ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้ป่วยชาย อายุ 38 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง ดื่มเบียร์บ่อยเกือบทุกวัน ไม่สูบบุห

ผู้ป่วยชาย อายุ 38 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง ดื่มเบียร์บ่อยเกือบทุกวัน ไม่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้หรือไม่ ปัจจุบันใช้ amlodipine 5 mg OD, enalapril 5 mg OD ระดับความดันโลหิต 130/80 mmHg

[รหัสคำถาม : 195] วันที่รับคำถาม : 15 ม.ค. 64 - 14:07:45 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ภาวะที่มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ อาจทำให้รู้สึกเหมือนใจสั่นหรือหัวใจหยุดเต้นชั่วคราว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะสั้นๆโดยไม่มีผลกับอัตราการเต้นของหัวใจ หรืออาจมีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าปกติ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทอาจไม่มีอาการแสดง แต่บางประเภทก็อาจทำให้รู้สึกมึนศีรษะหรือเวียนศีรษะได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่[1]
1.ภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) คือ การมีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
2.ภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) คือ การมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติทีเกิดจากแอลกอฮอล์อาจเกิดจากความผิดปกติของแร่ธาตุในร่างกาย การเกิด Prolong QT interval และการเกิดภาวะ hyperadrenergic[2] การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในครั้งเดียวสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้ว่ามีการทำงานของหัวใจปกติ โดยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่พบได้มากที่สุด คือ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) ที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมากและดื่มเป็นระยะเวลานาน[3,4] นอกจากนี้ภาวะโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น 1.42 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และอุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น[4]
มีศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในยุโรปเหนือ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จำนวน 9193 คน อายุเฉลี่ย 67 ปี ความดันโลหิตเฉลี่ย 174/98 mmHg ที่ได้รับยาลดความดันโลหิต losartan หรือ atenolol วันละครั้ง ไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว 353 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4) โดยผู้ป่วยที่เกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า มีค่าความดันซิสโทลิคเริ่มต้นสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรค และพบว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากกว่า 10 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ (ประมาณ 14-17 กรัมของเอทานอลต่อวัน) มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว 1.83 เท่าของผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยกว่า 10 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์หรือผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์[5] ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมานที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์แบบเรื้อรังกับอุบัติกาณ์การเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยใช้การศึกษาแบบ Prospective cohort จำนวน 9 การศึกษา ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 249,496 คน ที่มีโรคร่วมอื่นๆที่ไม่ใช่โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มีอายุเฉลี่ย 60.4±10.4 ปี และร้อยละ 56.6 เป็นเพศหญิง พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากกว่า 3 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (30-36 กรัมของเอทานอล) มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น คิดเป็น 1.34 เท่าของคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่า 1 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ (10-12 กรัมของเอทานอล) ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1-2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (10-24 กรัมของเอทานอลต่อวัน) จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วขึ้นเฉพาะในเพศชาย แต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในเพศหญิง และการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน ไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว[6]
มีการศึกษาในชาวเกาหลีที่มีสุขภาพดีที่ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ จำนวน 19,634 คน (ร้อยละ 50 เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 47.1 ปี) พบผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว 160 คน (คิดเป็นร้อยละ 0.8) โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มีอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว 2.21 เท่าของผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกลุ่มที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากกว่า 5 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (50-60 กรัมของเอทานอลต่อวัน) และดื่มมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คิดเป็น 3.15 เท่าของกลุ่มที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยกว่า 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (20-24 กรัมของเอทานอลต่อวัน) และดื่มไม่เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์[7]
ข้อมูลจากการศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เพิ่มขึ้นทั้งในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและคนที่มีสุภาพดี ซึ่งอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วสัมพันธ์กับปริมาณและความถี่ของการดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากกว่า 3 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (30-42 กรัมของเอทานอลต่อวัน) จะเป็นปริมาณแอลกอฮอล์ที่น้อยที่สุดที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แต่ในเพศชายพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณ 1-2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (10-24 กรัมของเอทานอลต่อวัน) ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ และในคนที่มีสุขภาพดี การดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆก็เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้เช่นกัน โดยการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากกว่า 5 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (50-60 กรัมของเอทานอลต่อวัน) และดื่มมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยน้อยกว่า 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (20-24 กรัมของเอทานอลต่อวัน) และดื่มไม่เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆและลดความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหรือการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอื่นๆ

เอกสารอ้างอิง
1. American Heart Association. What is an Arrhythmia [Internet]. [cited 2020 Dec 18]. Available from: https://www.heart.org/-/media/files/health-topics/answers-by-heart/pe-abh-what-is-arrhythmia-ucm_300290.pdf?la=en.
2. Mihic SJ, Koob GF, Mayfield J, Harris RA. Ethanol. In: Brunton LL, Hilal-Dandan R, Knollmann BC, editors. Goodman & Gilman’s: The Pharmacological Basis of Therapeutics [Internet]. 13th ed. New York, NY: McGraw-Hill Education; 2017 [cited 2020 Dec 14]. Available from: accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?aid=1162537223.
3. Day E, Rudd JHF. Alcohol use disorders and the heart. Addiction. 2019 Sep;114(9):1670–8.
4. Uptodate [Internet]. Epidemiology of and risk factors for atrial fibrillation. [cited 2020 Dec 15]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/epidemiology-of-and-risk-factors-for-atrial-fibrillation?sectionName=Alcohol&topicRef=2784&anchor=H29&source=see_link#H29.
5. Ariansen I, Reims HM, Gjesdal K, Olsen MH, Ibsen H, Devereux RB, et al. Impact of alcohol habits and smoking on the risk of new-onset atrial fibrillation in hypertensive patients with ECG left ventricular hypertrophy: The LIFE Study. Blood Pressure. 2012 Feb;21(1):6–11.
6. Gallagher C, Hendriks JML, Elliott AD, Wong CX, Rangnekar G, Middeldorp ME, et al. Alcohol and incident atrial fibrillation – A systematic review and meta-analysis. International Journal of Cardiology. 2017 Nov;246:46–52.
7. Cha M-J, Oh GC, Lee H, Park HE, Choi S-Y, Oh S. Alcohol consumption and risk of atrial fibrillation in asymptomatic healthy adults. Heart Rhythm. 2020 Dec;17(12):2086–92.
วันที่ตอบ : 15 ม.ค. 64 - 14:18:30




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110