ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากสอบเรื่องยาเพิ่มน้ำนมค่ะ ตอนนี้อยู่ในช่วงให้นมลูกอายุ 1 เดือนครึ่ง กินนมเก่

อยากสอบเรื่องยาเพิ่มน้ำนมค่ะ ตอนนี้อยู่ในช่วงให้นมลูกอายุ 1 เดือนครึ่ง กินนมเก่งมาก น้ำหนัก 6 Kg แล้วค่ะ แล้วลูกเป็น G6PD สามารถใช้ยาประสพน้ำนมอะไรได้บ้างคะ น้ำนมไม่พอให้ลูกกินเลยค่ะ อาหารพวกแกงเลียงหัวปลีก็ทานประจำอยู่ปรับพฤติกรรมก็ลองแล้วค่ะ แต่ก็น้ำนมไม่พอ

[รหัสคำถาม : 228] วันที่รับคำถาม : 14 พ.ค. 64 - 14:22:59 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในหญิงหลังคลอดบุตร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเลิกล้มการให้นมบุตรก่อนกำหนด [1] และอาจทำให้น้ำหนักทารกลดลงมากกว่า 7% ของน้ำหนักแรกคลอด [2] ปัญหาทารกรับประทานนมไม่เพียงพออาจมีสาเหตุมาจาก การที่ลูกไม่สามารถรีดเค้นน้ำนมออกมาได้ (extraction) หรือเกิดจากการสร้างน้ำนมไม่เพียงพอ[1],[2]
การสร้างน้ำนมไม่เพียงพออาจเกิดจากหลากหลายปัจจัย เช่น 1) การสร้างน้ำนมล่าช้า ซึ่งพบได้บ่อยในหญิงที่มีภาวะอ้วนก่อนตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคนที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ภาวะถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น 2) การพัฒนาของเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดจากการที่เนื้อเยื่อต่อมน้ำนมผิดปกติ หรือเคยได้รับการผ่าตัดเต้านมมาก่อน การฉายรังสี (irradiation) ภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือความผิดปกทางระบบต่อไร้ท่ออื่น ๆ (เช่น โรคเนื้องอกโปรแลคติโนมา) 3) ได้รับยาบางชนิด เช่น oxytocin, ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม Selective serotonin inhibitors (SSRIs) ยากลุ่มกระตุ้นตัวรับโดปามีน (dopamine agonists) ยากลุ่ม decongestants และ estrogens [1]
สำหรับการแก้ปัญหาการสร้างน้ำนมไม่เพียงพออาจทำได้โดยการกระตุ้นเต้านมด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น เพิ่มความถี่การให้นม [1],[2],[3] การใช้เครื่องมือบีบหรือใช้เครื่องปั๊ม การกอดลูกหรืออุ้มลูกบ่อย ๆ [3] ส่วนปัญหาทารกรับประทานนมไม่เพียงพอนั้นอาจให้นมผงสำหรับเด็กเป็นการชั่วคราว [1],[2],[3] แต่ควรใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่น กรณีที่มารดาสร้างน้ำนมล่าช้าหรือไม่สามารถสร้างน้ำนมได้ [1] โดยให้นมผ่านการหยดหรือผ่านทางสายพลาสติกแทนการให้ผ่านขวดนม การให้นมเสริมเป็นการให้สารอาหารที่เพียงพอแก่ลูกและเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากดูดนมแม่ [3] แต่หากใช้วิธีการกระตุ้นเต้านมด้วยวิธีธรรมชาติไม่สำเร็จ อาจพิจารณาใช้ยากระตุ้นการสร้างน้ำนม (galactogogues) [1],[2],[3] ได้แก่ ยากลุ่มยับยั้งตัวรับโดปามีน (dopamine receptor antagonist) (เช่น domperidone หรือ metoclopramide) [1],[3] รวมถึงสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างน้ำนม เช่น ลูกซัด (fenugreek) [1],[4] ร่วมกับการกระตุ้นเต้านม อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำการใช้ยาหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างน้ำนมเป็นประจำ และไม่ควรใช้ยาดังกล่าวในกรณีการสร้างน้ำนมไม่เพียงพอเกิดจากปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ [1],[2] แต่อาจพิจารณาใช้อย่างระมัดระวังในมารดาที่ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นการสร้างน้ำนมด้วยวิธีอื่น เนื่องจากหลักฐานด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาดังกล่าวยังคงมีจำกัด [1]
มีการศึกษาการใช้ยา domperidone ในผู้หญิงที่มีการผ่าตัดคลอดเมื่อครบกำหนดจำนวน 50 ราย พบว่าผู้ที่ได้รับยา domperidone มีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณน้ำนมในวันที่ 1, 2, 3 และ 4 อยู่ที่ 13.6 ± 23.2 ml, 68.5 ± 71.9 ml, 144.5 ± 122.3 ml, and 191.3 ± 136.1 ml ตามลำดับ เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่มีปริมาณน้ำนมในวันที่ 1, 2, 3 และ 4 อยู่ที่ 2.5 ± 4.6 ml, 24.5 ± 26.5 ml, 72.1 ± 55.6 ml, and 91.4 ± 60.3 ml ตามลำดับ [5] และอีกหนึ่งการศึกษาซึ่งใช้ยา domperidone ในหญิงคลอดบุตรครบกำหนด จำนวน 32 รายพบว่าผู้ป่วยที่เคยคลอดบุตรหลายครั้งและมีประวัติการสร้างน้ำนมไม่เพียงพอ ซึ่งได้รับยา domperidone มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำนมจาก 105 ± 35 ml/วัน ในวันที่ 2 เป็น 475 ± 51 ml/วัน ในวันที่ 5 ส่วนผู้ป่วยคลอดบุตรครั้งแรกที่ได้รับยา domperidone มีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นจาก 371-417 ml/วัน เป็น 631-708 ml/วัน และค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำนมของผู้ที่ได้รับยาหลอกต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยา domperidone อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [6]
Domperidone เป็นยาในกลุ่มยับยั้งตัวรับโดปามีน (dopamine antagonists) มีข้อบ่งใช้ตามเอกสารกำกับยาคือ ใช้สำหรับรักษากลุ่มอาการทางเดินอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ (GI motility disorders) และอาการคลื่นไส้อาเจียน [7],[8] สำหรับการใช้ยา domperidone ในการเพิ่มปริมาณน้ำนมเป็นการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ ขนาดยา domperidone โดยทั่วไป คือ 10 mg รับประทานวันละไม่เกิน 3 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 30 mg/วัน) โดยรับประทานก่อนอาหาร 30 นาที อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ เช่น อาการปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะไม-เกรน ปากแห้ง และอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้น และอาจเสียชีวิตกะทันหัน (โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาในขนาดสูง) [9] ส่วนยา metoclopramide เป็นยาในกลุ่มยับยั้งตัวรับโดปามีน (dopamine antagonist) และกระตุ้นตัวรับซีโรโทนิน 4 (Serotonin 5-HT4 Receptor Agonist) มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease, GERD) ที่ล้มเหลวในการรักษาด้วยการรักษาหลัก (conventional therapy) และใช้บรรเทาอาการในผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน (diabetic gastroparesis) ขนาดยาโดยทั่วไปของยา metoclopramide คือ 10-15 mg วันละ 4 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 60 mg/วัน) อาการไม่พึงประสงค์ของยา เช่น เหนื่อยล้า ง่วงซึม ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ผื่นผิวหนัง ท้องเสีย คลื่นไส้ และ กลุ่มอาการ extrapyramidal [10]
สำหรับข้อมูลทางด้านความปลอดภัยของยา domperidone, metoclopramide ต่อทารกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD จากการสืบค้นวรรณกรรมไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยาดังกล่าวไม่มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD [11],[12] อย่างไรก็ตาม ยา domperidone และยา metoclopramide สามารถขับออกทางน้ำนมได้ โดยมีขนาดยาในน้ำนมอยู่ที่ 0.12% และ 4.6 % ตามลำดับ [9],[10] ส่วนข้อมูลการขับผ่านน้ำนมของลูกซัดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด [13] แต่มีรายงานว่าลูกซัดอาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ป่วยภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD [14]
จากเอกสารกำกับยา domperidone และยา metoclopramide ซึ่งระบุว่าไม่แนะนำการใช้ยาดังกล่าวเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมเนื่องจากยังขาดข้อมูลที่เพียงพอและการใช้ยาอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เนื่องจากยาสามารถขับออกทางน้ำนมได้ [9],[10] ดังนั้นการใช้ยากระตุ้นการสร้างน้ำนม จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเพื่อประเมินถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและประโยชน์ที่ได้รับ

