ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
บุตรชายอายุ 2.6 ขวบ มีอาการเสียงแหบมาก หรือเสียงขาดหายบางช่วง เวลาพูดประโยคยาวๆ

บุตรชายอายุ 2.6 ขวบ มีอาการเสียงแหบมาก หรือเสียงขาดหายบางช่วง เวลาพูดประโยคยาวๆจะมีอาการเหนื่อย พบแพทย์เด็ก แพทย์ส่องกล้องที่กล่องเสียง พบว่ามีการอักเสบแดง ลงความเห็นคาดว่าเกิดจากกรดไหลย้อน

ให้กินยา โมทิเลียม วันละ 3 cc. 2 ครั้ง/วัน และ พรีวาสิท 15 mg. 1 เม็ด/วัน
เป็นเวลา 2 เดือน
ในระหว่างการทานยา 2 เดือน อาการเสียงแหบดีขึ้น แต่มีบางครั้งที่เสียงแหบ คาดเป็นสัดส่วนดีขึ้น 80%
ครบกำหนด หยุดทานยาได้ 4 วัน เริ่มมีอาการเสียงแห้งบางครั้ง

จึงได้ส่องกล้องอีกครั้ง พบว่าบริเวณช่วงด้านบนกล่องเสียงยังแดงเล็กน้อย แต่น้อยลงกว่าส่องกล้องครั้งแรกมาก ไม่พบก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติของกล่องเสียง

แพทย์ลงความเห็นว่าอาการแดงลักษณะเล็กน้อยนี้ ไม่น่าทำให้เสียงแหบได้อีก

แพทย์จึงส่งต่อให้ไปเอ็กซเรย์ และพบแพทย์ปอดเด็ก

แพทย์ปอดดูผลเอ็กซเรย์แล้ว ไม่พบความผิดปกติของหลอดลม พบว่ามีต่อม อลินอย และต่อมทอมซินบวม ร่วมกับจมูกด้านในบวม คล้ายอาการภูมิแพ้

จึงให้ล้างจมูก และพ่นยารักษาภูมิแพ้ เช้า เย็น ร่วมกันทานยา โมทิเลียม และพรีวาสิท เพื่อรักษากรดไหลย้อน ต่อไปอีก 1 เดือน รวมรักษากินยา 3 เดือน

ขอสอบถาม

1.ยาโมทิเลี่ยม สามารถกินต่อเนื่อง 3 เดือนได้ไหม มีผลข้างเคียงไหม กังวลเกี่ยวกับลูกรับยามากเกินไป ตอนแม่คลอดลูกเคยทานยาโมทิเลี่ยม เพื่อกระตุ้นให้มีน้ำนม กังวลว่ายาจะกระตุ้นฮอร์โมนของลูกไหมคะ เพราะสังเกตว่าทานยามา 2 เดือน ลูกชาย 2.6 ขวบ เริ่มมีขนขึ้นตามแขน ขา

