ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้ป่วยหญิงอายุ 51 ปี หลังจากหมดประจำเดือน มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ มีอา

ผู้ป่วยหญิงอายุ 51 ปี หลังจากหมดประจำเดือน มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ มีอาการเจ็บช่องคลอดบ้าง ได้ยาจากร้านยาเป็น Gynophor อยากทราบว่าจะได้ผลหรือไม่ หากใช้ estrogen รับประทานจะได้ผลดีหรือไม่

[รหัสคำถาม : 204] วันที่รับคำถาม : 09 ก.พ. 64 - 10:36:25 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะ genitourinary symptoms of menopause (GSM) คือ ภาวะที่มีอาการทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โดยร้อยละ 50 ขึ้นไปของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีภาวะนี้[1] ซึ่งสาเหตุมาจากรังไข่หยุดทำงานอย่างถาวร จึงไม่สามารถสร้างฮอร์โมน estrogen ได้ ทำให้ระดับฮอร์โมน estrogen ในกระแสเลือดลดลง อาการที่พบได้แก่ ช่องคลอดแห้ง ระคายเคือง แสบและคันที่บริเวณช่องคลอด ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อย และมีการติดเชื้อซ้ำที่ทางเดินปัสสาวะ (Recurrent urinary tract infection)[2]

การรักษาภาวะ GSM ประกอบด้วย 2 วิธี ได้แก่ การรักษาที่ไม่ใช้ยาและใช้ยา ซึ่งถ้าอาการไม่รุนแรงจะให้การรักษาที่ไม่ใช้ยาด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารรสจัด เป็นต้น ส่วนการรักษาด้วยยาประกอบด้วยการใช้ฮอร์โมนรักษา (hormone therapy) และไม่ใช้ฮอร์โมนรักษา (nonhormonal medications) เลือกใช้แต่ละวิธีตามความรุนแรงของอาการและปัจจัยเสี่ยงในแต่ละราย เช่น โรคหลอดเลือดและหัวใจ มะเร็งเต้านม ภาวะกระดูกพรุนและแตกหัก และการอุดตันของลิ่มเลือดที่หลอดเลือด หากอาการไม่รุนแรงอาจจะใช้การรักษาที่ไม่ใช้ฮอร์โมน เช่น สารหล่อลื่นและสารเพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้ามีอาการระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง ต้องให้การรักษาด้วยฮอร์โมนรูปแบบเฉพาะที่ (local (vaginal) estrogen therapy) หรือชนิดรับประทาน (systemic estrogen therapy)

ผู้ป่วยที่มีอาการทางช่องคลอดเพียงอย่างเดียว แนะนำให้การรักษาด้วยฮอร์โมนรูปแบบเฉพาะที่ มากกว่า เนื่องจากถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดน้อยและมีประสิทธิภาพในบรรเทาอาการได้ร้อยละ 80-90 ในขณะที่การรักษาด้วยชนิดรับประทานบรรเทาอาการได้ร้อยละ 75 ทำให้อาการฝ่อของเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุทางเดินปัสสาวะดีขึ้น ลดความเป็นด่างและเพิ่มความเป็นกรดของช่องคลอด ลดความเสี่ยงของอาการทางเดินปัสสาวะส่วนล่างและการติดเชื้อซ้ำที่การเดินปัสสาวะได้[3] การรักษาด้วยฮอร์โมนรูปแบบเฉพาะที่ ทำให้ความเป็นด่างในช่องคลอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เกิดการเปลี่ยนแปลงของเชื้อประจำถิ่นในร่างกายบริเวณช่องคลอด ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของเชื้อแลคโตบาซิลไล และเชื้อเอนเทอโรแบคเทอริเอซี่ (Enterobacteriaceae) ในช่องคลอด ซึ่งมีความสำคัญในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะลดลง เชื้อแลคโตบาซิลไลสามารถสร้างไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ที่ป้องกันการเจริญเติบโตของยูโรพาโทเจน (uropathogens) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในทางเดินปัสสาวะ และชิ้นส่วนผนังเซลล์ของเชื้อแลคโตบาซิลไลสามารถป้องกันการจับกันระหว่างเชื้ออีคอไล (E.coli) กับเยื่อบุเซลล์ (epithelial cell) ได้ ดังนั้นจึงสามารถลดการกลับเป็นซ้ำของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้[4] การศึกษาที่สนับสนุนผลของการรักษาด้วยฮอร์โมนรูปแบบเฉพาะที่สำหรับป้องกันการกลับเป็นซ้ำของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน พบว่ามีประโยชน์ในการยืดระยะเวลาในการกลับเป็นซ้ำในครั้งต่อไป สามารถลดจำนวนการกลับเป็นซ้ำต่อปีและบรรเทาอาการอื่นๆ ทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก มีความปลอดภัยและทนต่อการใช้ได้ดี (well tolerance)[5]

