ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
วัคซีนโควิด

ติดโควิดแล้ว กี่วันถึงฉีดวัคซีนได้ แล้วต้องฉีดกี่เข็ม (ทั้งของ Sinovac และ Astrazeneca)

[รหัสคำถาม : 234] วันที่รับคำถาม : 07 ก.ค. 64 - 11:45:51 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ในผู้ที่ติดเชื้อโควิด -19 มาแล้วจะมีภูมิต้านทานอยู่ในร่างกายได้หลายเดือน แต่ภูมิต้านทานจะค่อยๆลดลงและลดลงจนถึงจุดต่ำสุดจนเครื่องมือไม่สามารถตรวจพบได้ใน 3 เดือนหลังจากติดเชื้อจึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อโควิด -19 ได้[1] ซึ่งระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิด-19 จะแตกต่างกันไปในแต่ละคนการฉีดวัคซีนหลังจากที่ติดเชื้อจะช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อซ้ำได้[3] และจากข้อมูลศึกษาความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว พบว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหลังจากติดเชื้อมีโอกาสในการติดเชื้อซ้ำเป็น 2.34 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีน[2] ดังนั้น Center for Disease Control and Prevention (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และ World Health Organization (WHO) ของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงแนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หลังจากติดเชื้อโควิด[1],[3] และจากแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดปี 2564 ของประเทศไทยฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ได้แนะนำว่า
- ผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด -19 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 1 เข็มหลังจากวันที่ตรวจพบเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน
- ผู้ป่วยโรคโควิด -19 ที่เคยได้รับการบำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด -19 หรือ ได้รับ monoclonal antibodies ที่ใช้รักษาโควิด -19 แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด -19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังจากได้รับการรักษาดังกล่าว[4]
จากการศึกษาการฉีดวัคซีน mRNA (Pfizer) ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อและผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด -19 (โดยผู้ที่ติดเชื้อโควิดแบ่งออกเป็นผู้ที่มีอาการแสดงและผู้ที่ไม่มีอาการแสดง) พบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากได้รับวัคซีน 1 เข็ม จะมีระดับภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มใน[5]
ดังนั้นหากป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เพิ่มอีก 1 เข็มหลังจากวันที่ตรวจพบเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้ยังไม่พบข้อมูลรองรับเกี่ยวกับการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนโควิด Sinovac หรือวัคซีน AstraZeneca ในผู้ที่ติดเชื้อโควิด แต่อย่างไรก็ตามแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดปี 2564 ของประเทศไทยฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ไม่ได้ระบุชนิดของวัคซีนที่ควรได้รับ โดยวัคซีนที่มีในประเทศไทยที่อาจจะฉีดได้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น Sinovac, Sinopharm, AstraZeneca, Pfizer และ Moderna

เอกสารอ้างอิง
[1]. Center for Disease Control and Prevention. Interim Clinical Considerations for Use of COVID-19 Vaccines Currently Approved or Authorized in the United States [Internet]. 2021. [cited 2021 Nov 27]. Available form : https://www.cdc.gov/vaccines/covid-19/clinical-considerations/covid-19-vaccines-us.html#considerations-covid19-vax-booster.
[2]. Cavanaugh AM, Spicer KB, Thoroughman D, Glick C, Winter K. Reduced Risk of Reinfection with SARS-CoV-2 After COVID-19 Vaccination - Kentucky, May-June 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2021 Aug. 13;70(32):1081-1083.
[3]. World Health Organization. Coronavirus disease (COVID-19). [Internet]. 2021. [cited 2021 Nov 15]. Available form : https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/q-a-on-covid-19/q-a-on-covid-19-vaccines.
[4]. กรมควบคุมโรค. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ. บริษัท ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด; 2564 [เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf.
[5]. Levi R, Azzolini E, Pozzi C, Ubaldi L, Lagioia M, Mantovani A, et al. One dose of SARS-CoV-2 vaccine exponentially increases antibodies in individuals who have recovered from symptomatic COVID-19. J Clin Invest. 2021 Jun. 15;131(12):e149154.


วันที่ตอบ : 07 ก.พ. 65 - 10:05:01




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110