ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากทราบประสิทธิภาพของวัคซีนมะเร็งปากมดลูกว่ามีประสิทธิภาพดีแค่ไหน และชนิดใดมีปร

อยากทราบประสิทธิภาพของวัคซีนมะเร็งปากมดลูกว่ามีประสิทธิภาพดีแค่ไหน และชนิดใดมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน

[รหัสคำถาม : 196] วันที่รับคำถาม : 21 ม.ค. 64 - 21:55:50 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus หรือ HPV ซึ่งมีมากกว่า 40 ชนิดและสามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยตรง สายพันธุ์ที่พบประมาณ 70% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกคือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ในปัจจุบันมี วัคซีน HPV วางจำหน่ายในท้องตลาด 3 ชนิด คือ
1. Bivalent vaccine (Cervarix® บริษัท GlaxoSmithKline) ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 บริหารโดยการฉีดเข้ากล้ามที่เดือน 0 (เข็มแรก) เดือนที่ 1 (เข็มที่ 2) และเดือนที่ 6 (เข็มที่ 3)(2)
2. Quadrivalent vaccine (GARDASIL®/Silgard® บริษัท Merck & Co5) ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV สายพันธ์ 16 และ 18 รวมทั้งป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่จากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 บริหารโดยการฉีดเข้ากล้ามที่เดือน 0 (เข็มแรก) เดือนที่ 2 (เข็มที่ 2) และเดือนที่ 6 (เข็มที่ 3)(2)
3. 9-valent vaccine (GARDASIL®9 บริษัท Merck) ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ จากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 18 31 33 45 52 และ 58 รวมทั้งป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่จากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 บริหารโดยการฉีดเข้ากล้ามที่เดือน 0 (เข็มแรก) เดือนที่ 2 (เข็มที่ 2) และเดือนที่ 6 (เข็มที่ 3)(2) อย่างไรก็ตามหากฉีดเข็มแรกในช่วงอายุ 9-14 ปี สามารถฉีด เพียง 2 เข็มได้โดยฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน(2,7)
วัคซีน bivalent vaccine (Cervarix®) และ quadrivalent vaccine (GARDASIL®) มีรายงานอุบัติการณ์ในการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ18 ภายหลังการฉีดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(3) อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิจัยแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ที่ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบทางสถิติโดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากงานศึกษาวิจัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน พบว่า วัคซีน bivalent vaccine ไม่มีฤทธิ์ป้องกันคลอบคลุมเชื้อ HPV สายพันธ์ 6 และ 11 ซึ่งก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ แต่วัคซีน quadrivalent vaccine (GARDASIL®) สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศจากเชื้อ HPV สายพันธ์ 6 และ 11 ได้โดยมีอุบัติการณ์การเกิดการเกิดโรคภายหลังการฉีด 6 ต่อ 3173 คนต่อปี(4) จากรายงานการศึกษาทางคลินิกมาตรฐานแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและปกปิดสองทาง (randomized controlled trial double blind) ในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน 9-valent vaccine (GARDASIL®9) เทียบกับชนิด quadrivalent vaccine (GARDASIL®/Silgard®) ในเอเชีย พบว่า วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่ และมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV สายพันธ์ 6 11 16 และ 18 เท่าเทียมกันประมาณ 97% แต่วัคซีนชนิด 9-valent มีประสิทธิภาพในการป้องกันการมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 31 33 45 52 และ58 ได้ 95.8%(5) อย่างไรก็ตามจากรายงานการติดตามผลระยะเวลานาน 5 ปี พบว่า อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกภายหลังการฉีดของวัคซีนทั้งสองชนิดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (47 ต่อ 1000 คน)(4)
โดยสรุปวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกทั้ง 3 ชนิดมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV สายพันธ์ 16 และ 18 วัคซีนชนิด quadrivalent และ 9-valent vaccine มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันในการป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่จากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 วัคซีน 9-valent vaccine ให้ประโยชน์เพิ่มเติมที่สามารถครอบคลุมการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ จากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 18 31 33 45 52 และ 58
ดังนั้นการเลือกใช้วัคซีนชนิดใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อ HPV สายพันธุ์ใดและมะเร็งชนิดใด รวมทั้งการมีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิด quadrivalent และ 9-valent vaccine ในคนที่แพ้ยีสต์ และหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิดที่มีที่ปิดหัวเข็มทำมาจากน้ำยาง (latex) ในผู้ที่แพ้น้ำยาง(6) องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้ง 3 ชนิดในผู้หญิง และฉีดวัคซีนชนิด quadrivalent และ 9-valent vaccine ในผู้ชาย การฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีที่สุดเมื่อได้รับก่อนมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุ 9 ถึง 26 ปี(7) อาการข้างเคียงที่พบบ่อยหลังการฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด และมีไข้

เอกสารอ้างอิง
1. Cheng L, Wang Y, Du J. Human Papillomavirus Vaccines: An Updated Review. Vaccines 2020; 8: 391. doi:10.3390/vaccines8030391.
2. Centers for disease control and prevention. Human Papillomavirus (HPV) Vaccination. 2020. Available at:
https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/hpv/public/index.html#:~:text=Three%20HPV%20vaccines%E2%80%949%2Dvalent,that%20cause%20most%20HPV%20cancers.
Accessed on December, 15, 2020.
3. Latsuzbaia A, Arbyn M, Tapp J, et al. Effectiveness of bivalent and quadrivalent human papillomavirus vaccination in Luxembourg. Cancer Epidemiol. 2019; 63:101-593.
doi: 10.1016/j.canep.2019.101593.
4. Bergman H, Buckley B, Villanueva G, et al. Comparison of different human papillomavirus (HPV) vaccine types and dose schedules for prevention of HPV-related disease in females and males. Cochrane Database Syst Rev. 2019;(11): CD013479.
doi:10.1002/14651858.CD013479.
5. Garland SM, Pitisuttithum P, Ngan H, et al. Efficacy, immunogenicity, and safety of a 9-valent human papillomavirus vaccine: subgroup analysis of participants from Asian countries. J Infect Dis. 2018;218(1):95-108. doi: 10.1093/infdis/jiy133.
6. Centers for disease control and prevention. HPV vaccine recommendations. Available at:
https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/hpv/hcp/recommendations.html.
Accessed on December, 15, 2020.
7. World health organization. Guidelines for the prevention and control of cervical cancer. WHO. Available at:
http://www.who.int/reproductivehealth/topics/cancers/hpv-vaccination/en/.
Accessed on December, 15, 2020.
8. Huh W, Joura E, Giuliano A, et al. Final efficacy, immunogenicity, and safety analyses of a nine-valent human papillomavirus vaccine in women aged 16–26 years: a randomized, double-blind trial. Lancet. 2017;390(10108):2143-2159.
doi: 10.1016/S0140-6736(17)31821-4.


วันที่ตอบ : 21 ม.ค. 64 - 22:20:35




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110