Gynoflor เป็นยาเหน็บช่องคลอดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสไตรออลขนาดต่ำ 0.03 มก. และเชื้อแลคโตบาซิลลัส 100 ล้านเซลล์เป็นส่วนประกอบ มีการศึกษาในผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมวัยหมดประจำเดือนจำนวน 16 คน โดยให้ยาเหน็บช่องคลอดวันละเม็ดเป็นเวลา 28 วัน หลังจากนั้นให้ต่อไปอีก 3 เม็ดต่อสัปดาห์. เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าทำให้ระดับฮอร์โมนเอสไตรออลในเลือดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและชั่วคราว แต่ไม่ได้มีผลเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรน (estrone) และเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งแสดงถึงความปลอดภัยในการใช้และทนต่อการใช้ยาได้ดี ทำให้อาการทางคลินิกของภาวะช่องคลอดฝ่อ เช่น แห้ง แสบ และอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ดีขึ้นมีนัยสำคัญทางสถิติ และช่วยฟื้นฟูเชื้อจุลประจำถิ่นบริเวณช่องคลอด ทำให้เชื้อก่อโรคที่ทางเดินปัสสาวะลดลง ป้องกันการติดเชื้อซ้ำในทางเดินปัสสาวะได้[6]

ดังนั้นสรุปว่าการใช้ Gynoflor รักษาการติดเชื้อซ้ำที่ทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีผลทำให้อาการทางช่องคลอดดีขึ้น และลดจำนวนการกลับเป็นซ้ำของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ จากแนวปฏิบัติของ The North American Menopause Society แนะนำให้รักษาภาวะ GSM ที่มีอาการทางช่องคลอดเพียงอย่างเดียวด้วยฮอร์โมนรูปแบบเฉพาะที่มากกว่า เนื่องจากถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดน้อยและมีประสิทธิภาพในบรรเทาอาการได้ร้อยละ 80-90 เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยชนิดรับประทาน ที่บรรเทาอาการได้ร้อยละ 75 ทำให้อาการฝ่อของเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุทางเดินปัสสาวะดีขึ้น ลดความเป็นด่างและเพิ่มความเป็นกรดของช่องคลอด ลดความเสี่ยงของอาการทางเดินปัสสาวะส่วนล่างและการติดเชื้อซ้ำในการเดินปัสสาวะได้



เอกสารอ้างอิง
[1] Menopause and the Mature Woman. In: Hoffman BL, Schorge JO, Halvorson LM, Hamid CA, Corton MM, Schaffer JI. eds. Williams Gynecology, 4e. McGraw-Hill; Accessed December 19, 2020. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2658§ionid=241010835
[2] Dipilo, Joseph T. and et al. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach. 10th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2017.
[3] Management of symptomatic vulvovaginal atrophy: 2013 position statement of The North American Menopause Society. Menopause. 2013 Sep;20(9):888-902; quiz 903-4. doi: 10.1097/GME.0b013e3182a122c2. PMID: 23985562.
[4] Raz R, Stamm WE. A controlled trial of intravaginal estriol in postmenopausal women with recurrent urinary tract infections. N Engl J Med. 1993 Sep 9;329(11):753-6. doi: 10.1056/NEJM199309093291102. PMID: 8350884.
[5] Eriksen B. A randomized, open, parallel-group study on the preventive effect of an estradiol-releasing vaginal ring (Estring) on recurrent urinary tract infections in postmenopausal women. Am J Obstet Gynecol. 1999 May;180(5):1072-9. doi: 10.1016/s0002-9378(99)70597-1. PMID: 10329858.
[6] Donders G, Neven P, Moegele M, Lintermans A, Bellen G, Prasauskas V, Grob P, Ortmann O, Buchholz S. Ultra-low-dose estriol and Lactobacillus acidophilus vaginal tablets (Gynoflor®) for vaginal atrophy in postmenopausal breast cancer patients on aromatase inhibitors: pharmacokinetic, safety, and efficacy phase I clinical study. Breast Cancer Res Treat. 2014 Jun;145(2):371-9. doi: 10.1007/s10549-014-2930-x. Epub 2014 Apr 10. PMID: 24718774; PMCID: PMC4025172.




วันที่ตอบ : 09 ก.พ. 64 - 10:59:27




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110