ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เป็นไบโพล่าครับอยากทราบว่า ยาไบโพล่าเวลาตรวจปัสสาวะทำให้ปัสสาวะสีม่วงไหมครับ มีใ

เป็นไบโพล่าครับอยากทราบว่า ยาไบโพล่าเวลาตรวจปัสสาวะทำให้ปัสสาวะสีม่วงไหมครับ มีใช้ยา Sodium valproate Risperidone Depakine Diazepam

[รหัสคำถาม : 213] วันที่รับคำถาม : 18 มี.ค. 64 - 12:10:43 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วิธีการตรวจสอบสารเสพติดในร่างกายที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 วิธี ได้แก่
1.. การตรวจคัดกรองเบื้องต้น (Screening test) เป็นการตรวจหาสารเสพติดที่มีความสะดวก รวดเร็ว และมีความไวสูง แต่มีข้อเสียคือ การแปลผลที่ได้อาจเกิดข้อผิดพลาดที่เรียกว่า ผลบวกลวง (false positive) หมายถึง ผลที่ได้บ่งบอกว่ามีสารเสพติดในร่างกายทั้งๆที่ผู้ถูกตรวจไม่ได้เสพสารเสพติด โดยวิธีการตรวจคัดกรองเบื้องต้นนี้ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 วิธี คือ 1) การใช้ชุดน้ำยาที่ใช้ปฏิกิริยาการเกิดสีกับสารเสพติดในปัสสาวะ (Chemical Color Reaction, CCR) และ 2) การตรวจหาสารเสพติดโดยใช้หลักการภูมิคุ้มกันวิทยา (Rapid Test Kit)
2. การตรวจเพื่อยืนยันผล (Confirmation test) เป็นการทดสอบเพื่อยืนยันว่าตัวอย่างปัสสาวะที่ให้ผลบวก ในขั้นตอนการตรวจคัดกรองเบื้องต้นนั้น มีสารเสพติดผสมอยู่จริงหรือไม่ โดยต้องทำการสกัดแยกสาร
เสพติดและสารเมตาบอไลต์ของสารเสพติด (สารที่เกิดจากการแปรสภาพสารเสพติดตั้งต้นในร่างกาย โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นจากการแปรสภาพที่ตับ) นั้น ๆ ออกจากตัวอย่าง แล้วนำสารสกัดที่ได้นั้นไปตรวจอย่างละเอียดด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟี (การแยกสารด้วยแรงดันสูง) ซึ่งเป็นวิธีการแยกสารผสมออกจากกันโดย อาศัยคุณสมบัติของสารในด้านการละลายและการดูดซับที่แตกต่างกัน สามารถแยกสารผสมออกจากกันได้ และเป็นการตรวจสอบสารเสพติดที่ได้ผลชัดเจนที่สุด [1,3,4,5]

การตรวจหาสารเสพติด โดยใช้ชุดน้ำยาที่ใช้ปฏิกิริยาการเกิดสี (Chemical Color Reaction, CCR) ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น (Screening test) นั้นจะมีสารที่ชื่อว่า 3,3',5,5' Tetrabromophenolphthalein ethyl ester (TBPE) ที่สามารถจับกับสารที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับโครงสร้างทางเคมีของสารประกอบที่พบในยาบ้า ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน แอมเฟตามีน อีเฟดรีน หรือ เบสอินทรีย์ (organic base) ที่มีโครงสร้างเป็นวงที่เรียกว่า ”ฟีนิลริง”(Phenyl ring)” ที่ต่ออยู่กับหมู่เอมีน (Amine group ) โดยมีพันธะคาร์บอนเป็นตัวเชื่อม ได้เป็นสารเชิงซ้อนที่มีสีม่วงแดง ซึ่งยารักษาโรคที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันบางชนิด มีโครงสร้างเหมือนเบสอินทรีย์ดังที่กล่าวมาข้างต้น (มีฟีนิลริงที่ต่ออยู่กับหมู่เอมีน) เช่น กลุ่มยาแก้แพ้ คัดจมูก เช่น คลอเฟนิรามีน(chlorpheniramine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), ฟีนิลโพรพาโนลามีน (phenylpropanolamine), ฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) และ ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบโครงสร้างดังกล่าวในกลุ่มยาที่ใช้ในการลดน้ำหนัก เช่น เฟนเทอมีน (phentermine) และ เฟนฟลูรามีน (fenfluramine) เป็นต้น
ซึ่งโครงสร้างของยากลุ่มนี้สามารถจับกับ สาร TBPE เกิดเป็นสีม่วงแดงขึ้นได้ ทำให้เกิดการแปลผลการทดสอบผิดพลาดได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้เข้ารับการทดสอบไม่ได้มีการเสพสารเสพติด [2,3]

จากยาที่ผู้ถามกำลังใช้ ได้แก่ Sodium valproate , Diazepamและ Risperidone นั้น เมื่อทำการสืบค้นและพิจารณาโครงสร้างทางเคมีของยาพบว่ายา Diazepam และ Risperidone มีโครงสร้างใกล้เคียงสารกลุ่มเบสอินทรีย์ (มีฟีนิลริงที่ต่ออยู่กับหมู่เอมีน) ที่สามารถจับกับสาร TBPE แล้วเกิดเป็นสีม่วงแดงขึ้นได้ ทำให้เกิดการแปลผลของการตรวจปัสสาวะที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยการทดสอบแบบยืนยัน ( Confirmation test ) ซึ่งมีความละเอียดและมีความแม่นยำสูงเป็นลำดับต่อไป เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้เข้ารับการทดสอบไม่ได้ใช้สารเสพติด

เอกสารอ้างอิง
[1]นายแพทย์ปวุฒิ เจียมจิต.สารกลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธ์.POISON & DRUG INFORMATION BULLETIN(จุลสารพิษวิทยา) . 2557;22:10.
[2]ภัทรดี พงษ์ระวีวงศา, พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล. ผลของยาที่ใช้ในการรักษาโรคทั่วไปต่อการตรวจ กรองหายาบ้าในปัสสาวะด้วยวิธีเทียบสี. เชียงใหม่วารสาร 2544; 40(2) : 69-78.
[3]สมควร แสนคํา,สิรวิชญ์ สนโศก.การสํารวจหายาและสารเคมีที่มีผลรบกวนการตรวจกรองยาบ้าในปัสสาวะ (Survey of Drugs and chemical interferences in the screening test for urine amphetamine) :1,11,12.
[4]นางอรพิณ ทนันขัต และคณะ.คู่มือการทดสอบ สารเสพติดในปัสสาวะ.นนทบุรี:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2559.
[5]นางอรพิณ ทนันขัต และคณะ;วิธีมาตรฐานสำหรับ การตรวจพิสูจน์สารเสพติดในปัสสาวะ.นนทบุรี:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2558.
วันที่ตอบ : 22 มี.ค. 64 - 08:54:54




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110