ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ในการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วย HIV ซึ่ง Itraconazole (200 mg) OD สามาร

ในการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วย HIV ซึ่ง Itraconazole (200 mg) OD สามารถป้องกันเชื้อ Cryptococcosis , Penicilliosis และ Histoplasma
แล้วอยากทราบว่า ถ้าใช้ Fluconazole (400 mg)
1 tab/week จะสามารถป้องกัน เชื้อ Cryptococcosis , Penicilliosis และ Histoplasma ได้ไหม

[รหัสคำถาม : 20] วันที่รับคำถาม : 13 ม.ค. 63 - 15:55:08 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ในปัจจุบันการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ได้แนะนำดังนี้[1,2]
- CD4 < 200 cells/mm3 ป้องกัน pneumocystis pneumonia
- CD4 < 150 cells/mm3 ป้องกัน histoplasmosis
- CD4 < 100 cells/mm3 ป้องกัน cryptococcosis, toxoplasmic encephalitis และ penicilliosis
- CD4 < 50 cells/mm3 ป้องกัน Mycobacterium avium complex
สำหรับยาที่แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกัน cryptococcosis คือ fluconazole รับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง[1] ส่วน Histoplasmosis และ Penicilliosis จะแนะนำให้ใช้ยาป้องกันในบุคคลกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น คือ บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อชุกชุม[1,2] เช่น ภาคเหนือ พื้นที่ที่ปนเปื้อนไปด้วยมูลไก่ มูลนก หรือมูลค้างคาว เป็นต้น[2] โดยยาที่แนะนำให้ใช้คือ itraconazole รับประทานขนาด 200 มิลลิกรัม วันละครั้ง[1,2] หรือยาทางเลือกสำหรับ penicilliosis คือ fluconazole รับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง[2]
ประสิทธิภาพของยา Fluconazole และ Itraconazole ในการป้องกัน cryptococcosis หรือ histoplasmosis และ penicilliosis มีการศึกษา เช่น
1) การศึกษาแบบ randomized double-blind controlled trial ในปี 1999 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของ fluconazole เทียบกับ itraconazole สำหรับป้องกันการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่ได้รับการรักษา cryptococcal meningitis จนครบแล้ว ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับ fluconazole หรือ itraconazole ขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 เดือน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ itraconazole จำนวน 57 คน มีการกลับเป็นซ้ำ 13 คน (ร้อยละ 23) ส่วนกลุ่มที่ได้รับ fluconazole จำนวน 51 คน มีการกลับเป็นซ้ำ 2 คน (ร้อยละ 4) ซึ่งกลุ่มที่ได้รับ fluconazole มีการกลับเป็นซ้ำน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ itraconazole อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.006)[3]
2) การศึกษาแบบ prospective clinical trials ในปี 2002 เพื่อศึกษาผลของการรักษา histoplasmosis ด้วย itraconazole เปรียบเทียบกับ fluconazole ในผู้ป่วย HIV ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีการตอบสนองทางคลินิกไม่แตกต่างกัน แต่ผลการเพาะเชื้อจากเลือด (blood cultures) ในสัปดาห์ที่ 4 พบว่ากลุ่มที่ได้รับ itraconazole มีอัตราส่วนของผู้ที่มีผลเพาะเชื้อที่เป็นลบมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ fluconazole คิดเป็นร้อยละ92.3 และ 61.9 ตามลำดับ (P=0.017)[4]
3) การศึกษาแบบ retrospective study ในปี 2011 เพื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของการติดเชื้อราและ disease-free survival ในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่ได้รับยาป้องกันการเกิดโรคด้วย fluconazole 400 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง หรือ itraconazole 200 มิลลิกรัม วันละครั้ง ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยได้รับ fluconazole 276 ราย ติดเชื้อราในกระแสเลือดจำนวน 7 ราย ซึ่งติดเชื้อ cryptococcal meningitis 2 ราย และติดเชื้อ penicilliosis marneffei ระยะกระจาย 5 ราย ส่วนกลุ่มที่ได้รับ itraconazole 32 ราย ติดติดเชื้อ penicilliosis marneffei ระยะกระจาย 2 ราย ทั้งนี้ผลดังกล่าวไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม HR เท่ากับ 0.48 (95%CI; 0.44-10.24) (p=0.338) และกลุ่มที่ได้รับ fluconazole และ itraconazole มีผู้เสียชีวิต 8 และ 2 รายตามลำดับ HR เท่ากับ 0.22 (95%;CI 0.15, 1.40) (p=0.180)[5]
โดยสรุปหากเป็นการป้องกัน cryptococcosis จะแนะนำให้ใช้ fluconazole ส่วนการป้องกัน histoplasmosis และ penicilliosis จะแนะนำให้ใช้ itraconazole[1,2] การใช้ fluconazole เพื่อป้องกันโรค cryptococcosis , penicilliosis และ histoplasmosis [3-5] มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค histoplasmosis น้อยกว่าการใช้ itraconazole[2]

เอกสารอ้างอิง
[1] แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2560
[2] Panel on Opportunistic Infections in Adults and Adolescents with HIV. Guidelines for the prevention and treatment of opportunistic infections in adults and adolescents with HIV: recommendations from the Centers for Disease Control and Prevention, the National Institutes of Health, and the HIV Medicine Association of the Infectious Diseases Society of America. Available at http://aidsinfo.nih.gov/contentfiles/lvguidelines/adult_oi.pdf.
[3] Saag MS, Cloud GA, Graybill JR, Sobel JD, Tuazon CU, Johnson PC, et al. A comparison of itraconazole versus fluconazole as maintenance therapy for AIDS-associated cryptococcal meningitis. National Institute of Allergy and Infectious Diseases Mycoses Study Group. Clin Infect Dis. 1999 Feb;28(2):291-6.
[4] Chaiwarith R, Fakthongyoo A, Praparattanapan J, Boonmee D, Sirisanthana T, Supparatpinyo K. Itraconazole vs fluconazole as a primary prophylaxis for fungal infections in HIV-infected patients in Thailand. Curr HIV Res. 2011 Jul;9(5):334-8.
[5] Wheat LJ, Connolly P, Haddad N, Le Monte A, Brizendine E, Hafner R. Antigen clearance during treatment of disseminated histoplasmosis with itraconazole versus fluconazole in patients with AIDS. Antimicrob Agents Chemother. 2002 Jan;46(1):248-50.


วันที่ตอบ : 14 ม.ค. 63 - 07:02:34




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110