ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ดิฉันได้รับผลการตรวจเลือดว่าไม่ได้รับเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ B จึ

ดิฉันได้รับผลการตรวจเลือดว่าไม่ได้รับเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ B จึงเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเข็มแรกที่ได้รับนั้นเป็นวัคซีนตัว Engerix-B (Adult dose) แต่เนื่องจากดิฉันได้ย้ายที่อยู่เพื่อมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยทำให้ไม่สามารถกลับไปเข้ารับการฉีดวัคซีนที่เดิมได้ เมื่อถึงกำหนดฉีดเข็มที่ 2 จึงได้นำใบนัดที่มีชื่อวัคซีนตัวแรกมาติดต่อเพื่อรับการฉีดวัคซีนที่นี่ เมื่อถึงเวลาฉีดก็ได้รับวัคซีนตัว Hepatitis B vaccine (Single Dose)ขวดขาวเขียวค่ะ ซึ่งตามที่เข้าใจนั้นก็คือเป็นของคนละผู้ผลิต จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเล็กน้อยว่าวัคซีนคนละตัวที่แม้จะป้องกันโรคเดียวกันแต่เอามาฉีดต่อเนื่องกันในฐานะเข็มที่สองนี้จะมีผลเสียอะไรหรือไม่คะ อาธิ เช่น ในส่วนของประสิทธิภาพ ความคงตัว เป็นต้นค่ะ

[รหัสคำถาม : 189] วันที่รับคำถาม : 06 ม.ค. 64 - 16:04:38 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย การติดต่อจะสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางการได้รับหรือสัมผัสเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด หรือสารคัดหลั่งต่างๆ
ที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ[1]
สำหรับการป้องการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน วัคซีน
ไวรัสตับอักเสบบีที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีอยู่ทั้งหมด 5 บริษัท ได้แก่ Heberbiovac-HB® Euvax-B® Hepavax-Gene® Engerix-B® และ HB Vac Pro® ซึ่งวัคซีนทั้ง 5 บริษัทนี้ เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่ผลิตโดยอาศัยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม[2]โดยใช้แอนติเจนที่พื้นผิวของไวรัสตับอักเสบบีที่ได้จากยีสต์(HBsAg)ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันในการต้านเชื้อและใช้ Aluminium เป็นสารเสริมฤทธิ์เหมือนกัน[3,4,5,6,7] สำหรับปริมาณแอนติเจนจะมีความแตกต่างกันไปแต่ละบริษัทกล่าวคือในผู้ใหญ่ทั่วไปจะมีส่วนประกอบของแอนติเจนอยู่ระหว่าง 10-20 ไมโครกรัมต่อDose ซึ่งบริหารโดยการฉีด 0.5-1 มิลลิลิตร สำหรับการบริหารวัคซีนในผู้ใหญ่ทำได้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดในเดือนที่ 0 เดือนที่
1-2 และเดือนที่ 6-7 ขนาดยาที่สูงจะถูกนำมาใช้ในผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือฟอกไตโดยฉีดวัคซีนในขนาด 40 ไมโครกรัมต่อDose และบริหารโดยการฉีดปริมาตร 1-2 มิลลิลิตร ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับวัยเด็กจะให้ในขนาดที่น้อยกว่า โดยจะให้ในขนาดแอนติเจน 5-10 โมโครกรัม ที่ปริมาตรการฉีด 0.5 มิลลิลิตร
จากตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562[2] ระบุไว้ว่า วัคซีนที่ป้องกันไวรัส
ตับอักเสบบีที่ผลิตด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรมเดียวกันสามารถใช้ทดแทนกันได้ทุกบริษัท ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเข็มแรกของบริษัทหนึ่ง อาจได้รับวัคซีนที่ผลิตจากต่างบริษัทในเข็มถัดไป หากวัคซีนจากทั้ง 2 บริษัทผลิตด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรมเดียวกัน โดยไม่มีผลเสียต่อการสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งสอดคล้องกับรายงานการวิจัยของการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี และอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น โดยการศึกษาจะแบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A กลุ่มที่ได้รับ Euvax B ทั้ง 3 เข็ม กลุ่ม B Engerix-B ทั้ง 3 เข็ม และกลุ่ม C ที่มีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์วัคซีนโดยผู้ที่เข้าร่วมการศึกษากลุ่มนี้จะได้รับวัคซีน Engerix-B ในเข็มแรกและเปลี่ยนมาใช้ Euvax B ใน 2 เข็มถัดไป ผลการศึกษาพบว่าอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันของทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกัน[8,9] โดยพบว่าอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันภายหลังจากการใช้วัคซีนเข็มที่ 2 มีค่าเป็น 95.9%, 94.7%, และ 90.2% ในกลุ่ม A, B, และ C ตามลำดับ ส่วนความปลอดภัยและการเกิดอาการข้างเคียง พบว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นในกลุ่มการศึกษาทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยพบอาการที่มีความรุนแรงระดับน้อยถึงปานกลางและสามารถหายได้เองภายใน 7 วัน อาการดังกล่าวได้แก่ ไข้ อาการปวด แดงบริเวณรอบที่ฉีด และ อาการกระวนกระวาย หงุดหงิด[8]
ดังนั้นจากข้อมูลจากตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562และรายงานการศึกษาทางคลินิกข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ที่ผลิตจาก ต่างบริษัทจาก Engerix B ที่ผู้ถามได้รับในเข็มแรก ยังคงสามารถให้ผลการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เหมือนกัน ส่วนในด้านความปลอดภัยพบว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกับ Engerix B โดยสามารถพบอาการไข้ อาการปวด แดงบริเวณรอบที่ฉีด และ อาการกระวนกระวาย หงุดหงิด ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 7 วัน แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี มีข้อควรพึงระวังนั่นคือควรได้รับวัคซีนตรงตามกำหนดเวลาในเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เนื่องจากมีความสำคัญต่อความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน


