ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ในผู้ป่วยหอบหืดที่ปวดรุนแรง ที่ใช้ยาพาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้น มีแนวทางลดอาการปวดใ

ในผู้ป่วยหอบหืดที่ปวดรุนแรง ที่ใช้ยาพาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้น มีแนวทางลดอาการปวดในผู้ป่วยหอบหืดอย่างไร สามารถใช้ montelukast ในการป้องกันการเกิดหอบหืดเฉียบพลันเมื่อใช้ NSAIDs ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 185] วันที่รับคำถาม : 05 ม.ค. 64 - 11:30:40 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ประเภทของการปวดแบ่งได้เป็น
1) Nociceptive pain เกิดจากมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ มักเป็นอาการปวดเฉียบพลัน
2) Neuropathic pain เป็นอาการปวดปลายประสาท
3) Mixed pain เช่น ความเจ็บปวดในโรคมะเร็ง หรือ HIV [1]

การรักษาอาการปวดจะขึ้นอยู่กับชนิด และความรุนแรงของอาการปวด สำหรับการรักษา nociceptive pain องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้กำหนดแนวทางการประเมินและการเลือกใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด โดยจำแนกตามความรุนแรงของอาการปวดเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ปวดน้อย (mild pain; pain score 1-3) ยาที่แนะนำ เช่น acetaminophen และ/หรือยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory (NSAIDs) และอาจเพิ่มกลุ่มยาแก้ปวดเสริม (adjuvant analgesia)
- ปวดปานกลาง (moderate pain; pain score 4-6) แนะนำให้เริ่มต้นด้วยยากลุ่ม weak opioids เช่น codeine, tramadol และอาจพิจารณาเพิ่มยาแก้ปวดกลุ่ม non-opioids และ/หรือยาแก้ปวดเสริม
- ปวดมาก (severe pain; pain score 7-10) แนะนำให้รักษาด้วยยากลุ่ม strong opioids เช่น morphine, fentanyl นอกจากนี้อาจพิจารณาใช้ยากลุ่ม non-opioids และ/หรือยาแก้ปวดเสริม (adjuvant analgesia) ร่วมด้วย
สำหรับ neuropathic pain มักใช้ยาแก้ปวดทั่วไปไม่ได้ผล โดยยาที่สามารถบรรเทาอาการปวดชนิดนี้ เช่น amitriptyline, carbamazepine และ gabapentin [1]

ยาในกลุ่ม NSAIDs ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ซึ่งมีหน้าที่ในการสังเคราะห์ prostaglandins ในร่างกาย เอนไซม์ COX แบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ COXI และ COXII หน้าที่ของ COXI ในร่างกาย เช่น สังเคราะห์ prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งมีฤทธิ์ bronchodailation ส่วน COXII ทำหน้าที่สังเคราะห์ Prostaglandin D2 (PGD2) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิด bronchoconstriction[2] เมื่อเอนไซม์ COX ถูกยับยั้ง จะทำให้ arachidonic acid ถูกเปลี่ยนไปเป็นสารกลุ่ม leukotrienes มากขึ้น โดยผ่านการทำงานของเอนไซม์ lipoxygenase เช่น cysteinyl leukotrienes (cysLTs), LTC4, LTD4, และ LTE4 ซึ่ง leukotrienes เหล่านี้จะถูกสร้างจาก eosinophil และ mast cell ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในทางเดินหายใจที่มีการอักเสบ สารกลุ่ม leukotrienes มีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการตีบตัวของหลอดลม การหลั่ง mucus การบวมของเยื่อบุโพรงจมูก และทางเดินหายใจ[3] ดังนั้น ยากลุ่ม non-selective COX inhibitors จึงอาจทำให้เกิด asthma exacerbation ได้ ส่วนยากลุ่ม COXII inhibitor ซึ่งยับยั้งการสังเคราะห์ PGD2 (มีฤทธิ์ทำให้เกิด bronconstriction) ดังนั้น การใช้ยา NSAIDs ในกลุ่ม COXII inhibitor จึงทำให้เกิด asthma exacerbation ได้น้อยกว่ายากลุ่ม non-selective COX inhibitors [2,3]

