ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
วัคซีน sinovac มีผลต่อรอบเดือนหรือไม่

ปกติรอบเดือนมาค่อนข้างตรงเวลา แต่เมื่อฉีดวัคซีน Sinovac แล้วพบว่า รอบเดือนยังไม่มาเป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้ว ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกไปค่ะ ขอสอบถามหน่อยค่ะว่า เกี่ยวข้องหรือเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนไหมคะ

[รหัสคำถาม : 230] วันที่รับคำถาม : 28 มิ.ย. 64 - 08:44:18 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Sinovac® จัดอยู่ในกลุ่ม Covid-19 vaccine ชนิด inactivated vaccine หรือวัคซีนเชื้อตาย การบริหารยาแนะนำฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไข้, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดเมื่อตามตัว, ใจสั่น, หมดแรง, อ่อนเพลีย, ถ่ายเหลว, ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด, ผื่น, อาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) และ Immunization stress-related response (ISRR) [1]
...
สำหรับอาการข้างเคียงเกี่ยวกับการขาดรอบเดือนหลังจากการได้รับวัคซีน Sinovac® นั้นยังไม่มีข้อมูลหรือรายงานที่แน่ชัดว่ามีความสัมพันธ์กันแต่มีรายงานเกี่ยวกับการความผิดปกติของประจำเดือนเกิดขึ้นแบบชั่วคราวหลังจากการได้รับวัคซีน COVID-19 ดังนี้
...
จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของระยะเวลาของรอบเดือนที่ผิดปกติกับการได้รับวัคซีน COVID-19 ในเพศหญิงอายุ 18-45 ปี จำนวน 3,959 คน ที่มีระยะเวลาของรอบเดือน 24 - 38 วัน ไม่มีการตั้งครรภ์หรือใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลา ≥ 3 เดือน และไม่มีโรคดังต่อไปนี้ endometriosis, polycystic ovarian syndrome, thyroid เก็บรวบรวมข้อมูลระยะเวลาของรอบเดือน 3 รอบก่อนและหลังการฉีดวัคซีน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 6 เดือน พบว่าในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน COVID-19 หลังจากการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 มีระยะเวลาของรอบเดือนเพิ่มขึ้น 0.75 วัน (CI=[0.47,0.94]) และหลังจากการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีระยะเวลาของรอบเดือนเพิ่มขึ้น 0.91 วัน (CI=[0.63-1.19]) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเป็นแบบชั่วคราวและไม่มีนัยสำคัญ และมีการขยายการศึกษาจากเดิมศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดยรวบรวบจากคนทั่วโลก ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 19,622 คน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลระยะเวลาของรอบเดือนอย่างน้อย 3 รอบก่อนและอย่างน้อย 1 รอบหลังการฉีดวัคซีน พบว่าในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน COVID-19 หลังจากการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 มีระยะเวลาของรอบเดือนเพิ่มขึ้น 0.71 วัน (CI=[0.47,0.96]) และหลังจากการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีระยะเวลาของรอบเดือนเพิ่มขึ้น 0.56 วัน (CI=[0.28-0.84]) เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน [2-4]
...
การศึกษารูปแบบ retrospective study มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการแปลงของประจำเดือนหลังการได้รับวัคซีน COVID-19 โดยสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประจำเดือนในเพศหญิงอายุ 18-41 ปีจำนวน 408 คน ที่มีระยะเวลาของรอบเดือน 24-38 วัน, ระยะเวลาของประจำเดือนน้อยกว่า 8 วัน, ช่วงระยะเวลาของรอบเดือนมีความแปรปรวนไม่เกิน 7-9 วัน, ปริมาณของประจำเดือนปกติ และได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ครบตามเกณฑ์ คืออย่างน้อย 2 เข็ม ยกเว้น ยี่ห้อ Johnson & Johnson® ที่ฉีด 1 เข็ม โดยวัคซีนที่ได้รับแบ่งเป็น Pfizer® 43.57%, Sinovac® 18%, Johnson& Johnson/Janssen® 15.68%, AstraZeneca® 6% และวัคซีนอื่นๆ 4.42% ต้องไม่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร, ไม่มีประวัติโรคประจำตัวที่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติหรืออยู่ในช่วงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน, ไม่มีประวัติติดเชื้อ COVID-19 ในปีก่อนหน้า พบว่า 224 คน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงประจำเดือนหลังการได้รับวัคซีน และ 184 คนที่มีเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนหลังได้รับวัคซีน ดังนี้ 1) ระยะเวลาของรอบเดือนมากกว่า 38 วัน คิดเป็น 25%, ระยะเวลาของรอบเดือนน้อยกว่า 24 วัน คิดเป็น 22.28% 2) ความแปรปรวนของรอบเดือนมากกว่า 9 วัน คิดเป็น 42.93% โดยวัคซีนที่มีส่งผลต่อความแปรปรวนของรอบเดือนบ่อยที่สุด คือ Pfizer®, Sinovac® 3) ระยะเวลาของประจำเดือนมากขึ้นมากกว่า 9 วัน คิดเป็น 26.08% 4) ปริมาณประจำเดือนมากกว่าปกติ คิดเป็น 41.84%, ปริมาณประจำเดือนน้อยกว่าปกติ คิดเป็น 20.65% [5]
