ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้ป่วยหญิงพบฝีในสมองถูกวินิจฉัยว่าเป็น brain abscess ได้รับการผ่าตัดระบายฝีหนอง

ผู้ป่วยหญิงพบฝีในสมองถูกวินิจฉัยว่าเป็น brain abscess ได้รับการผ่าตัดระบายฝีหนองออก และนำหนองส่งเพาะเชื้อ ระหว่างรอการรายงานผลเพาะเชื้ออย่างสมบูรณ์ ผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพในการรักษาฝีในสมองด้วยยาฉีด 2 ขนานร่วมกันคือ ceftriaxone 2 g ทุก 12 ชั่วโมง และ clindamycin 600 mg ทุก 8 ชั่วโมง คำถาม: clindamycin สามารถรักษา brain abscess ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 218] วันที่รับคำถาม : 05 เม.ย. 64 - 17:12:36 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Brain Abscess เป็นโรคทางสมองที่รุนแรงมากที่สุดโรคหนึ่ง โดยมักจะเกิดกับเพศชายมากกว่า 2-3 เท่า และมีโอกาสการเจ็บป่วยสูงที่สุดในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมทั้งยังก่อให้เกิดอาการชักได้มากถึง 80% มีสภาพทางจิตเปลี่ยนไป และมีความผิดปกติทางระบบประสาท
เฉพาะส่วนอีกด้วย ซึ่งโอกาสการตายจะขึ้นอยู่กับอายุ สภาพการทำงานของระบบประสาท การเข้าถึงระบบการรักษา ระยะเวลาที่เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทขึ้น โรคร่วมและระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ดังนั้นในการรักษา Brain Abscess จึงควรวางแผนให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก และ/หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ[1]

สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา Brain Abscess จำเป็นต้องเลือกยาให้สอดคล้องกับเชื้อก่อโรค แต่หากยังไม่ทราบว่าเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อชนิดใดก็สามารถให้ยารักษาเบื้องต้น (Empiric therapy) ก่อนได้ [1][2] ซึ่งพิจารณาจากบริเวณที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้ออยู่ก่อนหน้านี้ อายุและสภาวะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย โดยหากมีการติดเชื้อบริเวณเหล่านี้ อาจพบว่าแบคทีเรียต่อไปนี้เป็นเชื้อก่อให้เกิด Brain abscess ได้ [1][2]
- บริเวณโพรงจมูก จะพบเชื้อกลุ่ม Streptococci, Haemophilus sp., Bacteroides sp., Fusobacterium sp.
- บริเวณช่องปาก จะพบเชื้อกลุ่ม Streptococci, Bacteroides sp., Prevotella sp., Fusobacterium sp., Haemophilus sp.
- บริเวณช่องหู จะพบเชื้อกลุ่ม Enterobacteriaceae, Streptococci, Pseudomonas aeruginosa, Bacteroides sp., Morganella morganii
- ติดเชื้อที่ปอด จะพบเชื้อ Streptococci, Fusobacterium sp., Actinomyces sp.
- ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ จะพบ Pseudomonas, Enterobacteriaceae
- หากมีแผลเกิดขึ้นที่ศีรษะ จะพบ S.aureus, Enterobacter sp., Clostridium sp.
- หากได้รับการผ่าตัดสมอง จะพบ Staphylococci, Streptococci, Pseudomonas, Enterobacter
- หากเกิด Endocarditis จะพบเชื้อ Viridans streptococci, S. aureus, Streptococci
- หากมีความผิดปกติที่หัวใจ จะพบเชื้อกลุ่ม Streptococci

สำหรับยา Clindamycin ไม่ได้มีข้อบ่งใช้เป็น Empiric therapy สำหรับ Brain Abscess โดยตรง[3] ซึ่งแม้ว่ายาตัวนี้จะสามารถจัดการเชื้อก่อโรค Brain Abscess ได้หลายชนิด เช่น S.aureus, Streptococci, Arcanobacterium sp., B.fragilis, F. necrophorum, P.melaninogenica, Actinomyces sp., Clostridium sp., P. acnes, Peptostreptococcus ได้ดี[4] แต่ยังไม่ครอบคลุมเชื้ออื่น ๆ ที่เป็นเชื้อก่อโรค Brain Abscess ได้ทั้งหมด เช่น Pseudomonas sp., Enterobacteriaceae, Clostridium difficile เป็นต้น[1][2][4] รวมทั้งยาตัวนี้มีความสามารถในการแพร่เข้าสู่เนื้อเยื่อสมองหรือรอยโรคในสมองได้น้อยมาก[3][5] จึงอาจไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็น Empiric therapy สำหรับโรค Brain Abscess แต่เนื่องจากยานี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจากการผ่าตัดได้ดี โดยให้ก่อนเริ่มผ่าตัดเระบายฝีหนองออก 60 นาที ในขนาด 900 mg IV ครั้งเดียว และแนะนำให้ยาได้นานที่สุดไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด[4][6] นอกจากนี้หากเชื้อที่ก่อให้เกิด Brain Abscess เป็นเชื้อที่ไวต่อยา Clindamycin ก็อาจพิจารณาใช้ยานี้ร่วมกับยาที่แนะนำข้างต้น (Metronidazole + 3rd generation Cephalosporins) เพื่อกำจัดเชื้อก่อโรคได้ โดยมีหลายกรณีศึกษารองรับว่าหากทราบว่าเชื้อก่อโรคดังกล่าวไวต่อยา Clindamycin ก็สามารถให้ยาตัวนี้เสริมเพื่อกำจัดเชื้อดังกล่าวได้[7-12] ซึ่งอาจต้องให้ในรูปแบบยาฉีดนาน 10-20 วัน และยาในรูปแบบรับประทาน นาน 6 เดือน จนกว่าจะตรวจไม่พบฝีหนองในสมอง[7-9]

