ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เป็นเชื้อราที่เล็บ 2 เล็บ และอยู่ระหว่างให้นมลูก ไม่ทราบว่าควรใช้ยากินแบบไหนคะ ห

เป็นเชื้อราที่เล็บ 2 เล็บ และอยู่ระหว่างให้นมลูก ไม่ทราบว่าควรใช้ยากินแบบไหนคะ หรือว่าต้องใช้แบบทาอย่างเดียว

[รหัสคำถาม : 188] วันที่รับคำถาม : 06 ม.ค. 64 - 13:15:00 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคเชื้อราที่เล็บ อาจเกิดจากการติดเชื้อรา Dermatophytes หรือจาก Yeast (เช่น Candida albicans)[1] อาการที่พบ เช่น เล็บเปลี่ยนสี, ปลายเล็บร่น, เล็บแตก, มีการทำลายแผ่นเล็บ, ปวด, มีการทำลายผิวหนังบริเวณข้างเคียง และเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อแบคทีเรีย ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อราที่เล็บ เช่น มีโรคร่วม (เช่น เบาหวาน, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน) เหงื่อออกมาก และโรคติดเชื้อราบริเวณอื่นของร่างกาย[2]
ยาที่ใช้สำหรับรักษาเชื้อรา(กลาก)บริเวณเล็บ มีทั้งยารับประทาน และยาทาเฉพาะที่ [3] ดังนี้
1. การรักษาด้วยยารับประทาน เช่น
- Terbinafine เป็นยาที่แนะนำเป็นอันดับแรกสำหรับเชื้อราที่เล็บที่มีสาเหตุมาจาก dermatophyte โดยรับประทาน 250 mg/วัน เป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์สำหรับเล็บมือ และ 12–16 สัปดาห์สำหรับเล็บเท้า[3] ยานี้ถูกขับออกมาในน้ำนมได้ อัตราส่วนของยาในน้ำนม:พลาสมาในหญิงให้นมบุตรเท่ากับ 7:1 จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในระหว่างให้นมบุตร[4],[5]
- Itraconazole เป็นยาที่แนะนำเป็นอันดับแรกสำหรับเชื้อราที่เล็บที่มีสาเหตุมาจาก dermatophyte โดยรับประทาน 200 mg/วัน เป็นระยะเวลานาน 12 สัปดาห์ติดต่อกัน หรือใช้รักษาแบบเว้นระยะ (Pulse therapy) โดยรับประทาน 400 mg/วัน และรับประทาน 1 สัปดาห์/เดือน เป็นระยะเวลานาน 2 เดือนสำหรับเล็บมือ และ 3 เดือนสำหรับเล็บเท้า[3] ยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในระหว่างให้นมบุตร[4],[6]
- Fluconazole รับประทาน 150-450 mg/สัปดาห์ เป็นระยะเวลานาน 3 เดือนสำหรับเล็บมือ และ ≥6 เดือนสำหรับเล็บเท้า โดยยานี้เป็นยาทางเลือกในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทน terbinafine หรือ itraconazole ได้[3] ยานี้ถูกขับออกมาในน้ำนมได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในระหว่างให้นมบุตร ในกรณีที่ต้องใช้ยานี้ติดต่อกันหรือใช้ยาขนาดสูง[4],[7]
2. การรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ เช่น
- Amorolfine 5% lacquer ทา 1 หรือ 2 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นระยะเวลานาน 6-12 เดือน ใช้รักษาเชื้อราที่ผิวเล็บชั้นนอกและเชื้อราที่เล็บส่วนปลาย (superficial and distal onychomycosis)[3] ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตแนะนำว่า ไม่ควรใช้ยานี้ระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการขับออกทางน้ำนมของยานี้[8]
- Ciclopirox 8% lacquer ทาวันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลานาน 24 สัปดาห์สำหรับเล็บมือ และ 48 สัปดาห์สำหรับเล็บเท้า ใช้รักษาเชื้อราที่ผิวเล็บชั้นนอกและเชื้อราที่เล็บส่วนปลาย (superficial and distal onychomycosis)[3] ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยานี้ระหว่างการให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม ยาถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1.3% และทารกอาจได้รับยาผ่านทางน้ำนมในปริมาณน้อย จึงควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ที่ให้นมบุตร[4],[9]
- Tioconazole 28% solution ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลานาน 6-12 เดือน ใช้รักษาเชื้อราที่ผิวเล็บชั้นนอกและเชื้อราที่เล็บส่วนปลาย (superficial and distal onychomycosis)[3] ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตแนะนำว่า ไม่ควรใช้ยานี้ระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการขับออกทางน้ำนมของยานี้[10]
สำหรับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาเชื้อราที่เล็บระหว่างยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน มีการศึกษา เช่น
1.การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างยารับประทานและยาทาเฉพาะที่พบว่า terbinafine 250 mg วันละครั้ง หรือ itraconazole 200 mg วันละครั้ง แบบรับประทานต่อเนื่อง มีอัตราการรักษาให้ปราศจากเชื้อ (Mycological cure) สูงกว่ายาทาเฉพาะที่ (ciclopirox, efinaconazole และ tavaborole) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบยารับประทานแบบต่อเนื่องกับแบบเว้นระยะ พบว่า 1) terbinafine 250 mg รับประทานแบบต่อเนื่อง มีอัตราการรักษาให้ปราศจากเชื้อ (Mycological cure) สูงกว่า terbinafine 500 mg รับประทานแบบเว้นระยะ และ itraconazole 400 mg รับประทานแบบเว้นระยะ (Pulse therapy) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2) itraconazole 200 mg รับประทานแบบต่อเนื่อง มีอัตราการรักษาให้ปราศจากเชื้อไม่แตกต่างกันกับ terbinafine 200 mg รับประทานแบบต่อเนื่อง และ itraconazole 400 mg รับประทานแบบเว้นระยะ (Pulse therapy)[11]
