ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
แพ้ยา gentamicin กับ วัคซีนคอตีบ ฉีดวัคซีนโควิดได้มั้ย

เคยแพ้ยา gentamicin อาการแพ้คือมีผื่นคันบริเวณใบหน้า,ลำตัว และแพ้วัคซีนคอตีบ มีอาการไข้สูง,ผื่นบริเวณลำตัว สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม เลือกฉีดยี่ห้อไหนได้บ้าง

[รหัสคำถาม : 236] วันที่รับคำถาม : 07 ก.ค. 64 - 12:25:01 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา gentamicin เป็นยากลุ่ม aminoglycosides จะเกิดปฏิกิริยาการแพ้ไม่บ่อย (<2% ) ทั้งนี้ยา gentamicin มีรายงานอาการแพ้มากที่สุด และเป็นรายงานส่วนใหญ่ของการแพ้รุนแรง (anaphylaxis)[1] สำหรับยา gentamicin รูปแบบฉีดไม่มีสารใดที่เป็นส่วนประกอบเดียวกับวัคซีนคอตีบ หรือวัคซีนโควิด 19 ทุกยี่ห้อ[2]
สำหรับการเกิดอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ในวัคซีนเป็นเรื่องยาก และส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน ซึ่งในวัคซีนคอตีบ (DTaP, Tdap, Td) มีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ที่สำคัญ ดังนี้ Casein, Aluminum, 2-Phenoxyethanol, Thimerosal, Yeast, Natural latex, Neomycin, Polymyxin, Streptomycin, Formaldehyde และ Polysorbate 80[3] โดยในวัคซีน Sinovac มี Aluminum hydroxide[4]เป็นสารเสริมในส่วนประกอบของวัคซีนคอตีบเช่นกัน
นอกจากนี้มีรายงานเกี่ยวกับการแพ้รุนแรงของวัคซีน pfizer, moderna และ AstraZeneca โดยสารเพิ่มปริมาณในวัคซีนสามารถกระตุ้นปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายได้ เช่น polyethylene glycol (PEG), polysorbates, tromethamine/trometamol[5] ซึ่งวัคซีน Pfizer และ moderna มีส่วนประกอบของ PEG-2000[5,6,7] แต่ไม่มีส่วนประกอบเดียวกับในวัคซีนคอตีบ ส่วนในวัคซีน AstraZeneca มีส่วนประกอบของ polysorbate 80[8] ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับ PEG[5] และ polysorbate 80 มีอยู่ในส่วนประกอบของวัคซีนคอตีบเช่นกัน
ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา gentamicin สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิด แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังตามแนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ประเทศไทย ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในผู้ที่เคยมีอาการแพ้วัคซีนคอตีบ ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ยี่ห้อ CoronaVac (Sinovac) และ AstraZeneca ทั้งนี้วัคซีนโควิด 19 ที่สามารถฉีดได้คือ Moderna และ Pfizer ซึ่งควรใช้อย่างระมัดระวังเช่นกันตามจากแนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ประเทศไทย คือผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรงจากยาหลายชนิด (multiple drug allergy) และผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีน หรือยา parenteral monoclonal antibody แบบรุนแรงอยู่ในกลุ่มที่สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้ประเมินความเสี่ยงต่อการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนโควิด 19 ที่จะได้รับ และไม่แนะนำการให้ premedication ด้วย anti-histamine ก่อนได้รับวัคซีน เนื่องจากอาจบดบังอาการแพ้ชนิดรุนแรง[9]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Childs-Kean LM, Shaeer KM, Varghese Gupta S, Cho JC. Aminoglycoside Allergic Reactions. Pharmacy (Basel). 2019 Aug 29;7(3):124.
[2]. Fresenius Kabi USA, LLC. GENTAMICIN INJECTION, USP;[9]. Available at: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/062366s033lbl.pdf. Accessed 2021 Nov 16.
[3]. European Academy of Allergy and Clinical Immunology. Vaccines and allergic reactions: The past, the current COVID-19 pandemic, and future perspectives. 2021. Available at: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/all.14840. Accessed 2021 Nov 12.
[4]. Sinovac Biotech LTD. Sinovac COVID-19 Vaccine (Vero cell), Inactivated. 2021;[38]. Available at: https://cdn.who.int/media/docs/default-source/immunization/sage/2021/april/4_sage29apr2021_sinovac.pdf. Accessed 2021 Nov 14.
[5]. Cabanillas B, Novak N. Allergy to COVID-19 vaccines: A current update. Allergol Int. 2021 Jul;70(3):313-318.
[6]. Centers for Disease Control and Prevention. Moderna COVID-19 Vaccine Overview and Safety. 2021. Available at: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Moderna.html. Accessed 2021 Nov 13.
[7]. Centers for Disease Control and Prevention. Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine Overview and Safety (also known as COMIRNATY). 2021. Available at: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Pfizer-BioNTech.html. Accessed 2021 Nov 13.
[8]. สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา. เอกสารกำกับยา COVID-19 Vaccine AstraZeneca;[12]. Available at:https://www.fda.moph.go.th/Pages/Document/covid19_vaccine/AstraZeneca/1.3.1.3.1%20Package%20Leaflet%20-%20TH.pdf. Accessed 2021 Nov 14.
[9]. กรมควบคุมโรค. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2. 2564;(หน้า25, 46). สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2564. สืบค้นจาก https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf.

วันที่ตอบ : 14 ก.พ. 65 - 13:33:56




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110