ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากทราบว่ายารักษาสิวที่ใช้กับพวกสิวอุดตันได้ดี ควรใช้ตัวไหนดีคะ เห็นไปร้านยาจะแ

อยากทราบว่ายารักษาสิวที่ใช้กับพวกสิวอุดตันได้ดี ควรใช้ตัวไหนดีคะ เห็นไปร้านยาจะแนะนำพวก Retin A กับ benzac อ่ะค่ะ ตัวไหนดีกว่ากันอ่ะคะ เป็นคนผิวมัน สิวอุดตันขึ้นพอสมควร และการใช้ Retin A เพื่อรักษาสิวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะเกิดอันตรายหรือไม่

[รหัสคำถาม : 193] วันที่รับคำถาม : 07 ม.ค. 64 - 09:13:13 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สิว (Acne Vulgaris) เป็นการอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ต่อมไขมันทำงานมากกว่าปกติ, มีการแบ่งตัวของชั้นผิวหนัง Stratum corneum มากเกินไป ทำให้เซลล์ผิวหนังมีการจับกันแน่นและอุดตันรูขุมขน, การติดเชื้อแบคทีเรีย P.acne ทำให้เกิดการอักเสบของรูขุมขน[1,2] โดยลักษณะของสิวมี 2 ลักษณะ คือ
1. สิวที่ไม่อักเสบ เช่น สิวหัวเปิด (open comedone) หรือสิวหัวปิด (close comedone)
2. สิวอักเสบ เช่น ตุ่มนูนแดง ขนาดเล็ก (papule), ตุ่มหนอง (pustule), ตุ่มหนองขนาดใหญ่ (Nodule) หรือ สิวหัวช้าง (Cyst) [1,2,3]
การแบ่งประเภทสิวตามความรุนแรง แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ 1.) รุนแรงเล็กน้อย (มี papules และ pustule เล็กน้อยถึงมาก และไม่มี nodule) 2.) รุนแรงปานกลาง (มี papules และ pustule เล็กน้อยถึงมาก และมี nodule เล็กน้อยถึงมาก) และ3.) รุนแรงมาก (มี papules, pustule มาก และมี nodule จำนวนมาก)[2,3]
แนวทางการรักษาสิว จะขึ้นอยู่กับลักษณะของสิวและความรุนแรงของสิว[1,2,3,4] ดังนี้
1. ถ้ามีเฉพาะสิวอุดตัน แนะนำให้ใช้ยาทาเฉพาะที่ เช่น Retinoids หรือ Retinoids ร่วมกับ Benzoyl peroxide
2. ถ้ามีสิวอุดตันร่วมกับสิวอักเสบ แบ่งได้เป็น
2.1 ชนิดรุนแรงเล็กน้อย (Mild acne) แนะนำให้ใช้ยาทาเฉพาะที่ เช่น Retinoids หรือ Benzoyl peroxide หรือ Retinoids ร่วมกับ Benzoyl peroxide
2.2 ชนิดรุนแรงปานกลาง (Moderate acne) แนะนำให้ใช้ยาทาหลายชนิดร่วมกัน ได้แก่
- Benzoyl peroxide + ยาปฏิชีวนะชนิดทาเฉพาะที่ หรือ
- Benzoyl peroxide + Retinoids หรือ
- Retinoids + Benzoyl peroxide + ยาปฏิชีวนะชนิดทาเฉพาะที่
2.3 ชนิดรุนแรงมาก (Severe acne) ยาที่แนะนำให้ใช้ เช่น
- ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน + Benzoyl peroxide + ยาปฏิชีวนะชนิดทาเฉพาะที่ หรือ
- ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน +Benzoyl peroxide + ยาทา Retinoids หรือ
- ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน + Retinoids + Benzoyl peroxide + ยาปฏิชีวนะชนิดทาเฉพาะที่ หรือ
- ยารับประทาน Isotretinoin ในกรณีที่มีสิวชนิด nodules หรือเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น อาการข้างเคียงจากยานี้ เช่น ผิวหนังแห้ง ลอก และไวต่อแสง นอกจากนี้อาจมีอาการตาแห้ง ริมฝีปากแห้ง และระดับไขมันในเลือดผิดปกติยานี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์[5]
Retin-A® มีชื่อสามัญทางยา คือ tretinoin มีความเข้มข้นตั้งแต่ 0.01%, 0.025%, 0.05% และ 0.1% [6] มีจำหน่ายในรูปแบบครีม, เจล, สารละลายน้ำใส (solution) และ โลชั่น(lotion) ยานี้มีฤทธิ์ในการกำจัด comedone เพิ่มการหลุดออกของเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีการลอกและสร้างเซลล์ใหม่และเปิดรูขุมขนที่มีสิวอุดตัน วิธีใช้ คือ ทาบางๆ วันละ 1 ครั้งก่อนนอน ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเช่น ผิวแห้ง ลอก แดง ระคายเคืองบริเวณที่ทา และไวต่อแสงได้ จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดร่วมด้วย[2,4]
Benzac® มีชื่อสามัญทางยา คือ Benzoyl peroxide มีจำหน่ายในรูปแบบเจล, ยาน้ำใส (solution) และ ครีม ในความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5%, 5% และ 10% [7] ยานี้มีฤทธิ์กำจัด comedone และยับยั้งเชื้อ P.acne ยาจะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน วิธีใช้คือ ทาบางๆ เช้า-เย็น ก่อนล้างหน้าประมาณ 15 นาที แล้วล้างออก ในช่วงแรกอาจมีสิวเพิ่มมากขึ้นได้ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น คันหรือปวดแสบผิว ระคายเคืองผิวหนัง ผิวแห้ง ดังนั้นควรเริ่มใช้ยาที่มีความเข้มข้นต่ำๆและทายาเป็นระยะเวลาสั้นๆก่อน ทั้งนี้ประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยานี้ขึ้นอยู่กับยาพื้น (Base) ความแรงของยา รวมถึงระยะเวลาในการสัมผัสยา (Contact time) [2,4]
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ tretinoin เป็นระยะเวลานาน จากการสืบค้นข้อมูล ไม่พบการศึกษาในผู้ที่ใช้ tretinoin เพื่อรักษาสิวโดยตรงเป็นเวลานาน แต่พบการศึกษาในผู้ที่ใช้ tretinoin เพื่อรักษาผิวเสื่อมสภาพจากแสงแดดที่หน้า (photodamaged facial skin) ซึ่งใช้ยานี้เป็นเวลา 2 ปี โดยเทียบกับยาหลอก อาการข้างเคียงที่พบ ได้แก่ ระคายเคืองผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผิวแห้ง[8]
โดยสรุป ยาที่ใช้ในการรักษาสิวจะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของสิวที่เป็น ตามรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น สำหรับ Tretinoin (เช่น Retin-A®) จะมีฤทธิ์ในการกำจัด comedone และผลัดเซลล์ผิว อาการข้างเคียงจากการใช้ยานี้ เช่น ผิวแห้ง ลอก แดง ระคายเคืองบริเวณที่ทา และไวต่อแสงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดและใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดร่วมด้วย ส่วน Benzoyl peroxide (เช่น Benzac®) จะมีทั้งฤทธิ์กำจัด comedone และยับยั้งเชื้อ P.acne อาการข้างเคียงจาการใช้ยานี้ เช่น คันหรือปวดแสบผิว ระคายเคืองผิวหนัง และผิวแห้ง

