ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กรณีผู้ป่วยเม็ดเลือดขาวต่ำจากยา หลังจากแพทย์ทราบสาเหตุและได้ทำการหยุดยาแล้ว ระดั

กรณีผู้ป่วยเม็ดเลือดขาวต่ำจากยา หลังจากแพทย์ทราบสาเหตุและได้ทำการหยุดยาแล้ว ระดับเม็ดเลือดขาวจะกลับมาปกติหรือไม่ กินยาประมาณ 3 วัน หยุดยาได้ประมาณ 6 วันแล้วครับ

[รหัสคำถาม : 191] วันที่รับคำถาม : 06 ม.ค. 64 - 22:39:22 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) คือภาวะที่มีการลดลงของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (neutrophil) จนมีระดับ 500 cell/mm3 หรือต่ำกว่า[1,2,3] อุบัติการณ์การเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำยังไม่ทราบแน่ชัด มีรายงานว่าอยู่ในช่วง 1.1 ถึง 15.4 คนต่อประชากร 1 ล้านคน[3] ส่วนประเทศในแถบยุโรปพบ 1.6 ถึง 9.2 คนต่อประชากร 1 ล้านคน และประเทศสหรัฐอเมริกาพบ 2.4 ถึง 15.4 คนต่อประชากร 1 ล้านคน[1,3] ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยา อุบัติการณ์ของภาวะดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลเนื่องจากการใช้ยาที่เพิ่มสูงขึ้นในประชากรช่วงวัยดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า กลไกการเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากยา อาจเกิดผ่านกลไกการเป็นพิษโดยตรง (direct toxicity) หรือ กลไกความเป็นพิษผ่านระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune-mediated toxicity) ก็ได้[1,3]
ยาที่เป็นสาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมีรายงานอยู่มากมาย ยาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะดังกล่าวค่อนข้างต่ำ แต่จะพบความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อใช้ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาต้านจิตเภท (antipsychotics) โดยเฉพาะยา clozapine ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) เช่น ยากลุ่ม beta-lactams และกลุ่มยาต้านไทรอยด์ (antithyroid medications) ยา ticlopidine เกลือทอง ยา phenylbutazone ยา penicillamine เป็นต้น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากยามักมีอาการภายใน 3 ถึง 6 เดือนหลังเริ่มใช้ยาที่เป็นสาเหตุ[1,2,3] โดยทั่วไปมักจะเกิดหลังใช้ยาอย่างน้อย 1 เดือน การเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากยานั้น หากเกิดผ่านกลไกทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มักจะเกิดอาการภายในไม่กี่วันจนถึงไม่กี่สัปดาห์หลังเริ่มยา ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดผ่านกลไกการเป็นพิษโดยตรงจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป[1,2,3]
หลักการรักษาภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากยา คือ การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ โดยหลังจากหยุดยาระดับเม็ดเลือดขาวจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับปกติภายใน 1-3 สัปดาห์[1,2,3,4,5,6] ทั้งนี้ระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และชนิดของยาที่เป็นสาเหตุ ตัวอย่างเช่น กลุ่มยาต้านไทรอยด์ (ยา methimazole หรือ ยา propylthiouracil) ซึ่งพบว่าหลังหยุดยาผู้ป่วยจะมีระดับเม็ดเลือดขาวกลับสู่ระดับปกติภายในระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ 5.4 วัน ไปจนถึง 16.4 วัน[7] ยา clozapine ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคจิตเภท มีระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยจะมีระดับเม็ดเลือดขาวกลับสู่ระดับปกติคือ 12 วัน[8] และยาปฏิชีวนะกลุ่ม beta-lactams มีระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยจะมีระดับเม็ดเลือดขาวกลับสู่ระดับปกติคือ 5.96 วัน[9]
ส่วนการรักษาทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ การใช้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว เช่นยา sargramostim และยา filgrastim จะทำให้เม็ดเลือดขาวสามารถกลับสู่ระดับปกติได้เร็วขึ้น ลดระยะเวลาการใช้ยาปฏิชีวนะ และลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล โดยทั่วไปมักใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับนิวโตรฟิลต่ำกว่า 100 cells/mm3 [1,3]

เอกสารอ้างอิง
1. Greene EM, Hageman TM. Drug-Induced Hematologic Disorders. In: DiPiro JT, Yee GC, Posay L, Haines ST, Nolin TD, Ellingrod V. editors. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach [Internet]. 11th ed. New York: McGraw-Hill, 2020 [cited 2020 Dec 15]. Available from: https://accesspharmacy.mhmedical.com
2. Coates TD. Drug-induced neutropenia and agranulocytosis [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020 [cited 2020 Dec 15]. Available from: http://www.uptodate.com
3. Lorenzo-Villalba N, Alonso-Ortiz MB, Maouche Y, Zulfiqar AA, Andrès E. Idiosyncratic Drug-Induced Neutropenia and Agranulocytosis in Elderly Patients. J Clin Med. 2020;9(6):1808. doi:10.3390/jcm9061808. PMID: 32531979
4. Curtis BR. Non-chemotherapy drug-induced neutropenia: key points to manage the challenges. Hematology Am Soc Hematol Educ Program. 2017;2017(1):187-193. doi:10.1182/asheducation-2017.1.187. PMID: 29222255
5. Andrès E, Kurtz JE, Martin-Hunyadi C, et al. Nonchemotherapy drug-induced agranulocytosis in elderly patients: the effects of granulocyte colony-stimulating factor. Am J Med. 2002;112(6):460-464. doi:10.1016/s0002-9343(02)01064-1. PMID: 11959056
6. Andrès E, Maloisel F, Kurtz JE, et al. Modern management of non-chemotherapy drug-induced agranulocytosis: a monocentric cohort study of 90 cases and review of the literature. Eur J Intern Med. 2002;13(5):324-328. doi:10.1016/s0953-6205(02)00085-7. PMID: 12144912
7. Wang Y, Li X, Yang Q, et al. Granulocyte-Colony-Stimulating Factor Effectively Shortens Recovery Duration in Anti-Thyroid-Drug-Induced Agranulocytosis: A Systematic Review and Meta-Analysis. Front Endocrinol (Lausanne). 2019;10:789. Published 2019 Nov 22. doi:10.3389/fendo.2019.00789. PMID: 31824417
8. Andersohn F, Konzen C, Garbe E. Systematic review: agranulocytosis induced by nonchemotherapy drugs. Ann Intern Med. 2007;146(9):657-665. doi:10.7326/0003-4819-146-9-200705010-00009. PMID: 17470834
9. Vial T, Bailly H, Perault-Pochat MC, et al. Beta-lactam-induced severe neutropaenia: a descriptive study. Fundam Clin Pharmacol. 2019;33(2):225-231. doi:10.1111/fcp.12419. PMID: 30289173

File
: 169-1609948370.pdf
วันที่ตอบ : 06 ม.ค. 64 - 22:52:50




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110