ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ถ้ากินยา Sertraline บริจาคเลือดไม่ได้ แต่จะสามารถบริจาคเกล็ดเลือดได้ไหมครับ

ถ้ากินยา Sertraline บริจาคเลือดไม่ได้ แต่จะสามารถบริจาคเกล็ดเลือดได้ไหมครับ

[รหัสคำถาม : 220] วันที่รับคำถาม : 11 เม.ย. 64 - 08:02:20 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

คู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต พ.ศ. 2560 ได้กำหนดคุณสมบัติและเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตไว้เกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยและการใช้ยาเพื่อรักษาของผู้บริจาค สำหรับผู้ประสงค์บริจาคโลหิตที่มีภาวะซึมเศร้าหรือภาวะวิตกกังวลและมีการใช้ยารักษาภาวะดังกล่าวมาอย่างน้อย 14 วัน โดยไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาและไม่มีอาการของโรค (ควบคุมโรคได้ดี) สามารถจะเป็นผู้บริจคโลหิตได้ [1],[2] แนวทางการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตขององค์การอนามัยโลกมีแนวทางเช่นเดียวกันคือ ผู้ป่วยที่มีภาวะวิตกกังวล ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะอารมณ์สองขั้ว สามารถบริจาคโลหิตได้เมื่อผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีอาการของโรคในวันที่จะบริจาค ไม่ว่าจะใช้ยาใดอยู่ก็ตาม [3]
ยา Sertraline เป็นยาต้านภาวะซึมเศร้าในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) โดยมีกลไกในการยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทซีโรโตนินบริเวณก่อนซินแนปส์ (presynaptic serotonin) อย่างจำเพาะเจาะจง ส่งผลให้ระดับสารสื่อประสาทซีโรโตนินในสมองเพิ่มขึ้น อาการไม่พึงประสงค์ของยา sertraline คือ เพิ่มความเสี่ยงภาวะเลือดออก (bleeding) เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกในสมอง เกิดจ้ำเลือด เลือดออกระหว่างผ่าตัด เป็นต้น กลไกของการเกิดภาวะเลือดออกอาจเกิดจากยาไปยับยั้งการกระตุ้นเกล็ดเลือดผ่านซีโรโตนิน (serotonin-mediated platelet activation) ส่งผลให้การทำงานของเกล็ดเลือดบกพร่อง [4] ดังนั้น ผู้บริจาคเลือดที่ใช้ยานี้อาจมีการทำงานของเกร็ดเลือดบกพร่อง การบริจาคเกร็ดเลือดไปให้ผู้รับบริจาคเกร็ดเลือดก็อาจเสี่ยงต่อของภาวะเลือดออกกับผู้รับบริจาคได้
ดังนั้นการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่รับโลหิตระบุไว้ว่า สำหรับการบริจาคเลือดในผู้ที่ใช้ยาที่ทําให้การทํางานของเกล็ดเลือดเสียไปหรือใช้ยาที่ยับยั้งการทํางานของเกล็ดเลือดที่มีระยะครึ่งชีวิตของยา (half-life) ยาว จะรับบริจาคโลหิตแต่จะไม่เตรียมเกล็ดเลือดจากโลหิตผู้บริจาครายนั้น และจะไม่รับบริจาคเกล็ดเลือด (platelet apheresis) [1] แต่หากผู้บริจาคโลหิตนั้นต้องการบริจาคเกล็ดเลือด มีข้อแนะนำให้หยุดยาอย่างน้อย 6 วันก่อนบริจาคโลหิตเพื่อให้ยาถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยสมบูรณ์ก่อนการบริจาค [4],[5],[6],[7]
โดยสรุป ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลที่ประสงค์จะบริจาคโลหิตโดยมีการใช้ยา sertraline อยู่ ตามเกณฑ์ของการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต หากใช้ยามาอย่างน้อย 14 วันโดยไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยารวมทั้งไม่มีอาการของโรค ผู้ป่วยรายนั้นสามารถบริจาคเลือดได้ [1],[2],[3] แต่ไม่สามารถบริจาคเกล็ดเลือดได้เนื่องจากยา sertraline มีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้รับโลหิต [1] [4] ผู้ป่วยรายนั้นสามารถบริจาคเกล็ดเลือดได้ หากการรักษาภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลดีขึ้นจนสามารถหยุดยาได้ และต้องหยุดยาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 วันก่อนทำการบริจาคเกล็ดเลือด[4],[5],[6],[7] แต่ทั้งนี้ขอให้ผู้ประสงค์บริจาคตรวจสอบข้อกำหนดของศูนย์ที่รับบริจาคโลหิตด้วย

เอกสารอ้างอิง
[1]. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย. คู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานครฯ:อุดมศึกษา, 2560:14, 41, 54.
[2]. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย. เกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตในกรณีมีการใช้ [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 4 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก https://blooddonationthai.com/?p=23132.
[3]. World Health Organization. Blood donor selection: guidelines on assessing donor suitability for blood donation [Internet]. [cited 2021 May 4]. Available from: https://www.who.int/bloodsafety/publications/guide_selection_assessing_suitability.pdf.
[4]. Zand JM. Sertraline. In: Post TW, ed. UptoDate, Waltham: UptoDate; 2021. (Accessed on May 4, 2021.) Available at: https://www.uptodate.com.
[5]. Sertraline. In DRUGDEX® System [database on the internet]. Greenwood Village, Co: Thomson Micromedex. [cited 2021 May 4]. Available from: https://www.micromedexsolutions.com.
[6]. Becker CDK, Stichtenoth DO, Wichmann MG, Schaefer C, Szinicz L. Blood donors on medication – an approach to minimize drug burden for recipients of blood products and to limit deferral of donors. Transfus Med Hemother. 2009;36(2):107–13. doi: 10.1159/000203355.
[7]. Reikvam A-G, Hustad S, Reikvam H, Apelseth TO, Nepstad I, Hervig TA. The effects of selective serotonin reuptake inhibitors on platelet function in whole blood and platelet concentrates. Platelets. 2012;23(4):299–308. doi: 10.3109/09537104.2011.618852.

วันที่ตอบ : 14 ก.ค. 64 - 19:08:27




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110