2. การศึกษาประสิทธิภาพของ resin lacquer แบบทาเฉพาะที่, amorolfine แบบทาเฉพาะที่ และ terbinafine แบบรับประทาน สำหรับรักษาเชื้อราที่เล็บเท้า ในผู้ป่วย 73 คน
- ผู้ป่วย 23 คน ได้รับยา resin 30% lacquer ทาวันละครั้ง เป็นระยะเวลานาน 9 เดือน
- ผู้ป่วย 25 คน ได้รับยา amorolfine 5% lacquer ทาวันละครั้ง เป็นระยะเวลานาน 9 เดือน
- ผู้ป่วย 25 คน ได้รับยา terbinafine 250 mg รับประทานวันละครั้ง เป็นระยะเวลานาน 3 เดือน
พบว่าประสิทธิภาพของยารูปแบบทาเฉพาะที่ทั้ง resin และ amorolfine มีผลด้อยกว่า terbinafine แบบรับประทานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งในผลการรักษาให้ปราศจากเชื้อ (Mycological cure) และการตอบสนองต่อการรักษา[12]
3. การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ amorolfine 5% nail lacquer ร่วมกับยารักษาเชื้อราแบบรับประทาน เทียบกับการใช้ยารักษาเชื้อราแบบรับประทานแบบเดี่ยวพบว่า การใช้ amorolfine nail lacquer ร่วมกับยารักษาเชื้อราแบบรับประทาน (terbinafine หรือ itraconazole) มีร้อยละของการกำจัดเชื้อราที่เล็บได้อย่างสมบูรณ์ (%complete clearance) สูงกว่าการใช้ยารักษาเชื้อรา terbinafine หรือ itraconazole แบบรับประทานแบบเดี่ยวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[13]
โดยสรุป การรักษาเชื้อราที่เล็บมีทั้งยารับประทาน และยาทาเฉพาะที่ การเลือกประเภทของยาจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค ซึ่งยา Terbinafine และ Itraconazole จัดเป็นยารับประทานที่แนะนำให้เลือกใช้เป็นอันดับแรกหากไม่มีข้อห้ามใช้ แต่เนื่องจากยาเหล่านี้อาจสามารถผ่านน้ำนมมารดาได้ ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา ในทางทฤษฎีแล้ว ยารักษาเชื้อราแบบทาเฉพาะที่จะสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและผ่านน้ำนมมารดาได้น้อย จึงอาจใช้เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาเชื้อราที่เล็บ
เอกสารอ้างอิง
1. Goldstein AO, Bhatia N. Onychomycosis: Management [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020. [cited 2020 Dec 14]. Available from: https://www.uptodate.com
2. Goldstein AO, Bhatia N. Onychomycosis: Epidemiology, clinical features, and diagnosis [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020. [cited 2020 Dec 14]. Available from: https://www.uptodate.com
3. Ameen M, Lear JT, Madan V, Mohd Mustapa MF, Richardson M. British Association of Dermatologists' guidelines for the management of onychomycosis 2014. Br J Dermatol. 2014;171(5):937-958. doi:10.1111/bjd.13358
4. Brigg GG, Freeman RK. Drug in Pregnancy and Lactation. 10th ed. Wolters Kluwer Health; 2015. p.268-9,574-5,783,1403
5. Lexi-Comp, Inc. Terbinafine (systemic). In: Drug information. [Online]. Available from: UpToDate online; 2020. [cited 2020 Dec 25].
6. Lexi-Comp, Inc. Itraconazole. In: Drug information. [Online]. Available from: UpToDate online; 2020. [cited 2020 Dec 25].
7. Accord Healthcare Limited. Fluconazole 150mg Capsules. [cited 19 Dec 2020]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/6086/smpc#gref
8. Accord-UK Ltd. Amorolfine 5% w/v Medicated Nail Lacquer. [cited 19 Dec 2020]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/3292/smpc#gref
9. Lexi-Comp, Inc. Ciclopirox. In: Drug information. [Online]. Available from: UpToDate online; 2020. [cited 2020 Dec 25].
10. Creo Pharma Limited. Tioconazole 283 mg/ml medicated nail laquer. [cited 19 Dec 2020]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/8643/smpc#gref
11. Gupta AK, Foley KA, Mays RR, Shear NH, Piguet V. Monotherapy for toenail onychomycosis: a systematic review and network meta-analysis. Br J Dermatol. 2020;182(2):287-299. doi:10.1111/bjd.18155
12. Auvinen T, Tiihonen R, Soini M, Wangel M, Sipponen A, Jokinen JJ. Efficacy of topical resin lacquer, amorolfine and oral terbinafine for treating toenail onychomycosis: a prospective, randomized, controlled, investigator-blinded, parallel-group clinical trial. Br J Dermatol. 2015;173(4):940-948. doi:10.1111/bjd.13934
13. Feng X, Xiong X, Ran Y. Efficacy and tolerability of amorolfine 5% nail lacquer in combination with systemic antifungal agents for onychomycosis: A meta-analysis and systematic review. Dermatol Ther. 2017;30(3):10.1111/dth.12457. doi:10.1111/dth.12457

วันที่ตอบ : 06 ม.ค. 64 - 13:23:42




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110