ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
คนไข้มะเร็ง อยากกินสารสกัดเซซามินจากงาดำ เพื่อหวังผลรักษามะเร็ง ร่วมกับการรักษาแ

คนไข้มะเร็ง อยากกินสารสกัดเซซามินจากงาดำ เพื่อหวังผลรักษามะเร็ง ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน โดยนำผลิต aimmura-x (งานวิจัยของ มช.) กับ herbal one สารสกัดงาดำ มาให้ดู

คำถาม
1.สารสกัดเซซามินมีผลรักษามะเร็งได้จริงไหม
2.มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง (มีผลต่อการทำงานของตับและไตไหม)
3.ขนาดการรับประทาน และระยะเวลาการใช้สารสกัดงาดำ


[รหัสคำถาม : 211] วันที่รับคำถาม : 11 มี.ค. 64 - 16:35:10 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผลิตภัณฑ์ aimmura-x (งานวิจัยของ มช.) กับ herbal one สารสกัดงาดำ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบหลัก คือ เซซามิน (sesamin) ซึ่งเป็นสารสำคัญกลุ่มลิกแนน (lignans) สามารถพบได้ในงาดำ (Sesame, Sesamum indicum L.) วงศ์ Pedaliaceae[1,3]
โดยจากคำถามที่ได้ถามมา สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ดังนี้
1. สารสกัดเซซามินมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งได้จริงหรือไม่
ตอบ มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของเซซามินต่อการต้านมะเร็ง โดยเซซามินสามารถช่วยในการรักษามะเร็งได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งระบบเลือด มะเร็งผิวหนัง รวมถึงมะเร็งตับอ่อนด้วย[3,6-9] โดยในมะเร็งแต่ละประเภทจะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น Anti-proliferative, Pro-apoptotic, Anti-inflammatory, Anti-angiogenic & pro-angiogenic, และ Pro-autophagocytic activities เป็นต้น[2-6]
2. สารสกัดเซซามินมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง และมีผลต่อการทำงานของตับและไตหรือไม่
ตอบ จากการศึกษาของ Namino Tomimori และคณะ[10] ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 48 คน เพื่อศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) และ
ความปลอดภัยของการได้รับลิกแนนจากงาดำหลายขนาดผ่านการกินนั้น พบว่า เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีการรายงาน ได้แก่ อาการหวัด ปวดหัว ปวดท้องช่วงล่าง แน่นท้อง ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดที่มีความสำคัญทางคลินิค รวมถึงผลการตรวจร่างกาย สัญญาณชีพ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้น ไม่พบความสำคัญทางคลินิคด้วย และจากการศีกษาของ Bizhan Helli และคณะ[11] ได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินผลของการได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเซซามิน 200 มก. ต่อระดับ proteolytic enzymes ในเลือดและตัวบ่งชี้ของการอักเสบ ในผู้หญิงที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ณ เมืองแอฮ์วอซ เปอร์เซีย โดยทำการศึกษานาน 6 สัปดาห์ โดยจากการศึกษานี้พบว่า ไม่พบการรายงานอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากผู้ป่วยในระหว่างการศึกษาทั้งจากกลุ่มที่ได้รับแคปซูลเซซามิน 200 มก./วันหรือกลุ่มที่ได้ยาหลอก ดังนั้นเซซามินมีผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยต่อการทำงานของตับและไต แต่หากรับประทานไปแล้วเกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาการหวัด ปวดหัว ปวดท้องช่วงล่าง แน่นท้อง ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือมีผื่นขึ้น ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร
3. สารสกัดเซซามินควรรับประทานในขนาดเท่าไหร่ และใช้ระยะเวลาในการรับประทานนานเท่าไหร่
ตอบ จากการทบทวนยังไม่พบการศึกษาที่มีการรายงานถึงขนาดและระยะเวลาที่แนะนำในการรับประทานเซซามิน แต่จากการศึกษาของ Namino Tomimori และคณะ[10] ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 48 คน เพื่อศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) และความปลอดภัยของการได้รับลิกแนนจากงาดำหลายขนาดผ่านการกินนั้น พบว่า การได้รับลิกแนน 50 มก./วัน ซ้ำ ๆ นั้นสามารถทนได้ และจากผลการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์นั้นไม่พบความแตกต่างระหว่างตัวแปรของค่าเภสัชจลนศาสตร์ (tmax, Cmax, AUC) ในวันที่ 1 และวันที่ 28 กล่าวคือ เซซามินไม่มีการสะสมอยู๋ในร่างกาย ทั้งนี้สารสกัดเซซามิน เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นสิ่งที่เสริมจากการรับประทานอาหารปกติ ผู้ที่ต้องการรับประทานจะต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน หากมีความผิดปกติใดเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