3.ยาพรีวาสิท กินต่อเนื่องได้ไหม มีผลข้างเคียงไหม

[รหัสคำถาม : 225] วันที่รับคำถาม : 28 เม.ย. 64 - 00:26:20 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะกรดไหลย้อนที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบ น้ำหนักไม่ขึ้น อาการระบบทางเดินหายใจ หรือเกิดอาการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยอาการที่เกิดขึ้นได้ ได้แก่ อาการแสบร้อนกลางอก สำรอกหรือขย้อน และนอกจากนี้อาจมีอาการจากกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้นภายนอกหลอดอาหาร เช่น ไอ หายใจมีเสียงวี้ด กล่องเสียงอักเสบ ปอดบวม ไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งถือว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนที่มีความรุนแรง[3] สำหรับการรักษาตามแนวทางการรักษากรดไหลย้อนในทารกและเด็กจาก American family physician และ NICE guideline ระบุว่า ให้เริ่มใช้ยาลดกรดเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล และถ้าอาการดีขึ้นให้ใช้ยาลดกรดต่อเป็นระยะเวลา 8-12 สัปดาห์ แล้วจึงประเมินการรักษาอีกครั้งว่าสามารถหยุดยาได้หรือใช้ยาต่อ[2-3] แต่ NICE guideline แนะนำว่าไม่ควรใช้ยากลุ่ม prokinetics เช่น Domperidone ในการรักษากรดไหลย้อนในเด็ก จะนำใช้ก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นมีมากกว่าความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือใช้ยาลดกรดกลุ่ม PPIs อย่างเดียวแล้วประสิทธิภาพในการรักษาไม่เพียงพอหรือมีผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเด็กมีความเห็นว่าควรใช้ เนื่องจากมีรายงานว่ายา domperidone เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติต่อหัวใจ[3-4] แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของยา Domperidone ต่อหัวใจและหลอดเลือด และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบว่า การใช้ยา Domperidone น้อยกว่า 30 mg ไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้นและไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ[10-11] และจากการศึกษาการประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากใช้ยาลดกรดกลุ่ม PPIs ร่วมกับยา Domperidone เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ พบว่าการใช้ยาลดกรดกลุ่ม PPIs ร่วมกับยา Domperidone มีประสิทธิภาพในการรักษาในการลดความถี่และระยะเวลาในการเกิดกรดไหลย้อนมากกว่าการใช้ยากลุ่ม PPIs อย่างเดียวในการรักษาโรคกรดไหลย้อนหลัง[8-9] และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากยา lansoprazole คือ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องร่วง คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ [6-9] และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากยา Domperidone คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ ไมเกรน[5,8-10] สำหรับอาการขนขึ้นตามแขนและขาจากยา Domperidone ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาหรือรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
ดังนั้น ยา lansoprazole (prevacid) สามารถรับประทานติดต่อกันได้ 12-18 สัปดาห์ตามแนวทางการรักษากรดไหลย้อนในทารกและเด็กจาก American family physician และ NICE guideline สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากยา lansoprazole คือ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องร่วง คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ สำหรับยา Domperidone (Motilium) ข้อมูลจากการศึกษาสามารถใช้ได้ตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากยา Domperidone คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ ไมเกรน แต่เนื่องจากเคยมีรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อหัวใจอาจมีการตรวจติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลังใช้ยา และมีการประเมินซ้ำอย่างสม่ำเสมอถึงความจำเป็นต่อการใช้ยาต่อเนื่องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับอาการขนขึ้นตามแขนและขาจากยา Domperidone ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาหรือรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้ ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
[1]. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. แนวเวชปฏิบัติในการวินิจฉัยและรักษาโรคกรดไหลย้อนในเด็ก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัท เมดิ เจอร์นัล จำกัด; 2553.
[2]. Drew baird, Dausen harker, Aaron kames. Diagnosis and Treatment of Gastroesophageal Reflux in Infants and Children. Am. Fam. Physician. 2015;92(8): 705-717.
[3]. Nation Institute for health and care excellence. Gastro-oesophageal reflux disease in Children and young people: diagnosis and management. NICE guideline: 2015 [updated 08 Oct 2019; cite 25 Nov 2022]. Available from: https://www.nice.org.uk/guidance/ng1.
[4]. Hull and East Riding Prescribing Committee. Domperidone MHRA Safety alert: risk of cardiac side effect – restricted indication, new contraindications, reduced dose and duration of use. (2016), Available at : https://www.hey.nhs.uk/.
[5]. Domperidone. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.[updated 11/17/22; cite 11/22/2020]. Available from: https://online.lexi.com/.
[6.] Lansoprazole. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.[updated 11/17/22; cite 11/22/2020]. Available from: https://online.lexi.com/.
[7]. Fiedorek, Stephen, Vasundhara Gold, Benjamin Huang, Bidan Stolle, Julie Lee, Chang Gremse. Efficacy and Safety of Lansoprazole in Adolescents with Symptomatic Erosive and Non-erosive Gastroesophageal Reflux Disease. Journal of Pediatric Gastroenterology and Nutrition: March 200-Volume 40-Issue 3;319-27.
[8]. Zamani N, Sjahid A, Tuan Kamauzaman, Lee Y, Islam A. Efficacy and Safety of Domperidone in Combination with Proton Pump Inhibitors in Gastroesophageal Reflux Disease: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. J. Clin. Med. Rheumatology 2022; 11-5268.
[9]. Chingching Foocharoen, Kitti Chunlertrith, Pisaln Mairiang, Ajanee Mahakkanukrauh, Siraphop Suwannaroj, Suwassa Namvijit, Orathai Wantha, et al. Effectiveness of add-on therapy with domperidone vs alginic acid in proton pump inhibitor partial response gastro-oesophageal reflux disease in systemic sclerosis: randomized placebo-controlled trial, Rheumatology, Volume 56, Issue 2, February 2017; 214–222.
[10]. Ngoenmak T, et al., Effects of Domperidone on QT Interval in Children with Gastroesophageal Reflux Disease, Pediatrics and Neonatology (2015), http://dx.doi.org/10.1016/j.pedneo.2015.03.015.
[11]. Bor S, Demir M, Ozdemir O, Yuksel K. A meta-analysis on the cardiac safety profile of domperidone compared to metoclopramide. United European Gastroenterology Journal. 2018;6(9): 1331-1346.
[12]. Javed M, Ali MH, Tanveer MS, Tanveer MH. Omeprazole vs Lansoprazole in the Management of Gastroesophageal Reflux Disease: A Systematic Literature Review. J. Med. Res. Innov. 2020;4(2): 204.

วันที่ตอบ : 28 มี.ค. 66 - 15:54:10




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110