เอกสารอ้างอิง
1. Titus S, Hodge J. Diagnosis and treatment of acne. Am Fam Physician. 2012 Oct 15; 86(8):734-40.
2. Zaenglein AL, Pathy AL, Schlosser BJ, et.dl. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. J. American Academic of Dermatology.2016
3. Sibbald D. Acne Vulgaris. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey L. eds. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach. 10edition New York: McGraw-Hill; 2017. p.1535-50
4.นภดล นพคุณ, เพ็ญวดี ทิมพัฒนพงษ์, วัณณศรี สินธุภัค และคณะ. แนวทางการรักษาสิว. Clinical Practice Guideline ของสมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย. 2554 เข้าถึงได้จาก http://www.dst.or.th/files_news/Acne_2010. เข้าถึงเมื่อ 15 ธันวาคม 2563.
5. American Pharmacists Association. Drug information handbook with international trade names index. 25th ed. Hudson, Ohio: Lexi-Comp; 2017. p. 996-7
6. American Pharmacists Association. Drug information handbook with international trade names index. 25th ed. Hudson, Ohio: Lexi-Comp; 2017. p. 1841
7. American Pharmacists Association. Drug information handbook with international trade names index. 25th ed. Hudson, Ohio: Lexi-Comp; 2017. p. 219
8. Kang S, Bergfeld W, Gottlieb AB, et al. Long-term efficacy and safety of tretinoin emollient cream 0.05% in the treatment of photodamaged facial skin: a two-year, randomized, placebo-controlled trial. Am J Clin Dermatol. 2005;6(4):245-253. doi:10.2165/00128071-200506040-00005

วันที่ตอบ : 07 ม.ค. 64 - 09:24:33




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110