...
และการศึกษาแบบ descriptive, cross-sectional study วัตถุประสงค์เพื่อประเมินความผิดปกติของประจำเดือนที่สามารถสังเกตได้หลังจากติดเชื้อ COVID-19 และการฉีดวัคซีน COVID-19 สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประจำเดือนในหญิงอายุ 18-50 ปี จำนวน 542 คนที่ยังคงมีรอบเดือน และไม่ได้มีการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร, วัยหมดประจำเดือน, ใช้ยาคุมกำเนิด โดยสอบถามเกี่ยวกับประวัติของรอบเดือน 3 รอบแรกหลังจากการติดเชื้อ COVID-19 หรือการได้รับวัคซีน COVID-19 พบว่า 82 คน (15.1%) พบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน 3 รอบแรกหลังการได้รับวัคซีน โดยพบในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Pfizer® 15.2% (n=68) , Pfizer® and Sinovac® 5.1% (n=12), Sinovac® 5.1% (n=2) ซึ่งเกิดโดยหลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม คิดเป็น 43.3%, หลังจากได้รับวัคซีน 1 เข็ม คิดเป็น 33.3%, หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม คิดเป็น 21.7% และหลังจากได้รับวัคซีนครบ 4 เข็ม คิดเป็น 1.7% โดยการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ ระยะเวลาของรอบเดือนสั้นลง (มีประจำเดือนก่อนกำหนด) คิดเป็น 3.7%, ระยะเวลาของรอบเดือนยาวขึ้น (มีประจำเดือนล่าช้า) คิดเป็น 5.7%, ปริมาณของประจำเดือนมากกว่าปกติคิดเป็น 3.7%, ปริมาณของประจำเดือนน้อยกว่าปกติคิดเป็น 2.4%, ระยะเวลาของประจำเดือนสั้นลงคิดเป็น 2.4%, ระยะเวลาของประจำเดือนยาวกว่าปกติคิดเป็น 2.9% [6]
...
กล่าวโดยสรุปจากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขาดรอบเดือนหลังจากการได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 พบว่ายังไม่มีรายงานความสัมพันธ์ที่ชัดเจน แต่พบว่ามีรายงานการเกิดความผิดปกติของประจำเดือนหลังการได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 เช่น ระยะเวลาของรอบเดือนที่สั้นลงหรือยาวขึ้น, ปริมาณของประจำเดือนที่น้อยหรือมากกว่าปกติ, ระยะเวลาของประจำเดือนที่สั้นลงหรือยาวขึ้น และประจำเดือนขาด สำหรับกลไกในการเกิดยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด โดยการที่ประจำเดือนขาดหลังการได้รับวัคซีน COVID-19 อาจมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของ hypothalamic-pituitary-gonadal axis ซึ่งสัมพันธ์กับการลดน้ำหนัก, การออกกำลังกายอย่างหนัก หรือสภาวะเครียดที่นำไปสู่การใช้พลังงานเชิงลบและการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อการฉีดวัคซีนต่อการสร้าง antibody จาก T-lymphocyte ซึ่งอาจมีผลต่อการขาดรอบเดือนได้ อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงต่อรอบเดือนนั้นมีจำนวนน้อยเป็นผลที่ไม่รุนแรงไม่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์และเกิดขึ้นชั่วคราว รอบเดือนสามารถกลับมาเป็นปกติได้หลังจากได้รับวัคซีนไปสักระยะนึง [5,6]
...
เอกสารอ้างอิง
[1]. กรมควบคุมโรค. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย [Internet]. [updated Jan. 2021; cited 25 Nov. 2022.]. Available from: https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf.
[2]. Vaccine COVID-19. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 13 Jul. 2022; cited 19 Nov. 2022.]. Available from: https://www.online.lexi.com.
[3]. National institutes of health (NIH). Study confirms link between COVID-19 vaccination and temporary increase in menstrual cycle length. [Internet]. [updated Jan. 2022; cited 19 Nov. 2022.]. Available from: https://www.nih.gov/news-events/news-releases/study-confirms-link-between-covid-19-vaccination-temporary-increase-menstrual-cycle-length.
[4]. Zechiu I, Gica N, Botezatu R, Peltecu G, Panaitescu AM. Menstrual cycle abnormalities in women vaccinated against COVID-19. Romanian Journal of Infectious Diseases. 2022;25(1):14-17.
[5]. Rodríguez Quejada L, Toro Wills MF, Martínez-Ávila MC, Patiño-Aldana AF. Menstrual cycle disturbances after COVID-19 vaccination. Womens Health (Lond). 2022;18:17455057221109375.
[6]. Taşkaldıran I, Vuraloğlu E, Bozkuş Y, Turhan İyidir Ö, Nar A, Başçıl Tütüncü N. Menstrual Changes after COVID-19 Infection and COVID-19 Vaccination. Int. J. Clin. Pract. 2022;2022:3199758.
...
วันที่ตอบ : 09 ม.ค. 66 - 10:09:07




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110