จาก GINA guideline ปี 2020 แนะนำว่า หากจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs ในผู้ป่วยหอบหืดที่มีประวัติเกิด exacerbation หลังจากได้รับยากลุ่ม NSAIDs ควรเลือกใช้กลุ่ม selective COXII inhibitors (เช่น celecoxib, etoricoxib) และควรติดตามอาการ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ส่วนการจัดการ NSAIDs-induced asthma จะแนะนำให้ใช้ inhaled corticosteroids (ICS) เป็นหลัก และควรใช้ร่วมกับ montelukast ซึ่งเป็นยากลุ่ม Leukotriene receptor antagonist โดยใช้ 10 mg วันละครั้ง [3,4,5]

การศึกษาแบบ Randomized Controlled Trial เปรียบเทียบการใช้ corticosteroids เดี่ยวๆ กับการใช้ montelukast ร่วมกับ corticosteroid ในผู้ป่วยโรคหอบหืดที่เกิดภาวะ asthma exacerbation จากยา aspirin พบว่า ผู้ที่ใช้ montelukast ร่วมกับ corticosteroid มีอาการหอบหืดดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาเดี่ยว กล่าวคือ ในช่วงการรักษา 4 สัปดาห์ โดยมีค่า mean difference ของ FEV(1) = 10.2% (p<0.001) และ PEFR ตอนเช้า = 28.0 L (p<0.001) นอกจากนั้น กลุ่มที่ใช้ montelukast + corticosteroid จะมีการใช้ยาขยายหลอดลมน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ corticosteroid เดี่ยวๆ ร้อยละ 27 (p <0.05) [6]

โดยทั่วไป แนวทางการเลือกใช้ยาบรรเทาปวด จะพิจารณาจากประเภทและระดับความรุนแรงของอาการปวดเป็นหลักดังที่ได้กล่าวข้างต้น รวมทั้งต้องคำนึงถึงตัวโรคประจำตัวร่วมด้วย จาก GINA guideline ปี2020 แนะนำว่า ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด หากจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs ควรเลือก selective COXII inhibitors และควรติดตามอาการเป็นเวลา 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ส่วนการจัดการ NSAIDs-induced asthma แนะนำให้ใช้ inhaled corticosteroids (ICS) ร่วมกับ montelukast 10 mg วันละครั้ง [3,4]



เอกสารอ้างอิง
1. Suna B, Pierre B, Marie-Claude B, Philippa B, Cristina C, Marta C, et al. Pain: Clinical guidelines-Diagnosis and treatment manual [Internet]. 2020 [cited 2020 Dec 14]. Available from: https://medicalguidelines.msf.org/
2. Seong-Dae Woo, Quoc Quang Luu, Hae-Sim Park, NSAID-Exacerbated Respiratory Disease (NERD): From Pathogenesis to Improved Care, Frontiers in Pharmacology, 10.3389/fphar.2020.01147, 11, (2020).
3. Tanya ML, Elliot I. Aspirin-exacerbated respiratory disease [Internet]. 2020 [cited 2020 Dec 14]. Available from: http://www.uptodate.com
4. Ruth H, BSc, DPhil, GCBiostat, Jenni H, BVSc. Global initiative for asthma [Internet] 2020 [cited 2020 Dec 14]. Available from: https://ginasthma.org
5. Emcc. Montelukast 10 mg film coated tablets. [Internet]. 2020
[cited 20 ธันวาคม 2563]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/
6. Improvement of aspirin-intolerant asthma by montelukast, a leukotriene antagonist: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial/ AMERICAN JOURNAL OF RESPIRATORY AND CRITICAL CARE MEDICINE / 2002

วันที่ตอบ : 07 ม.ค. 64 - 11:25:18




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110