เอกสารอ้างอิง
[1]. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. PEDALIACEAE Sesamum orientale L.. สืบค้นจาก : http://www.medplant.mahidol.ac.th/pharm/
botanic.asp?bc=0163&kw=%A7%D2%B4%D3. เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564.
[2]. Majdalawieh AF, Massri M, Nasrallah GK. A comprehensive review on the anti-cancer properties and mechanisms of action of sesamin, a lignan in sesame seeds (Sesamum indicum). Eur. J. Pharmacol. 2017 Nov 15;815:512-521.
[3]. Wu MS, Aquino LBB, Barbaza MYU, Hsieh CL, Castro-Cruz KA, Yang LL, Tsai PW. Anti-Inflammatory and Anticancer Properties of Bioactive Compounds from Sesamum indicum L.-A Review. Molecules. 2019 Dec 4;24(24):4426.
[4]. Mili A, Das S, Nandakumar K, Lobo R. A comprehensive review on Sesamum indicum L.: Botanical, ethnopharmacological, phytochemical, and pharmacological aspects. J. Ethnopharmacol. 2021 Dec 5;281:114503.
[5]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร. เข้าถึงได้จาก http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/600810_name.pdf.
[6]. Harikumar KB, Sung B, Tharakan ST, Pandey MK, Joy B, Guha S, Krishnan S, Aggarwal BB. Sesamin manifests chemopreventive effects through the suppression of NF-kappa B-regulated cell survival, proliferation, invasion, and angiogenic gene products. Mol. Cancer Res. 2010 May;8(5):751-61.
[7]. Deng P, Wang C, Chen L, Wang C, Du Y, Yan X, Chen M, Yang G, He G. Sesamin induces cell cycle arrest and apoptosis through the inhibition of signal transducer and activator of transcription 3 signalling in human hepatocellular carcinoma cell line HepG2. Biol. Pharm. Bull. 2013;36(10):1540-8.
[8]. Montra Srisayam, Natthida Weerapreeyakul, Kwanjai Kanokmedhakul, Inhibition of two stages of melanin synthesis by sesamol, sesamin and sesamolin. Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine, Volume 7, Issue 10, 2017, p. 886-895.
[9]. Kongtawelert P, Wudtiwai B, Shwe TH, Pothacharoen P, Phitak T. Inhibition of programmed death ligand 1 (PD-L1) expression in breast cancer cells by sesamin. Int. Immunopharmacol. 2020 Sep;86:106759.
[10]. Tomimori N, Tanaka Y, Kitagawa Y, Fujii W, Sakakibara Y, Shibata H. Pharmacokinetics and safety of the sesame lignans, sesamin and episesamin, in healthy subjects. Biopharm. Drug Dispos. 2013 Nov;34(8):462-73.
[11]. Helli B, Shahi MM, Mowla K, Jalali MT, Haghighian HK. A randomized, triple-blind, placebo-controlled clinical trial, evaluating the sesamin supplement effects on proteolytic enzymes, inflammatory markers, and clinical indices in women with rheumatoid arthritis. Phytother. Res. 2019 Sep;33(9):2421-2428.

วันที่ตอบ : 14 ก.พ. 65 - 10:01:50




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110