Reference
1.Teo EK, Lok AS. Hepatitis B virus immunization in adults. In : Post TW, ed.
UpToDate.Waltham: UpToDate; (Accessed on December 17,2020.)
2. กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.ตำราวัคซีนและการสร้างเสริม
ภูมิคุ้มกันโรคปี 2562.2562;[370].เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/
uploads/publish/938420191209023015.pdf.เข้าถึงเมื่อ 17 ธันวาคม 2562.
3.FDA. EngerixTM-B.2011;[10].Available at : https://www.fda.moph.go.th/sites/
drug/Summary/1C_963_29_Engerix-B.pdf. Accessed December,17,2020.
4.FDA. Hepavax-Gene® TF;[4].Available at : https://www.fda.moph.go.th/sites
/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1042520003511C-
SPC.pdf. Accessed December,17,2020.
5.FDA. EUVAX B. 2018;[4]. Available at : https://www.fda.moph.go.th/sites/
drug/Shared%20Documents/ Vaccine/U1DR1C1022410022311C-SPC.pdf.
Accessed December ,17,2020.
6.FDA. Heberbiovac HB;[6].Available at : https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/
Summary/1C_23_45_Heberbiovac%20HB.pdf. Accessed December 17,2020.
7.EMEA. HBVAXPRO.2005;[10].Available at : https://www.ema.europa.eu/en/
documents/scientific-discussion/hbvaxpro-epar-scientific-discussion_en.pdf.
Accessed December,17,2020.
8. Tregnaghi M, Ussher J, Baudagna AM, Calvari M, Graña G. Comparison of two
recombinant hepatitis B vaccines and their interchangeability in Argentine
infants. Rev Panam Salud Publica. 2004;15(1):35-40. doi:10.1590/s1020-
49892004000100006

วันที่ตอบ : 06 ม.ค. 64 - 16:10:48




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110