ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา Acetazolamideหรือ Furosemide หรือยาอื่นใดที่ใช้รักษาหรือลดน้ำคั่งในโพรงสมอง (

ยา Acetazolamideหรือ Furosemide หรือยาอื่นใดที่ใช้รักษาหรือลดน้ำคั่งในโพรงสมอง (ลด Cerebrospinal fluid (CSF) ได้ ? (ผู้ป่วย อายุ 64 ปี เมื่อเดือน เมษา 60 ทรงตัวไม่ดี หกล้มบ่อย ตัวแข็งเกร็ง เดินช้า สมาธิสั้น ปัสสาวะราดและกลั้นไม่ได้ (คล้ายโรคพากินสัน อัลไซเมอร์ และไข้สมองอักเสบ) ครั้งแรกหมอวินิจฉัยเป็นโรค พากินสัน ผล LAB และ MRI น้ำไขสันหลังและสมองปกติแต่เจาะระบายน้ำสมองออกผ่านไขสันหลังแล้วดีขึ้น)

[รหัสคำถาม : 19] วันที่รับคำถาม : 13 ม.ค. 63 - 15:48:17 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากโพรงน้ำในสมอง (ventricular) มีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดการอุดกั้นการไหลของน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid; CSF ) ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติที่ขึ้นกับ อายุ และระยะเวลาการดำเนินไปของโรค กรณีเกิดในผู้สูงอายุ อาการจะค่อยเป็นค่อยไปและความดันในกระโหลกปกติ จัดเป็นภาวะน้ำคั่งในสมองชนิดความดันปกติ (normal-pressure hydrocephalus ;NPH) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหลักๆคือ เดินเซ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ และความจำบกพร่อง การรักษาโดยไม่ใช้ยาคือ การระบายน้ำออกจากโพรงสมอง (shunt surgery) ทำให้ความจำและการทรงตัวของผู้ป่วยเกิดการฟื้นฟูจนสมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์หลังจากรักษาไปแล้วหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน Acetazolamide[1,2] และ Furosemide[2] เป็นยาที่มักนำมาใช้ในการรักษาภาวะน้ำคั่งในสมองเนื่องจากมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ลดการสร้าง CSF
Acetazolamide(ACZ) เป็นยาขับปัสสาวะกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ carbonic anhydrase (CA) ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้มีบทบาทสําคัญในการควบคุมการดูดกลับโซเดียมคาร์บอเนต (Na2CO3) และการหลั่งกรด (H+) ที่ท่อไตส่วน proximal โดยบริเวณนี้จะมีการขนส่งโซเดียม (Na+) เข้าสู่เซลล์ แลกกับการขับไฮโดรเจนไอออน (H+) ออกจากเซลล์ ดังนั้นการยับยั้งเอนไซม์ CA จึงมีผลให้การแลกเปลี่ยน Na+ และ H+ ลดลง นอกจากนี้สามารถพบเอนไซม์CA ได้ที่เนื้อเยื่อบริเวณระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ซึ่ง ACZ จะออกฤทธิ์เช่นเดียวกับบริเวณท่อไตส่วนต้นคือ ยับยั้งเอนไซม์ CA ทำให้ Na+ เข้าเซลล์ลดลง การแลกเปลี่ยน Na+ กับ K+ ในกระบวนการ Na+/K+ ATPase[3] ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการผลิตน้ำไขสันหลัง (CSF) ถูกรบกวน นำไปสู่การผลิต CSF ลดลง[2] ดังนั้นมีการนำ ACZ มาใช้ในการรักษาเสริมภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ (NPH) หรือในกรณีที่ไม่สามารถทำ shunt surgery ซึ่งเป็นการรักษาหลักของภาวะ NPH[1]
มีการศึกษาในผู้ป่วยอายุ 72-90 ปี ที่มีภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองชนิดไม่ทราบสาเหตุ ( idiopathic normal-pressure hydrocephalus; iNPH) และมีข้อห้ามในการทำ shunt surgery ได้รับการรักษาด้วย ACZ ขนาดต่ำ (125–375 มก. / วัน) เป็นเวลา 4-10 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วย 5 ใน 8 รายมีรูปแบบการเดินและพยาธิสภาพทางสมองดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[4] เช่นเดียวกับอีกการศึกษาในผู้ป่วย iNPH อายุ 65-83 ปี ผู้ป่วย 8 ราย ได้รับ ACZ (125-375 มก. / วัน) เป็นเวลา 3 เดือน ตอบสนองต่อการรักษา 7 ราย ซึ่งประเมินจากรูปแบบการเดินและความจำที่ดีขึ้น[5] อย่างไรก็ตามการศึกษาดังกล่าวมีข้อจำกัดเนื่องจากศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดเล็ก
