ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ใช้ยา โพรพาโนรอล รักษาอาการใจสั่น อาการสั้น ตอนตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ แต่กินเฉพาะเว

ใช้ยา โพรพาโนรอล รักษาอาการใจสั่น อาการสั้น ตอนตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ แต่กินเฉพาะเวลามีอาการเดือนละไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 5 กรัมจะมีผลต่อทารกในครรภ์ไหมค่ะ มียาตัวไหนที่รักษาอาการดังกล่าวแล้วปลอดภัยต่อทารกไหม

[รหัสคำถาม : 208] วันที่รับคำถาม : 25 ก.พ. 64 - 06:56:05 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการใจสั่นระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของตัวมารดาเอง ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (sinus tachycardia) หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจเต้นก่อนจังหวะ (ectopic beat) ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่เกิดในหัวใจห้องบน (supraventricular tachycardia) โรคเนื้องอกต่อมหมวกไตส่วนใน (pheochromocytoma) หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (thyrotoxicosis) เป็นต้น [1]
การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยร่างกายจะเพิ่มปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ (cardiac output และ stroke volume) และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate) ซึ่งจะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงประมาณสัปดาห์ที่ 8 ของการตั้งครรภ์ และจะเพิ่มสูงที่สุดในช่วงประมาณ 20 ถึง 28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวสามารถกลับสู่ระดับปกติภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอดบุตร [1] ส่วนภาวะหัวใจเต้นเร็ว (sinus tachycardia) เป็นภาวะปกติที่อาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากสรีรวิทยาของมารดามากกว่าเกิดจากตัวโรค โดยอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ถึง 20 ครั้งต่อนาที อย่างไรก็ตามแม้ภาวะดังกล่าวอาจพบได้เป็นปกติในหญิงตั้งครรภ์ แต่ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวต้องได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อแยกภาวะนี้ออกจากโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (24-hours Holter monitoring) การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (thyroid functions test) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiogram) เพื่อแยกโรคอื่นอื่น ๆ ออกไป เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (hyperthyroidism) โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจ ภาวะช็อค หรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) รวมถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ เช่น ภาวะที่หัวใจห้องบนหรือห้องล่างบีบตัวก่อนกำหนด (Atrial and ventricular premature beats) ภาวะ atrial fibrillation หรือ atrial flutter และภาวะ paroxysmal supraventricular tachycardia (PSVT) [1]
อาการใจสั่นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา หรือภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (sinus tachycardia) ดังที่กล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยามากกว่าเกิดจากตัวโรค และมักจะมีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา [1],[2] สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอดบุตร [1] อาการใจสั่นที่เกิดจากภาวะหัวใจเต้นก่อนกำหนด (premature beat) ซึ่งไม่ได้มีผลร้ายแรงต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถทนอาการดังกล่าวได้หรืออาการใจสั่นที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอื่น แพทย์อาจพิจารณารักษาตามสาเหตุของอาการใจสั่น ด้วยยา เช่น ยากลุ่ม beta-blockers (เช่น propranolol, metoprolol, sotalol, bisoprolol) [1],[3]
ยา propranolol ในด้านข้อมูลความปลอดภัยของยาในหญิงตั้งครรภ์นั้น พบว่ายาไม่ได้ก่อให้เกิดวิรูปในทารก (teratogen) อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่รายงานที่ความผิดปกติโดยกำเนิดรุนแรง (major birth defect) ในเด็กแรกเกิดที่มารดาที่เคยได้รับยา propranolol ในไตรมาสที่ 1 เช่น ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular defects) ภาวะรูท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (hypospadias) และความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ (oral clefts) โรคกระดูกไขสันหลังบกพร่อง (spida bifida) ภาวะนิ้วเกิน (polydactyly) และแขนขาพิการ (limb reduction defects) สำหรับการใช้ยา propranolol ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิดได้ เนื่องจากยากลุ่ม beta-blockers บางตัว รวมถึงยา propranolol อาจก่อให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (intrauterine growth restriction, IUGR) และทำให้น้ำหนักรกลดลง (reduced placental weight) [4] อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่า propranolol ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทารกตัวเล็กเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ [5] และแม้ว่าปัญหาด้านการเจริญเติบโตของทารกจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่การใช้ยาอาจจะมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยบางกรณี ดังนั้นอาจจะพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับเป็นกรณีไป [4] ส่วนยากลุ่ม beta-blockers อื่น ๆ ที่อาจใช้ทดแทนยา propranolol ได้แก่ยา metoprolol เนื่องจากไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทารกตัวเล็กเช่นเดียวกันกับยา propranolol [5]
โดยสรุป อาการใจสั่นในหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาระหว่างตั้งครรภ์ และสามารถกลับสู่ภาวะปกติหลังคลอดบุตรไปแล้ว 2 สัปดาห์ [1] ซึ่งอาการใจสั่นที่เกิดจากภาวะดังกล่าวอาจไม่จำเป็นที่จะต้องทำการรักษา [1],[2] อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีอาการใจสั่น แนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุเพิ่มเติม [1] สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทนต่ออาการดังกล่าว แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยยากลุ่ม beta-blockers เช่นยา propranolol [1],[3],[5] ซึ่งยา propranolol ไม่มีคุณสมบัติเป็นสารที่ทำให้เกิดทารกวิกลรูป แต่ก็มีรายงานความผิดปกติของทารกแรกเกิดในมารดาที่ใช้ยาในไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ตามการเกิดความผิดปกติดังกล่าวพบได้น้อย ดังนั้นแพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาดังกล่าวตามความจำเป็น [4] ถ้าหากเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่า

เอกสารอ้างอิง
[1]. Nelson-Piercy C. Handbook of Obstetric Medicine 6th ed. Florida. CRC Press; 2020. 21-3, 41, 307-8.
[2]. Roberts A, Mechery J, Mechery A, Clarke B, Vause S. Management of palpitations and cardiac arrhythmias in pregnancy. Obstet Gynaecol. 2019;21:263-70. doi.org/10.1111/tog.12599.
[3]. Enriquez AD, Economy KE, Tedrow UB. Contemporary management of arrhythmias during pregnancy. Circ Arrhythm Electrophysiol. 2014;7(5):961-7. doi: 10.1161/CIRCEP.114.001517.
[4]. Briggs GG, Forinash AB, Freeman RK, Towers CV. Drugs in Pregnancy and Lactation. 11th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health; 2015. 157-8, 945-6, 1216-7, 1335-7.
[5]. Duan L, Ng A, Chen W, Spencer HT, Lee MS. Beta-blocker subtypes and risk of low birth weight in newborns. J Clin Hypertens. 2018;20(11):1603-1609. doi:10.1111/jch.13397.
วันที่ตอบ : 14 ก.ค. 64 - 19:08:57




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110