เอกสารอ้างอิง
[1]. Spencer J. Common problems of breastfeeding and weaning [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2021 [cited 4 June 2021]. Available from: http://www.uptodate.com
[2]. American Academy of Pediatrics Committee on Nutrition. Feeding the child and adolescent. In: Kleinman RE, Greer FR, eds. Pediatric Nutrition. 8th ed. Itasca, IL: American Academy of Pediatrics; 2019: 62-3.
[3]. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, มนตรี วังพฤกษ์. การเรียกน้ำนมแม่กลับคืน (Relactation) [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 4 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก https://www.tmwa.or.th/new/lib/file/20160929153855.pdf.
[4]. สุสัณหา ยิ้มแย้ม. สมุนไพรที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมแม่ [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 4 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/136183.
[5]. Jantarasaengaram S, Sreewapa P. Effects of domperidone on augmentation of lactation following cesarean delivery at full term. International Journal of Gynecology & Obstetrics. 2012;116(3):240–3. Doi: 10.1016/j.ijgo.2011.10.019.
[6]. Petraglia F, De Leo V, Sardelli S, Pieroni ML, D’Antona N, Genazzani AR. Domperidone in defective and insufficient lactation. European Journal of Obstetrics & Gynecology and Reproductive Biology. 1985;19(5):281–7. Doi: 10.1016/0028-2243(85)90042-5.
[7]. The electronic medicines compendium. Domperidone 10mg Tablets [Internet]. [cited 4 June 2021]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/556/smpc.
[8]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. domperidone (เอกสารกำกับยาภาษาอังกฤษสำหรับแพทย์) [อินเตอร์เน็ต]. 2561 [เข้ำถึงเมื่อ 4 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก https://www.fda.moph.go.th/sites/oss/ Drug%20Registration/Motilium-M%201C%2015104-63/Motilium-M_SmPC%20(22-7-2020).pdf.pdf.
[9]. Domperidone. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 6 April 2021; cited 4 June 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[10]. Metoclopramide. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 8 May 2021; cited 4 June 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[11]. Glader B. Diagnosis and management of glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) deficiency [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2021 [cited 4 June 2021]. Available from: http://www.uptodate.com
[12]. G6PD deficiency favism association. Drugs that should be avoided [Internet]. [cited 4 June 2021]. Available from: https://www.g6pd.org/en/G6PDDeficiency/SafeUnsafe/drugs-official-list.
[13] Fenugreek. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 17 March 2021; cited 4 June 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[14] Sadler JM, Ash S, Brito-Babapulle FM. Possible fenugreek induced haemolysis in a patient with previously unknown G6PD deficiency. Case Reports. 2009;2009(jul231):bcr0920080895–bcr0920080895. Doi: 10.1136/bcr.09.2008.0895.

วันที่ตอบ : 23 มิ.ย. 64 - 22:12:48




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110