Furosemide เป็นยาขับปัสสาวะกลุ่มยับยั้ง Na+ -K + -2Cl symporter ทำให้ยับยั้งการดูดกลับ Na+ K- และ Cl- บริเวณ thick ascending limb ของท่อไต Na+ถูกขับออกเพิ่มขึ้น 25% จึงเป็นการเพิ่มการขับ NaCl และน้ำออกทางปัสสาวะ กลไกดังกล่าวยังมีผลยับยั้งการหลั่ง Cl- จากเลือดไปยังไขสันหลัง ทำให้การผลิต CSF ที่ไขสันหลังลดลง นอกจากนี้ furosemide มีผลเพิ่มความจุของหลอดเลือดดำ (systemic venous capacitance) อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แรงดันภายในหัวใจห้องล่างซ้าย และแรงดันของเลือดที่เข้าสู่หัวใจห้องบนขวาลดลง[3] ซึ่งในการศึกษามีการใช้ Furosemide ร่วมกับ ACZ เพื่อรักษาภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองในเด็กแรกเกิดที่มีภาวะความดันในโพรงสมองสูง เนื่องจากมีเลือดออกในโพรงสมอง[6] แต่ไม่พบการศึกษาที่ใช้ Furosemide ในการรักษา NPH
โดยสรุปยาที่มีการใช้รักษาภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้ป่วยสูงอายุ คือ Acetazolamide ซึ่งเป็นการใช้ยาแบบนอกข้อบ่งใช้ (off-label)[7] ขนาดการรักษา 125-375 มก. / วัน[4-6] ระยะเวลาตอบสนอง 1-3 เดือน[4,5] กลไกการออกฤทธิ์ลดการสร้าง CSF จึงลดขนาดของโพรงน้ำในสมอง ทำให้พยาธิสภาพทางสมองและอาการทางคลินิกดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยา Acetazolamide เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemic) ภาวะคลอไรด์ในเลือดสูง (hyperchloremic) หรือภาวะเลือดเป็นกรด(metabolic acidosis)[2] ดังนั้นควรรักษาด้วยการทำ shunt surgery เป็นหลัก[1,2] และอาจพิจารณาใช้ยา Acetazolamideกรณีที่ไม่สามารถทำ shunt surgery หรือไม่ตอบสนองต่อการทำ shunt surgery[1]
เอกสารอ้างอิง
[1] Ropper AH, Samuels MA, Klein JP, Prasad S. Disturbances of Cerebrospinal Fluid, Including Hydrocephalus, Pseudotumor Cerebri, and Low-Pressure Syndromes. Adams and Victor's Principles of Neurology, 11e New York, NY: McGraw-Hill; .http://accessmedicine.mhmedical.com/
content.aspx?bookid=1477§ionid=145989641. Accessed November 02, 2019.
[2] Goker B., Tamburrini G. (2018) Medical Treatment of Hydrocephalus. In: Di Rocco C., Pang D., Rutka J. (eds) Textbook of Pediatric Neurosurgery. Springer, Cham.
[3] Brunton LL, Chabner BA, Knollmann BC. Goodman & Gilman's The Pharmacological Basis of Therapeutics. 12th edition. New York: McGraw-Hill; 2011.p 677-86.
[4] Alperin N, Oliu CJ, Bagci AM, Lee SH, Kovanlikaya I, Adams D, Katzen H, Ivkovic M, Heier L, Relkin N. Low-dose acetazolamide reverses periventricular white matter hyperintensities in iNPH. Neurology. 2014;82(15):1347-51.
[5] Ivkovic M, Reiss-Zimmermann M, Katzen H, Preuss M, Kovanlikaya I, Heier L,Alperin N, Hoffmann KT, Relkin N. MRI assessment of the effects of acetazolamide and external lumbar drainage in idiopathic normal pressure hydrocephalus. Fluids Barriers CNS. 2015. 2;12:9.
[6] Kennedy CR, Ayers S, Campbell MJ, Elbourne D, Hope P, Johnson A. Randomized,controlled trial of acetazolamide and furosemide in posthemorrhagic ventricular dilation in infancy: follow-up at 1 year. Pediatrics. 2001;108(3):597-607.


วันที่ตอบ : 14 ม.ค. 63 - 14:18:18




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110