กล่าวโดยสรุป Brain Abscess มีเชื้อก่อโรคได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อแรกเริ่ม[1][2] และยา Clindamycin ก็มีช่วงการออกฤทธิ์ที่ค่อนข้างกว้าง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเชื้อที่ก่อให้เกิด Brain Abscess ได้ทั้งหมด[1][2][4] และไม่ครอบคลุมเท่ายากลุ่ม Cephalosporins ที่แนะนำเป็นทางเลือกแรก[4]
รวมทั้งยาตัวนี้มีความสามารถในการแพร่เข้าสู่เนื้อเยื่อสมองหรือรอยโรคในสมองได้น้อยมาก[3][5] จึงอาจ
ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็น Empiric therapy เพื่อรักษา Brain Abscess ก็อาจไม่เหมาะสมนัก แต่สามารถให้ได้ในขนาด 900 mg IV ครั้งเดียว ก่อนผ่าตัด 60 นาที และไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการผ่าตัดได้[4] แต่หากทราบผลเพาะเชื้อของคนไข้ว่าเป็นเชื้อที่ไวต่อยา Clindamycin ก็สามารถพิจารณาใช้ยาตัวนี้ร่วมกับยาหลักในการรักษา Brain Abscess ได้[7-12]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Alvis Miranda H, Castellar-Leones SM, Elzain MA, Moscote-Salazar LR. Brain abscess: Current management. J. Neurosci. Rural. Pract. 2013 Aug;4(Suppl 1):S67-81. doi: 10.4103/0976-3147.116472.
[2]. Southwick FS. Treatment and prognosis of bacterial brain abscess. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. [cited 2021 Nov. 13]
[3]. Clindamycin. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2016 [updated 2021 Jun. 11; cited 2021 Nov. 13].
[4]. Dallas, TX. The Sanford guide to antimicrobial therapy. 8th ed. Antimicrobial Therapy, Inc., 2018. P.75-82
[5]. Clindamycin. In: Clinical Key [database on the Internet]. Amsterdam: Elsevier. 2020 [updated Feb. 21, 2018; cited 2021 Nov. 16]. Available at: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-133.
[6]. Bratzler DW, Dellinger EP, Olsen KM, et al. Clinical practice guidelines for antimicrobial prophylaxis in surgery. Am. J. Health-Syst. Pharm. 2013; 70:195–283. [cited 2021 Nov. 20]
[7]. Khuri-Bulos N, McIntosh K, Ehret J. Bacteroides brain abscess treated with clindamycin. Am. J. Dis. Child. 1973 Jul;126(1):96-8. doi: 10.1001/archpedi.1973.02110190084018.
[8]. Schwarz A, Langmayr JJ, Ortler M, Fille M. Aktinomykose-Infektion im Kleinhirn [Actinomycosis infection of the cerebellum]. Wien. Klin. Wochenschr. 1993;105(12):359-61. German.
[9]. Bos S, De Vleeschouwer S, Van Raemdonck DE, Verleden GM, Vos R. Intracerebral abscess due to Cutibacterium acnes after lung transplantation. Transpl. Infect. Dis. 2021 Feb;23(1):e13398. doi: 10.1111/tid.13398.
[10]. Papanagiotou P, Grunwald IQ, Politi M, Reith WJ. Cerebral abscess due to sinusitis. Arch. Neurol. 2008 May;65(5):668-9. doi: 10.1001/archneur.65.5.668.
[11]. Feldman WE. Bacteroides fragilis ventriculitis and meningitis. Report of two cases. Am. J. Dis. Child. 1976 Aug;130(8):880-3. doi: 10.1001/archpedi.1976.02120090090017.
[12]. Benevides GN, Hein N, Lo DS, Ferronato AE, Ragazzi SLB, Yoshioka CRM, Hirose M, Cardoso DM, Regina DSS, Gilio AE. Otomastoiditis caused by Sphingomonas paucimobilis: case report and literature review. Autops. Case Rep. 2014 Sep 30;4(3):13-20. doi: 10.4322/acr.2014.024.

วันที่ตอบ : 14 ก.พ. 65 - 13:28:10




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110