ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา​ Kalimate​ ผสมแล้วเก็บไว้ได้นานกี่วันคะ

ยา​ Kalimate​ ผสมแล้วเก็บไว้ได้นานกี่วันคะ

[รหัสคำถาม : 214] วันที่รับคำถาม : 29 มี.ค. 64 - 20:53:43 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา Kalimate® มีตัวยาสำคัญคือ calcium polystyrene sulfonate โดย 1 ซองมีตัวยาสำคัญ 5 กรัม ลักษณะเป็นผงสีเหลืองอ่อน ไม่ละลายในน้ำและเอทานอล [1] มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (hyperkalemia) ออกฤทธิ์โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนระหว่างแคลเซียมและโพแทสเซียมบริเวณลำไส้ใหญ่เพื่อขับโพแทสเซียมออกมากับอุจจาระ โดยยาอาจใช้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการย่อยอาหาร [2]
...
ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เบื่ออาหาร และภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น [2]
...
ขนาดยาและการบริหารยาสำหรับเด็ก [2] :
- รูปแบบรับประทาน: รับประทานยาขนาด 0.5-1 กรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทานทุกๆ 6-8 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดคือ 15 กรัม/ครั้ง โดยผสมยา 1 กรัม ด้วยน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานปริมาณ 3-4 มิลลิลิตร หรือผสมในแยมหรือน้ำผึ้งเล็กน้อย ควรหลีกเลี่ยงการผสมด้วยน้ำผลไม้ เครื่องดื่มอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีโพแทสเซียมสูง และควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำผึ้งในทารก
- รูปแบบทางทวารหนัก: ให้ยาขนาด 0.5-1 กรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุกๆ 6-8 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุดคือ 30 กรัม/ครั้ง โดยเตรียมในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน บริหารเข้าทางทวารหนัก สำหรับทารกแรกเกิดแนะนำให้ปล่อยยาค้างไว้อย่างน้อย 30 นาที สำหรับเด็กและวัยรุ่น (อายุ 1 เดือน-18 ปี) แนะนำให้ปล่อยยาค้างไว้อย่างน้อย 30-60 นาที หลังจากนั้นควรทำการชะล้างเพื่อกำจัดเรซิน (resin) ออก
...
ขนาดยาและการบริหารยาสำหรับผู้ใหญ่ [2] :
- รูปแบบรับประทาน : รับประทานครั้งละ 15 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง โดยขนาดยาขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิกของผู้ป่วยและระดับโพแทสเซียมในเลือด เตรียมโดยผสมยา 1 กรัมกับน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน 3-4 มิลลิลิตร ควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ เช่น น้ำส้มหรือเครื่องดื่มที่มีโพแทสเซียมสูง
- รูปแบบทางทวารหนัก: บริหารยาครั้งละ 30 กรัม วันละ 1 ครั้ง เตรียมในรูปยาน้ำแขวนตะกอนโดยผสมยา 30 กรัม กับ 2% methylcellulose 100 มิลลิลิตร และ น้ำ 100 มิลลิลิตร บริหารเข้าทางทวารหนัก และปล่อยยาค้างไว้เป็นเวลา 30-60 นาที หลังจากนั้นควรทำการชะล้างเพื่อกำจัดเรซิน (resin) ออก
...
การใช้ยา calcium polystyrene sulfonate ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง เช่น ผนังลำไส่ใหญ่เน่าจนอาจเกิดรูทะลุ และลำไส้อุดตันเฉียบพลัน [3] จึงควรระวังการใช้ยา calcium polystyrene sulfonate ในผู้ป่วยโรคลำไส้อุดตัน รวมถึงผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในพลาสมาต่ำกว่า 5 มิลลิโมล/ลิตร หรือมีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง [4]
...
สำหรับยา calcium polystyrene sulfonate รูปแบบผงชนิดใช้เพียงครั้งเดียว (single use) ยังไม่มีข้อมูลของระยะเวลาการเก็บรักษายาภายหลังจากการผสมยา แต่มีข้อแนะนำว่าควรใช้ยาทันทีหลังจากเตรียมเสร็จ และเก็บรักษาไว้ในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่อุณหภูมิ 15-30°C [5]

เอกสารอ้างอิง
[1]. British Pharmacopoeia Commission. British Pharmacopoeia 2018: volume I. London: TSO; 2018; 403.
[2]. Calcium Polystyrene Sulfonate. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 14 Sep. 2022; cited 19 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinet _f/4669639?cesid=4rHp7JDA25Z&hitReason=international-brand-name&search Url=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dkalimate%26t%3Dname%26acs%3Dfalse%26acq%3Dkalimate#pha.
[3]. Tongyoo A, Sriussadaporn E, Limpavitayaporn P, Mingmalairak C. Acute intestinal obstruction due to Kalimate, a potassium-lowering agent: a case report and literature review. J. Med. Assoc. Thai. 2013 Dec;96(12):1617-20.
[4]. Accessmedicine. Kalimate. [Cited 2022 Nov. 19]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical. com/drugs.aspx?gbosID=132619.
[5]. Electronic medicines compendium. Kalimate [Internet]. 2022. [Cited 2022 Nov. 19]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/13346/smpc.

วันที่ตอบ : 08 ม.ค. 66 - 18:09:05




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110