิดขึ้นหลังรับการผ่าตัด

[รหัสคำถาม : 184] วันที่รับคำถาม : 04 ม.ค. 64 - 14:09:44 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

แผลเป็นที่เกิดขึ้นหลังจากการฉีกขาดของผิวหนัง มี 2 ชนิด ได้แก่
1. Hypertrophic scar เป็นแผลเป็นที่มีลักษณะนูนแดง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังแผลหาย และเมื่อทิ้งไว้อาจจะยุบแบนราบลงได้เอง ภายในระยะเวลา 12-24 เดือน
2. keloid เป็นแผลเป็นที่มีลักษณะนูนแดง และอาจมีอาการคันและเจ็บร่วมด้วย โดยมีขอบเขตของแผลขยายกว้างกว่ารอยเดิมของแผล ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังแผลหายแล้วตั้งแต่ 3 เดือนเป็นต้นไป และเมื่อทิ้งไว้จะคงอยู่และไม่ยุบแบนราบลงได้เอง[1]
สาเหตุของการเกิดแผลเป็นชนิด hypertrophic และ keloid เกิดจากการผ่าตัด โดนไฟไหม้ ได้รับบาดเจ็บ และการติดเชื้อ[2]
ยารักษาแผลเป็นชนิดภายนอกที่มีการศึกษาประสิทธิภาพการรักษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นข้อมูลการศึกษาที่เป็นหลักฐานอ้างอิงที่ดีที่สุด ได้แก่
1. เจลสารสกัดจากหัวหอมที่มีความเข้มข้น 10% ใช้หลังการผ่าตัด 7 วัน ทาวันละ 2 ครั้งติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือน จะช่วยลดการเกิดรอยแผลเป็นได้ 20% เมื่อเทียบกับยาหลอก (3.3%) โดยสามารถลดขนาด ความนูนของแผลเป็น และทำให้รอยแผลเป็นนุ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่า เจลสารสกัดจากหัวหอมช่วยลดการเกิดแผลเป็นได้เฉพาะชนิด hypertrophic เท่านั้น[3,4]
2. ครีมที่มีส่วนผสมของใบบัวบกความเข้มข้น 7% w/w ใช้หลังการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทาวันละ 2 ครั้งติดต่อกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ จะช่วยทำให้แผลเป็นสีจางลง และลดความนูนของรอยแผลเป็น เนื่องจากสารสกัดจากใบบัวบกช่วยกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น[5]
3. Mucopolysaccharide polysulphate (Hirudoid® cream) แนะนำให้ใช้หลังการตัดไหมเย็บแผลให้เร็วที่สุด โดยทาที่แผลเป็น วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 5 เดือน จะช่วยลดรอยแดง และความหนาของแผลเป็น และทำให้แผลเป็นนุ่มขึ้น อาจพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ ได้แก่ รอยแดง รู้สึกแสบร้อน และผื่นขึ้นบริเวณที่ทายา แต่พบได้น้อยมาก[6]
4. เจลซิลิโคนที่มีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพร CYBELE SCAGEL® (หัวหอม, ใบบัวบก, ว่านหางจระเข้ และปอสา) แนะนำให้ใช้หลังการตัดไหมเย็บแผล ทาวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน จะทำให้แผลเป็นนุ่มและสีจางลง รวมทั้งลดความนูนของแผลเป็น[7]
5. Tretinoin cream (0.025% Stieva-A®) ใช้กับรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัด ทาวันละ 2 ครั้งติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน จะ ช่วยลดขนาดและอาการของแผลเป็น ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพเทียบกับเจลซิลิโคน พบว่า มีประสิทธิภาพในการรักษาเท่าเทียมกับการใช้เจลซิลิโคน อาการข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ แสบร้อนบริเวณที่ทา ซึ่งเกิดในช่วงสัปดาห์แรก และสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์[8]
6. แผ่นซิลิโคนหรือเจลซิลิโคน สามารถป้องกันและรักษารอยแผลเป็นภายหลังการผ่าตัดได้ โดยจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแผลเป็น ลดการอักเสบ ช่วยให้แผลเป็นแบนราบและอ่อนนุ่มยิ่งขึ้น[9]
- แผ่นซิลิโคน (CICA-CARE®) ใช้ได้กับรอยแผลเก่าหรือแผลใหม่ที่ปิดสนิทแล้ว โดยต้องมีลักษณะเป็นรอยแผลสีแดงหรือรอยแผลนูน แต่ใช้ไม่ได้กับรอยแผลเป็นที่มีสีขาวและแบน และห้ามใช้กับแผลเปิด แผลที่ติดเชื้อ และแผลตกสะเก็ด โดยปิดที่แผลเป็น วันละ 12-24 ชั่วโมง ติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ได้แก่ คัน ผื่นขึ้นบริเวณที่ใช้แผ่นซิลิโคน[10]
- เจลซิลิโคน (Dermatix®) ใช้ภายหลังจากการตัดไหม รอยเย็บจางลง หรือบาดแผลสมานกันดีแล้ว แต่ไม่เหมาะสำหรับแผลเป็นที่เกิดขึ้นนานมาแล้วและมีลักษณะแบนราบ โดยทาที่แผลเป็น วันละ 2 ครั้งติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน ช่วยให้แผลเป็นแบนราบ ยุบตัวลง และลดความแดงของแผลเป็นได้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจพบ ได้แก่ รอยแดง ปวด และการระคายเคือง แต่พบน้อยมาก[11] ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาแผลเป็นภายหลังการผ่าตัดกับการใช้แผ่นซิลิโคน พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงกับการใช้แผ่นซิลิโคร แต่เจลซิลิโคนมีความสะดวกในการใช้มากกว่า[12]

ตามแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและรักษารอยแผลเป็นภายหลังการผ่าตัด แนะนำให้ใช้แผ่นซิลิโคนหรือเจลซิลิโคน เป็นทางเลือกแรกในการรักษา กรณีที่ต้องการลดรอยแดงของแผลเป็นอาจเลือกใช้สารสกัดจากใบบัวบก กรณีต้องการลดขนาดหรือรอยนูนของแผลเป็นให้เลือกใช้ Hirudoid® cream Stieva-A® CYBELE SCAGEL® หรือสารสกัดจากหัวหอม แนะนำให้ประเมินประสิทธิผลทุก 4-8 สัปดาห์ เพื่อดูผลตอบสนองต่อยา หากได้รับการรักษาติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว แต่ลักษณะของรอยแผลเป็นไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด และทาครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีบีสูง (ค่าSPF > 50) อย่างต่อเนื่องก่อนออกไปสัมผัสแสงแดด จะช่วยลดรอยแดงและทำให้สีของรอยแผลเป็นจางเร็วขึ้นได้[2]

เอกสารอ้างอิง:
1. Broughton G 2nd ,Janis JE, Attinger CE. Wound healing: an overview. Plast Reconstr Surg. 2006 Jun;117(7 Suppl):1e-S- 32eS.doi:10.1097/01.
prs.0000222562.60260.f9.PMID: 16801750.
2. Del Toro D, Dedhia R, Tollefson TT. Advances in scar management: prevention and management of hypertrophic scars and keloids. Curr Opin Otolaryngol Head Neck Surg. 2016 Aug;
24(4):322-9. doi:10.1097/MOO.000000000
0000268. PMID: 27163611.
3. Perez OA, Viera MH, Patel JK, Konda S, Amini S, Huo R, Zell D, Tadicherla S, Berman B. A comparative study evaluating the tolerability and efficacy of two topical therapies for the treatment of keloids and hypertrophic scars. J Drugs Dermatol. 2010 May;9(5):514-8. PMID: 20480794.
4. Wananukul S, Chatpreodprai S, Peongsujarit D, Lertsapcharoen P. A prospective placebo-controlled study on the efficacy of onion extract in silicone derivative gel for the prevention of hypertrophic scar and keloid in median
sternotomy wound in pediatric patients. J Med Assoc Thai. 2013 Nov;96(11):1428-33. PMID: 24428092.
5. Jenwitheesuk K, Rojsanga P, Chowchuen B, Surakunprapha P. A Prospective Randomized, Controlled, Double-Blind Trial of the Efficacy Using Centella Cream for Scar Improvement. Evid Based Complement Alternat Med. 2018 Sep 17;2018:9525624. doi: 10.1155/2018/9525624. PMID: 30310413; PMCID: PMC6166374.
6. Zhang Q, Zhou Y, Chen L, Xu Y. [Therapeutic effect of mucopolysaccharide polysulfate cream in prevention of postoperative scars. Zhong Nan Da Xue Xue Bao Yi Xue Ban. 2018 Mar 28;43(3):293-300. Chinese. doi: 10.11817/j.isskk-n.1672-7347.2018.03.010. PMID: 29701192.
7. Surakunprapha P, Winaikosol K, Chowchuen B, Punyavong P, Jenwitheesuk K, Jenwitheesuk K. A Prospective Randomized Double-blind study of silicone gel plus Herbal Extracts Versus Placebo in Pre-sternal hypertrophic scar prevention and amelioration. Heliyon. 2020 May 5;6(5):e03883. doi:10.1016/j.heliyon.2020.e03883. PMID: 32405550; PMCID: PMC7210591.
8. Kwon SY, Park SD, Park K. Comparative effect of topical silicone gel and topical tretinoin cream for the prevention of hypertrophic scar and keloid formation and the improvement of scars. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2014Aug;28(8):
1025-33. doi: 10.1111/jdv.12242. Epub 2013 Aug 19. PMID: 23952739.
9.Hsu KC, Luan CW, Tsai YW. Review of Silicone Gel Sheeting and Silicone Gel for the Prevention of Hypertrophic Scars and Keloids. Wounds. 2017 May;29(5):154-158. PMID: 28570253.
10. Chemistdirect. CICA-CARE. [1screen]. Available at: https://www.chemistdirect.co.uk/cica-care-cica-care-faq. Accessed December,24,2020.
11. Dermatix. ข้อมูลผลิตภัณฑ์. 2560;[1 screen] เข้าถึงได้จาก: https://dermatix.co.th/index.html เข้าถึงเมื่อ 19 ธันวาคม 2563.
12. Lin YS, Ting PS, Hsu KC. Does the form of dressings matter?: A comparison of the efficacy in the management of postoperative scars between silicone sheets and silicone gel: a randomized controlled trial. Medicine (Baltimore). 2018 Aug;97(32):e11767. doi:10.1097/MD.000
0000000011767. PMID: 30095630; PMCID: PMC6133582.



วันที่ตอบ : 04 ม.ค. 64 - 14:28:09




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110